Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 04/06/2563 ]
เปิด10ปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยโควิด ชู วัคซีนครอบครัว ฝ่าวิกฤติ

 กรุงเทพธุรกิจ  ศบค.เผยพบผู้ป่วยรายใหม่ โควิด-19 เพิ่ม 1 ราย ใน State Quarantine เปิด 10 ปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยยืนยัน กรมสุขภาพจิต เผยครอบครัวไทยมีความเครียดในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่เชื่อมั่นสามารถก้าวผ่านวิกฤติได้ ส่งมอบ "โปรแกรมวัคซีนครอบครัว" ให้ อสม.และผู้นำชุมชน สร้างภูมิต้านทานทางใจครอบครัวไทยให้เข้มแข็ง
          วานนี้ (3 มิ.ย.) พ.ญ.พรรณประภา  ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19  ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1 ราย รวมยอดสะสม 3,084 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ เสียชีวิตรวม 58 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,968 ราย หรือ 96.24% ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 58 ราย
          ผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา แบ่งเป็นกรุงเทพฯและนนทบุรี 1,723ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคกลาง 414 ราย และภาคใต้ 741 ราย อายุน้อยสุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี และอายุสูงสุ 97 ปี อัตราส่วนหญิง : ชาย เท่ากับ 1:1.21 สูงสุดในกลุ่มอายุ 20-29 ปี จำนวนผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 20-20 ปี 796 ราย
          สำหรับผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 1 ราย เป็น ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 26 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทาง มาจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย มากัวลาลัมเปอร์ เดินทางเข้าประเทศไทยทางด่านปาดังเบซาร์ โดนรถบัสมาถึงไทย วันที่ 25 พ.ค.2563 ผลตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ เข้าพบ State Quarantine จ.ปัตตานี ผลตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 31 พ.ค.2563 พบเชื้อ ไม่มีอาการป่วย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจ.ปัตตานี
          ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จำนวน 3,084 ราย ใน 68 จังหวัด อัตราป่วย 4.64 ต่อแสนประชากร ไม่รวม State Quarantine 4.32 ต่อแสนประชากร โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมใน 3 จังหวัดแรก ไม่รวม State Quarantine ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,535 ราย หรือ 27.07 อัตราป่วยต่อแสนประชากร ภูเก็ต 227 รายหรือ 54.91 อัตราป่วยต่อแสนประชากร และนนทบุรี 158 ราย หรือ 12.58 อัตราป่วยต่อแสนประชากร
          ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า ส่วนของ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในสถานกักกัน โรคของรัฐที่ส่วนกลางและภูมิภาค ตั้งแต่ ก.พ.-3 มิ.ย.2563 พบผู้ป่วยในสถานกักกันโรคฯ จำนวนผู้ป่วย 147 ราย เพศชาย:หญิง เท่ากับ 6.35: 1 (127:20) ค่าเฉลี่ยอายุ 39 ปี (ต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 77 ปี) โดยประเทศ ต้นทาง 5 อันดับแรก ได้แก่อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย คูเวต ปากีสถาน และคาซัคสถาน
          เปิด10ปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยโควิด
          สำหรับปัจจัยเสี่ยง 10 อันดับแรกของผู้ป่วยยืนยันสะสมเรียงอันดับจากน้อย ไปหามาก ได้แก่ อันดับ 1 สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 1,191 ราย คิดเป็นร้อยละ 39.75  อันดับ 2  อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 284 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.48 อันดับ 3 สนามมวย 274 ราย คิดเป็น ร้อยละ 9.15 อันดับ 4 คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 269 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8.98 อันดับ 5 สถานบันเทิง 227 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.58
          อันดับ 6 ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine 147 ราย คิดเป็น ร้อยละ 4.91 อันดับ 7 คนต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 125 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.17 อันดับ 8 ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 107 ราย คิดเป็น ร้อยละ 3.57  อันดับ 9 พิธีกรรมทางศาสนา 99 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.3  และอันดับ 10 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 96 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.2
          ส่วนจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันของรัฐ 46 ราย ไปสถานที่ ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 3 ราย และสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า 1 ราย
          สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก 211 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 6,485,571 ราย อาการหนัก 54,528 ราย รักษาหาย 3,010,695ราย เสียชีวิต 382,412 ราย โดย 10 อันดับ ผู้ป่วยสูงที่สุด อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐ ถัดมา ได้แก่ บราซิล รัสเซีย สเปน อังกฤษ อิตาลี อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และเปรู ขณะที่ประเทศในเอเชียพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก
          ชูวัคซีนครอบครัวฝ่าวิกฤติ
          พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ขณะนี้มีมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ซึ่งทำให้ พี่น้องประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แต่การใช้ชีวิตปกตินี้จะต้องเป็นความปกติใหม่ หรือวิถีชีวิตใหม่ และอาจทำให้หลายคนไม่คุ้นชิน จึงอยากขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนให้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกมา โดยเฉพาะการดูแลปฏิบัติตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง ทางบุคคล ไปสถานที่ต่างๆ ก็ดำเนินการตาม มาตรการที่กำหนด
          ด้านนพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ได้ส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก มีรายงานความรุนแรงในครอบครัว ในช่วงกักตัวอยู่ในบ้านสูงขึ้นในหลายประเทศ จากการสำรวจความสุขของครอบครัวไทย โดยกรมสุขภาพจิต ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ "ครอบครัวทั่วไป" ผ่านทางออนไลน์ และ "ครอบครัวเปราะบาง" จากการลงสำรวจในพื้นที่ด้วยตัวเอง ของผู้นำชุมชนหรือ อสม. ระหว่างช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2563 ที่ผ่านมา พบว่า "ด้านความสุขของครอบครัว" ครอบครัวคนไทยมีความสุขในระดับมาก โดยครอบครัวทั่วไป มีความสุขมากที่สุด 48.9% ส่วนใหญ่มีความเครียดในระดับปานกลาง ครอบครัวทั่วไป มีความเชื่อมั่นจะผ่านวิกฤติไปได้มากที่สุด 72.2%
          ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนา "วัคซีนครอบครัว" ประกอบด้วย 3 พลังคือพลังบวก ครอบครัวมองมุมบวกเป็น เห็นทางออกในทุกปัญหาแม้ในยามวิกฤติ พลังยืดหยุ่น ครอบครัวที่ปรับตัวได้ ปรับเปลี่ยนเป้าหมายหรือบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น และพลังร่วมมือ ครอบครัว ที่ปรองดอง เป็นทีม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค
          ผ่าน "โปรแกรมวัคซีนครอบครัว" เป็นชุดกิจกรรมที่ "สนุก ง่าย ทำได้ทุกคน" ทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจในการสร้างสุข ลดทุกข์ เป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว ช่วยให้สามารถฟื้นตัวกลับมาเผชิญปัญหาต่ออย่างเข้มแข็ง และเป็นรากฐานของชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป สามารถแลกเปลี่ยนผลการนำวัคซีนครอบครัวไปใช้ และร่วมสนุกกับกิจกรรมในเฟซบุ๊คเพจ บ้านพลังใจ https://www.facebook.com/Baanpalangjai/

 pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved