Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 19/09/2562 ]
เพราะเสียง 2P สำคัญ ระบบบริการสุขภาพปลอดภัย

     การขับเคลื่อนเรื่อง "ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน" การรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทำให้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง นำสู่การแก้ไขปรับปรุงให้ระบบดีขึ้น เพราะความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient) และบุคลากรสาธารณสุข (Personnel) หรือ "2P" คือหัวใจสำคัญ
          กรุงเทพธุรกิจ ภายในงาน "วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ประจำปี 2562" จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสวนาเรื่อง "สัมผัสเรื่องราว Patient and Personnel Safety จากประสบการณ์จริงที่สำคัญและมีความหมาย
          ศุภลักษณ์ ชารีพัด พยาบาลวิชาชีพชำนาญ รพ.ขอนแก่น ในฐานะผู้ให้บริการสาธารณสุข โดยเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน สะท้อนว่าทุกครั้งที่ได้รับคำสั่งให้ส่งต่อผู้ป่วย ในเวลากลางคืน จะมีคำถามแทรกขึ้นเสมอว่า "ทำไมต้องไป ทำไมไม่ไปตอนกลางวัน" แต่ด้วย วิชาชีพทำให้เข้าใจว่าคนไข้คงมีความจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ที่จะต้องรีบส่งต่อ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งตลอดหลายปี ที่อยู่ในวิชาชีพพยาบาลและปฏิบัติงานในห้อง ฉุกเฉิน ทำให้รับทราบความสูญเสียที่เกิดขึ้น ในการส่งต่อผู้ป่วยเสมอ อย่างเช่นกรณีรถพยาบาล รพ.บ้านไผ่ เกิดอุบัติเหตุขากลับ จากส่งต่อคนไข้ เพราะพนักงานขับรถหลับในจากการที่ต้องควงเวร 24 ชั่วโมง
          หรือกรณี รพ.ร้อยเอ็ด ที่ต้องออกส่งต่อ ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไป รพ.ขอนแก่น ตอนเวลา 04.00 น. เกิดอุบัติเหตุทำให้พยาบาลวิชาชีพที่เพิ่งทำงานได้ 1 ปีกว่าเสียชีวิต โดยหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังไม่หมด บ้านที่เพิ่งสร้างยังไม่เสร็จ ซึ่งพยาบาลรายนี้เป็นความหวังเดียวของพ่อแม่ เท่ากับความหวังพ่อแม่พังทลาย แม้จะมีค่าชดเชยแต่ก็ไม่คุ้ม เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
          ด้วยเหตุว่าบุคลากรต้องควงเวรหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง และโครงสร้างรถพยาบาล ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร เมื่อต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและรถเกิดอุบัติเหตุ ด้วยโครงสร้างภายในรถทำให้อุปกรณ์กระแทกหน้าท้อง หน้าตา ทั้งที่รู้แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้งานรถเช่นนั้นต่อไป เพราะหวังที่จะให้คนไข้มีชีวิตรอดเนื่องจากคนไข้ที่ต้องส่งต่อ ส่วนใหญ่เป็นคนไข้สีแดง ฉุกเฉินวิกฤติ
          "ทุกครั้งที่ขึ้นรถพยาบาลเพื่อส่งต่อคนไข้ ก็คิดตลอดว่าจะมีโอกาสกลับสู่ครอบครัวหรือไม่ เพราะคนที่พยายามต่อลมหายใจให้กับคนอื่น แต่ตัวเองมีความเสี่ยงต่อชีวิตเสมอขณะนำส่งผู้ป่วย อยากให้ มีการหยุดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ขอให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทำให้ความปลอดภัยเป็นจริง เช่น ปรับปรุงโครงสร้างรถให้ปลอดภัย ดูแลบุคลากรให้มีความพร้อมและเพื่อนร่วมทางบนถนน" ศุภลักษณ์ กล่าว
          อีกหนึ่งเสียงจาก ภิญญามาศ โยธี ในฐานะผู้รับบริการสาธารณสุข เล่าว่า เมื่อปี 2546 ไปคลอดลูกคนแรกที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้แพทย์บอกว่าครรภ์สมบูรณ์ดี กระทั่งตอนที่ไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดช่วง 8 เดือน แพทย์แจ้งว่าเด็กไม่กลับหัว เมื่อเจ็บท้องคลอดตอน 21.00 น. ได้แจ้งแพทย์เรื่องเด็กไม่กลับหัว แพทย์บอกสามารถคลอดเองได้ จนตัวเองเบ่งอยู่เป็นเวลานานจนรู้สึกว่าไม่ไหวร้องขอให้แพทย์ผ่าคลอด แต่แพทย์ยังยืนยันให้คลอดเอง จนสุดท้ายความดันขึ้นสูงจึงให้ผ่าฉุกเฉิน
          กระทั่งตอนเช้าเลยไปถึงบ่ายแพทย์ถึงเข้ามาแจ้งว่าลูกเสียชีวิต ตอนนั้นมีคำถามมากมายว่าทำไมลูกต้องตาย ทำไมแพทย์ไม่ผ่าคลอดทั้งที่แจ้งแล้ว แต่วินาทีนั้น เห็นความรับผิดชอบของแพทย์ทุกอย่าง จนจึงยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่รับและเรียกร้องค่าเสียหายอะไรเลย แต่ขณะเดินออกจาก รพ.ในใจก็คิดว่า "จะไม่กลับมาที่นี่ เพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัย"
          5 ปีต่อมาตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ขณะที่ตัวเองเป็นลิ่มเลือดอุดตัน โดยรักษาและฝากครรภ์ที่ รพ.เอกชนที่เป็นประกันสังคม ตอนนั้นตั้งครรภ์ได้ 1 เดือนครึ่ง ถามแพทย์ว่า สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ กลัว ลูกจะพิการเพราะแม่ต้องรับยา รักษาลิ่มเลือด แพทย์จึงเปลี่ยนการรักษาจากยากินเป็นยาฉีด แต่ในที่สุด รพ.เอกชนก็ส่งตัวมาเข้ารับการรักษาใน รพ.รัฐแห่งเดิมตอนอายุครรภ์ 5 เดือน และแพทย์ที่นี่ก็ปรับมาให้ยากิน
          แม้ตัวเองจะรวบรวมความกล้าถามแพทย์ว่า ขอรับยาฉีดได้หรือไม่เพราะเป็นมาตรฐานเดียวการรักษาคนท้อง แต่แพทย์ตอบว่า "รักษาที่ไหนก็ต้องยอมรับการรักษาที่นั่น" ทำให้ตัวเองหยุดคัดค้านแพทย์ทุกอย่าง และเมื่อเห็นที่ซองยาเขียนว่าห้ามใช้ในคนท้องก็ถามเภสัชกรอีกครั้ง แต่แพทย์ยืนยันว่าต้องกิน เพราะถ้าไม่กินเลือดจะไปเลี้ยงสมองเด็กไม่พอ ตัวเอง จึงกิน จน 1 เดือนผ่านไปมาพบแพทย์ เด็กน้ำท่วมสมอง เมื่อคลอดลูกมาหูหนวก ตาบอด และแยกทางกับสามีเมื่อลูกอายุ 5 เดือน พยายามวิ่งไปหน่วยงานต่างๆ เพื่อร้องเรียน สุดท้ายจึงจบที่การขึ้นศาล และตัดสินคดี ให้ตนเองชนะ
          "สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองถึง 2 ครั้ง นั้น ถึงวันนี้อยากให้มีหน่วยงานรัฐมาดูแลความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับบริการทางการแพทย์ให้จริงจัง เพื่อผู้เสียหายที่เกิดขึ้นทุกคน และอยากให้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับ ผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุขที่เป็นการดูแลทั้งผู้ให้และผู้รับบริการมีผลบังคับใช้โดยเร็ว" ภิญญามาศ กล่าว
          ขณะที่ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สรพ.กล่าวว่าเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นในระบบบริการสาธารณสุข ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนแย่ แต่เป็นเพราะคน ทำงานอยู่ในระบบที่แย่ เพราะฉะนั้นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงานอยู่ใน ระบบ รวมถึงผู้ที่รับบริการจากระบบได้ส่งเสียงสะท้อนสภาพความเป็น จริงออกมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาระบบให้ดีขึ้น
          เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อมีผู้พูดแล้วจะต้องมีผู้ฟังอย่างเปิดใจและนำไปปรับปรุง มิเช่นนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งการจัดงานวันแห่งความปลอดภัยฯ ขึ้น เพื่อให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนและประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเรื่อง ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร สาธารณสุข (Patient and Personnel Safety : 2P Safety)
          "ทุกครั้งที่ขึ้นรถพยาบาล ส่งต่อคนไข้ คิดตลอด ว่าจะมีโอกาส กลับสู่ครอบครัว หรือไม่'
          ศุภลักษณ์ ชารีพัด
          "แม้ไม่เรียกร้องค่าเสียหายอะไรจาก รพ. แต่ในใจ ก็คิดว่าจะไม่กลับมา ที่นี่อีก เพราะเรารู้สึก ไม่ปลอดภัย'
          ภิญญามาศ โยธี

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved