Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 07/02/2562 ]
แม่อาสาดอนแก้วที่พักพิงเด็กปฐมวัย

 ในฐานะของแม่ เมื่อรู้ว่าชีวิตใหม่ กำลังเกิดขึ้น ย่อมพยายามขวนขวายทุกวิถีทางเพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกน้อยในครรภ์ โดยที่หลายครั้งก็อดตื่นเต้น หรือวิตกกังวลไม่ได้ เพราะขาดประสบการณ์ หรือขาดคนคอยให้คำชี้แนะที่ถูกต้อง
          ชุมชนกึ่งเมืองขนาดใหญ่อย่าง ตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  มีประชากรมากถึง 15,689 คน และแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กในครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง คลอดอย่างปลอดภัย รวมถึงการดูแลหลังคลอดอย่างเหมาะสม
          ถึงเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่าใน ความเป็นจริงข้อมูลด้านสาธารณสุข นั้นยังไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย และ ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้ ดร.ศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบล ดอนแก้วมีแนวคิดทำโครงการ 'แม่อาสา' ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ของเทศบาลตำบลดอนแก้ว ซึ่งเป็น ท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          'แม่อาสา' ตามแนวทางของ ศุทธา คือการขอแรงและขอใจจาก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 35 คน ให้เข้ามาช่วยดูแลหญิงตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนถึงเด็กอายุ  2 ขวบ ในลักษณะประกบติด โดยก่อนจะเป็นแม่อาสาได้ อสม.จะได้รับการอบรมให้ความรู้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งให้ชุดเยี่ยมบ้านหลังคลอด ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อเด็กอ่อนและแม่ คือ ผ้าห่อเด็ก ตาชั่ง เครื่องวัดความดัน สายวัดสำหรับวัดศีรษะเด็ก เพราะเด็กจะสมบูรณ์หรือไม่ ศีรษะต้องได้มาตรฐาน ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
          "เรายังมีเครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล อุปกรณ์ชั่งตวงวัด ประเภทถ้วยตวง ช้อนตวง เพื่อให้การกินยามีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเต้านมจำลอง ที่ต้องใช้กรณีแม่มีปัญหาเต้านมไม่มีน้ำนมให้ลูก หรือคัดเต้านม พบว่าที่ผ่านมาแม่บางรายให้ลูกดื่มนมจากขวดแทนนมแม่ แล้วทิ้งนมแม่ การใช้นมจำลอง จะเป็นการสอนวิธีบีบนมแม่ตามจุดสำคัญให้มีน้ำนมไหล" ศุทธา บอก
          ขณะเดียวกันพวกเขายังทำไส้อั่ว ที่ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นผ้าที่เย็บเป็นขด ด้านในบรรจุสมุนไพรไว้ประคบหน้าท้องแม่ให้มดลูกเข้าอู่โดยเร็ว กับเข็มขัดที่เย็บผ้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีช่องใส่ สมุนไพร แล้วนำมาผูกเอว ช่วยเรื่องมดลูกเข้าอู่เช่นเดียวกัน
          "ที่ขาดไม่ได้คือตะกร้าปัญญา ภายในบรรจุหนังสือนิทาน 10 กว่าเล่ม แต่เมื่อนำไปให้แล้วมีข้อแม้ว่าพ่อแม่ต้องอ่านให้ลูกฟัง ถ้าไม่ทำจะถูกยึดทั้งตะกร้าคืน เนื่องจากมีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าสมองของเด็กมีการสร้างเส้นใยภายใน 2 ขวบแรกมากที่สุด การกระตุ้นในช่วง 2 ขวบแรกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกฉลาดได้"
          สำหรับการเตรียมตัวของ อสม.นั้น ดร.ศุทธา บอกว่า อสม.จะมีแฟ้มแบบสอบถาม และผลตรวจเช็คต่างๆ รวมถึงการนัดพบแม่ลูกที่ตนดูแลอยู่ ซึ่งผลจากการคอยดูแลประกบอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความผูกพันระหว่าง อสม. กับแม่ลูก กระทั่งเมื่อเด็กเริ่มพูดได้
          "ส่วนใหญ่จะเรียก อสม.ว่า "แม่" ด้วยอีกคนหนึ่งนอกเหนือจากแม่ตัวเอง เรียกว่าเป็นแม่ทูนหัว หรือแม่อาสา ของเด็กๆ ที่คอยช่วยกระตุ้นสุขภาวะให้สมบูรณ์ และมีพัฒนาการสมวัย เพราะทุกคนตระหนักดีว่าถ้ารอกระตุ้นตอนเด็กเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาถือว่าช้าไป  ต้องกระตุ้นในช่วง 2 ปีแรกเกิดจึงจะได้ผลดีที่สุด" ผอ.รพ.สต.ดอนแก้ว กล่าว
          'แม่อาสา' จึงเป็นทั้งที่ปรึกษา และความหวังของคุณแม่มือใหม่ ในตำบลดอนแก้ว
          กลไกชุมชนเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน ที่ปรึกษาของแม่มือใหม่ในตำบลดอนแก้ว

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved