Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 28/06/2561 ]
แพทย์เตือนอยู่ในป่ามีโอกาส เสี่ยง ติดเชื้อโรค

หลายๆ คนเฝ้าติดตามการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ของเด็กทีมฟุตบอลและโค้ชโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ หายตัวในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เข้าสู่วันที่ 5 โดยวันนี้ (27 มิ.ย.) ล่าสุดแม้จะยังไม่พบ แต่ทุกฝ่ายต่างร่วมส่งกำลังใจและเตรียมพร้อมการช่วยเหลือทุกทาง
          นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าขณะนี้ทุกฝ่ายต่างห่วงทีมเด็ก โค้ช และหน่วยซีล รวมถึงประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่บริเวณหน้าและในถ้ำ เพราะบริเวณดังกล่าว มีสัตว์ป่า โดยเฉพาะค้างคาว ยุง เห็บ ไร ริ้น แมลงต่างๆ ที่อาจจะสัมผัสทางใดทางหนึ่ง จนทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ ดังนั้น คงต้องดูแล ตรวจเชื้อต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจริงๆ
          ทำงานหน้า+ในถ้ำระวังโรคติดเชื้อ
          เนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า และค้างคาว ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ สภากาชาดไทยที่ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  มาเป็นเวลา 15 ปี  พบว่า ในค้างคาว และสัตว์ป่า มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ซึ่งเชื่อดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ชัดว่ามาจากตระกูลใด จนกว่าจะได้ตรวจร่างกายของเด็กโค้ชรวมถึงต้องตรวจหน่วยกู้ภัย หน่วยซีล ด้วย เพราะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็น เวลานาน
          "เรื่องนี้ได้รายงานแก่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในการตรวจโรคติดเชื้อ หรือเชื้อโรคต่างๆแก่เด็ก และหน่วยกู้ภัย ซึ่งเป็นมาตรการ เตรียมพร้อมไว้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 13 ชีวิต หรือหน่วยกู้ภัยจะต้องติดเชื้อโรคต่างๆ  หากพบอาการเป็นไข้ ไม่สบาย หรือมีความผิดปกติ ต้องส่งตรวจเชื้อโรคทั้งที เพราะเชื้อโรคอาจแฝงตัวในสัตว์ป่า ต้องมีการเตรียมวิธีการตรวจให้เรียบร้อย" นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
          พื้นที่มีสัตว์ป่า-ค้างคาวเสี่ยงรับเชื้อโรค
          นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่าสามารถสังเกตผู้ที่ออกมาได้ ใครก็ตามที่ไปอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งมีสัตว์ป่าและมีค้างคาว ต่างมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรค ส่วนตัวมีความเป็นห่วงทั้งเด็ก โค้ชหน่วยกู้ภัย อย่างหน่วยซีล และผู้ปกครองที่อยู่หน้าถ้ำ บริเวณป่า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะอ่อนแอ หรือเป็นเช่นไรเพราะนั้นต้องประเมินจากแพทย์ในพื้นที่  ภูมิประเทศ ภูมิอากาศต่างๆ ว่าเด็กมีความโน้มเอียง เสี่ยงมากขนาดไหน  เช่นเดียวกับระยะเวลาว่าต้องใช้กี่วันถึงต้องช่วยเด็กทั้ง 13 ชีวิตให้ได้
          ระวังคำถามทำผู้ปกครองเครียด
          นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่าตอนนี้ได้เตรียมพร้อมความช่วยเหลือไว้ทุกด้าน อาทิ การตั้งโรงพยาบาลสนามที่จุดเกิดเหตุ  เตรียมรถฉุกเฉินที่พร้อมเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุทันทีโดยใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็สามารถถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้
          นอกจากนี้หากจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ทางทีมได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลเชียงราย และโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
          ทั้งนี้ หากหน่วยซีล พบผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน แต่ยังไม่สามารถพาออกมาได้ ทางโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว  อย่างไรก็ตาม อยากฝากสื่อมวลชน อย่าพยายามถาม ผู้ปกครองและญาติของผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นทำให้ครอบครัวและญาติเกิดความเครียดได้
          แนะดูแลจิตใจให้รู้สึกปลอดภัย
          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ โฆษกกรมสุขภาพจิตและ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กล่าวว่า มีความเป็นห่วงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของพวกเขาว่าพวกเขาปลอดภัยแล้ว ได้รับการดูแลทั้งกายและจิตใจอย่างเหมาะสม  ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ด้านนอก ควรดูแลตัวเอง และคนรอบข้างสามารถช่วยได้ ดูแลเรื่องน้ำและอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ และระหว่างวันอาจมีกิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง พูดคุยกับคนอื่น ให้รู้ว่าไม่ได้รู้สึกแย่อยู่คนเดียว รวมทั้งได้รับกำลังใจจากหลายๆ คน ช่วยได้เป็นอย่างดี  ส่วนการทำพิธีหรือร่างทรงต่างๆ ถ้าอะไรที่ทำแล้วไม่เกิดอันตราย เป็นไปลักษณะที่ให้กำลังใจก็ไม่เป็นไร เพราะแต่ละคนย่อมมีความเชื่อความศรัทธาต่างกัน ไม่ใช่เรื่องที่ผิด
          กินไม่ได้นอนไม่หลับต้องรักษา
          หากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นเดือน แต่เด็กๆ ยังมีอาการฝันร้าย หวาดผวา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาทางอารมณ์ ปรับตัว ไม่ได้ กลุ่มนี้ควรได้รับการรักษา แต่โดยปกติทั่วไป ถ้าบุคคลในครอบครัว คนใกล้ชิด ได้ให้กำลังใจ ว่า เขาปลอดภัยแล้ว ให้เขาได้เล่าระบายความรู้สึกออกมา ถ้าเป็นกลุ่มเด็ก ที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะผิดปกติใดๆ ส่วนใหญ่แล้ว พอเวลาผ่านไป ไม่ถึงเดือน ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง จึงต้องให้เขาได้กลับเข้าสู่วิถีชีวิตปกติ ได้ไปโรงเรียน หรือทำทุกอย่างได้เหมือนเดิมเร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เขารู้ว่าตัวเองปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร
          ถอดบทเรียนเผชิญเหตุไม่คาดฝัน
          บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะดำเนินการถอดบทเรียนในเหตุการณ์นี้ออกมาว่าเพื่อนำมาจัดทำ ข้อแนะนำหรือแนวทางสำหรับการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่มีจุดเสี่ยงก็จะต้องเตรียมพร้อม เตรียมการเผชิญเหตุ และเมื่อเผชิญเหตุที่ไม่คาดคิดและอาจเกิดขึ้นได้ต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติในป่า ในถ้ำควรมีไฟฉาย อาหารแห้ง น้ำดื่ม เพราะหากเผชิญเหตุที่ไม่คาดคิดอย่างน้อยให้อยู่ได้ 1-2 วัน เป็นต้น และขอให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตั้งทีมกู้ภัยฉุกเฉินในกลุ่มโรงเรียน หรือ โรงเรียนที่มักเกิดสถานการณ์ล่อแหลม เพื่อดูแลป้องกันเหตุต่างๆ ด้วย โดยขอให้เตรียมความพร้อมตลอดเวลาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ให้สามารถปฏิบัติได้ทัน
          "อยากฝากสื่อมวลชน อย่าพยายามถาม ผู้ปกครองและญาติของผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นทำให้ครอบครัวและญาติเกิดความเครียดได้"
          นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์

 pageview  1204912    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved