Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 01/03/2556 ]
ปวดคอ..รับมืออย่างไรดี

 อาการปวดคอสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยได้ไม่น้อย สาเหตุมีหลายประการ ที่พบบ่อยก็คือ การมีอิริยาบถหรือท่าทางที่ผิดสุขลักษณะในกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะการเอี้ยวคอผิดท่า หรือหลังตื่นนอน ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียดของจิตใจ, ภาวะข้อเสื่อมหรืออักเสบ, หมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท และการบาดเจ็บของคอจากอุบัติเหตุต่างๆ
          ผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดคอจะมีอาการดังนี้ ปวดเมื่อยต้นคอเอี้ยวคอไม่ได้ บางรายมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน หรือชาที่มือ นอกจากนั้นอาจมีอาการมึนงง คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ตาลายร่วมด้วย ซึ่งอาการจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุ ในรายที่รุนแรง เช่น มีอาการปวดร้าวลงไปที่แขนหรือแขนชาและอ่อนกำลัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเกี่ยวข้องกับเส้นประสาท หากมัวแต่ประวิงเวลาออกไป อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้
          แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอหรือคอแข็ง มักจะเป็นอย่างเฉียบพลันจากการเอี้ยวคอผิดท่า หรือหลังตื่นนอน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ผุ้ป่วยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้ ควรนอนรบเพื่อพักสักครู่ และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวคอ ร่วมกับการประคบด้วยน้ำแข็งนานประมาณ 20-30 นาที ถ้าอาการไม่ทุเลาให้รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 12 เม็ด แต่ถ้าทำแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
          การรักษาที่ให้ผลดีอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยลดอกาการปวดและอาการอักเสบ นอกจากนั้น การบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อยึดหยุ่นได้ดี และทนทานขึ้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพของอาการที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามเพื่อให้อาการทุเลาลงโดยเร็ว
          ส่วนการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ รวมถึงในบุคคลทั่วไป มีดังนี้ ขณะทำงานควรระมัดระวังอิริยาบถ โดยอย่าก้มหรือเงยบ่อยเกินไป, หาเวลาพักและเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ ชั่วโมง, เลือกเก้าอี้นั่งทำงานที่มีพนักแข็งแรง และมีที่หนุนคอพอดี, ควรนอนบนที่นอนแข็ง รองศีรษะด้วยหมอนนิ่มและไม่สูงมาก, อย่านอนคว่ำหนุนหมอนสูงๆ เพื่ออ่านหนังสือ หรือดูโทรทัศน์, พยายามขจัดความเครียดในชีวิตประจำวัน และหมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อคอทุกวัน
          ปวดคอจากกระดูกคอเสื่อม
          กระดูกหลังส่วนคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกตามอายุโดยหมอนรองกระดูกเสื่อมและบางตัวลง ทำให้ช่องว่างระหว่างหมอนรองกระดูกแคบลง จนในที่สุดอาจเกิดการกดทับรากประสาทและไขสันหลังตามมาได้
          นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอมาก่อน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสภาพของกระดูกเกิดขึ้น แต่กรณีนี้พบได้น้อยกว่าการเสื่อมตามอายุครับ
          สำหรับอาการระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณด้านหลังคอ รู้สึกคอแข็งและเสียเวลาเคลื่อนไหว อาการจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับว่าเคลื่อนไหวคอมากหรือน้อยเพียงใด บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดร้าวและเสียวชาลงมาที่แขนและมือ มือมีลักษณะชาหรือรู้สึกเหมือนถูกแข็มแทง ซึ่งมักจะเป้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่รักษา อาจมีอาการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแขนและมือและถ้าหากมีการกดทับของไขสันหลังร่วมด้วย ก็อาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วยครับ
          ในการรักษาต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การเสื่อสภาพของกระดูกคอนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาก็เพียงเพื่อลดอาการปวดจากการอักเสบ และอาการบวมของเนื้อเยื่ออ่อนๆ บริเวณกระดูก
          อย่างไรก็ตาม ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการไม่มาก แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใส่ปลอกคอเพื่อพยุงคอ ร่วมกับให้ยาแก้ปวด บางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้น้ำหนักดึงคอ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวด ส่วนในรายที่เป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการกดไขสันหลัง อาจต้องผ่าตัดเพื่อขจัดการกดทับและป้องกันมิให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น ซึ่งผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษาครับ

 pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved