Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 13/01/2563 ]
9โรค ต้องห้าม ขับรถ

 จากข่าวคนขับรถโดยสารวูบ เสยท้ายรถตู้รับส่งนักเรียนที่พิษณุโลก จนบาดเจ็บกันหลายสิบราย เหตุจากคนขับเพิ่งฉีดยาเบาหวานนั้น
          นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบผู้ขับขี่รถโดยสารประจำทางได้ฉีดยาเบาหวานในตอนเช้าแล้วไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วูบและไม่ได้สติ จึงไม่สามารถควบคุมรถได้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น
          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค แนะนำว่า หากประชาชนทราบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่พร้อมที่จะไปขับรถ ไม่ควรขับรถเด็ดขาด เพราะไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อตนเองยังส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่ร่วมทางด้วย ซึ่งแต่ละปีมีข่าวผู้ขับขี่ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคลมชัก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย เกิดอาการเฉียบพลันทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้
          สำหรับโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ที่ประชาชนต้องระมัดระวัง มี 9 กลุ่มโรคและปัญหาสุขภาพเสี่ยงได้แก่ 1.โรคที่เกี่ยวกับสายตา ต้อหิน ต้อกระจกจอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถเวลากลางคืนแล้วมองไม่ชัด ส่วนคนเป็นต้อหินทำให้มุมสายตาแคบลง มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดีและมองเห็นแสงไฟบอกทาง หรือไฟหน้ารถพร่าได้
          2.โรคทางสมองและระบบประสาท ที่ทำให้มีอาการหลงลืม การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี 3.โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้แขนขาไม่มีแรงขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ สมองสั่งให้แขนขาทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง 4.โรคพาร์กินสันมีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี  5.โรคลมชัก ในสภาวะที่ควบคุมอาการชักไม่ได้ จำเป็นต้องรับยาต่อเนื่องจนปลอดอาการของโรค และไม่เกิดอาการชักอย่างน้อย 1 ปีจึงจะปลอดภัยเพียงพอในการขับรถ
          6.โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆที่มีผลกระทบต่อการขับรถ เช่น ข้อเข่าเสื่อมทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบปวดจากโรคเกาต์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลังจากกระดูกหลังเสื่อมทำให้นั่งขับรถได้ไม่นาน 7.โรคหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกวูบหมดสติระหว่างขับรถ
          8.โรคเบาหวานที่ควบคุมยังไม่ได้ ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการ หน้ามืด ใจสั่นสมาธิไม่ดี ตาพร่า  9.การกินยาบางชนิด มีผลทำให้ง่วงซึมหรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ และทำให้การตัดสินใจ สมาธิและความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ช้า ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาที่กินมีผลต่อสมรรถนะในการขับรถหรือไม่
          นพ.อัษฎางค์กล่าวว่า หากประชาชนทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากการมีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใน 9 กลุ่มโรคและปัญหาสุขภาพเสี่ยงดังกล่าว จำเป็นต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และช่วงที่มีอาการห้ามขับรถเด็ดขาด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับตนเองและเพื่อนร่วมทาง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ หรือเอกชน ควรย้ำเตือนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลดลงได้

 pageview  1204269    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved