Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 09/08/2562 ]
11 อาการ โรคพุ่มพวง -แพ้ภูมิตัวเอง

กรณีน้องมิว ที่เป็นข่าวเสียชีวิตกะทันหันเพราะหมัดแมวกัด  ที่ทำเอาบรรดาทาสแมวแอบผวา
          แต่ที่สุดมีการยืนยันว่า สาเหตุที่แท้จริงนั้นคือ โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรค SLE หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ โรคพุ่มพวง ที่คร่าชีวิตนักร้องดัง
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) เป็นโรคภูมิต้านทานตนเองทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง อาการของโรคจะเป็นๆ หายๆ กำเริบและสงบเป็นระยะพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
          สาเหตุที่แท้จริงไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่น ส่งเสริมทำให้เกิดโรค ได้แก่ ติดเชื้อ ยา แสงแดดสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
          อาการของโรคจะแสดงความผิดปกติในร่างกายหลายระบบร่วมกัน เช่น ผื่นโรค SLE ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อและข้อเม็ดเลือด ไต ระบบทางเดินหายใจ ผมร่วงเป็นต้น
          ดังนั้น ผู้ป่วย SLE จึงมีอาการแสดงทางคลินิกที่หลากหลาย และรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น มีผื่นปวดข้อ ไปจนถึงอาการแสดงที่รุนแรงถึงเสียชีวิต เช่น ไตอักเสบ การดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงแตกต่างกัน และแม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายแต่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ
          นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคSLE จะต้องอาศัยประวัติการเจ็บป่วยและผลเลือด โดยมีเกณฑ์วินิจฉัยความผิดปกติอย่างน้อย 4 ใน 11 ข้อ ได้แก่ 1.ผื่นที่ใบหน้าและกระจายเป็นรูปผีเสื้อ 2.ผื่นผิวหนังชนิดที่เรียกว่าผื่นดีสคอยด์ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ใบหู ลำตัว แขนขา  3.อาการแพ้แดด มีผื่นผิวหนังแดงอย่างรุนแรงเมื่อโดนแดด 4.แผลในปาก  5.ข้ออักเสบ6.ไตอักเสบ ปริมาณโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะมากกว่าปกติ  7.ชักหรืออาการทางระบบประสาทอื่นๆ 8.เยื่อหุ้มปอดหรือหัวใจหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  9.ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือเกล็ดเลือดต่ำ (ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือติดเชื้อ) 10.ตรวจพบแอนตินิวเคลียร์แอนติบอดี (antinuclear antibody) ในเลือด 11. ตรวจพบแอนติบอดีต่อดีเอ็นเอ (anti-dsDNA) หรือตรวจพบแอนติฟอสโฟไลปิดแอนติบอดี หรือตรวจเลือดพบผลบวกปลอมต่อการตรวจซิฟิลิส
          ทั้งนี้ เนื่องจากการรักษาโรค SLE ยาวนาน นอกจากการรักษาโรคแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง โดยควรทำความเข้าใจธรรมชาติ และกลไกเกิดโรค รวมทั้งเข้าใจเหตุผลของการประเมิน ติดตามการรักษาสม่ำเสมอและต่อเนื่องดังนี้
          1.ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด 2.พักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3.รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและครบหมู่  มีประโยชน์และปรุงสุก 4.หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปเมื่อต้องออกกลางแดด 5.อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนหนาแน่น6.ไม่ตั้งครรภ์ ขณะที่โรคยังรุนแรงหรือกำเริบ 7.รับประทานยาสม่ำเสมอ  8.หากสงสัยว่าจะติดเชื้อเช่น มีไข้ มีแผล ฝี หนอง ไอ ปัสสาวะแสบขัด ท้องร่วงหรือต้องรับการรักษาอื่นๆ เช่น ทำฟัน หรือต้องผ่าตัด และหากมีอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบเช่น มีไข้ อ่อนเพลียมีผื่นขึ้นมากกว่าเดิม ปวดข้อ ผมร่วง มีแผลในปาก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ปรับยา หยุดยา หรือพิจารณาให้ยาตามเหมาะสม 9. ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง เนื่องจากอาจทำให้โรคกำเริบอย่างรุนแรงจนถึงชีวิตได้

 pageview  1204505    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved