Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 12/07/2562 ]
ชู รางจืด สู้พิษยาฆ่าแมลง ห่วงเกษตรกรไทยตายผ่อนส่งแนะใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

 นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า ข้อมูลกรมควบคุมโรค ก.สาธารณสุข พบว่าสถานการณ์การเจ็บป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2544-2560 มีผู้ป่วย 34,221 ราย เสียชีวิต 49 ราย โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยปีละ 2,013 ราย นอกจากนี้ จากรายงานประจำปี 2561 สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้คัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพบปี 2561 มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสี่ยงและไม่ปลอดภัยร้อยละ 40.99 คิดเป็น 342,737 ราย จากทั้งหมด836,118 ราย
          ในช่วง มิ.ย-ส.ค.ของทุกปี เป็นช่วงฤดูฝน ฤดูเพาะปลูก เกษตรกรจึงใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต อีกทั้งใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายและเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางการหายใจ ทางปาก ทางผิวหนัง อาการและความรุนแรงจะขึ้นกับระดับสารพิษที่ได้รับ ดังนั้น เกษตรกรที่ต้องฉีดพ่นยาควรป้องกันร่างกายตนเอง
          ส่วนศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีการนำสมุนไพรรางจืด มาใช้ขับสารพิษจากยาฆ่าแมลงหรือ สารกำจัดศัตรูพืช เพียงใช้ใบสด 5-7 ใบ คั้นกับน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) รับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา ต่อเนื่อง 7 วัน ที่แนะนำให้ใช้เพียง 7 วันเพราะรางจืดมีฤทธิ์เย็นเมื่อกินติดต่อกันอาจทำให้ระบบในร่างกายเสียสมดุลได้ โดยโรงพยาบาลในไทยหลายแห่งได้ศึกษาและนำมาใช้จริงกับเกษตรกลุ่มเสี่ยงที่ใช้สารเคมี ทำให้พบว่า ภูมิปัญญาดังกล่าวนำมาใช้ควบคู่กับการป้องกันตัวเองจากสารเคมี นับเป็นการบรรเทาอาการจากสารพิษดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การป้องกันตัวเองเบื้องต้นก่อนสัมผัสสารเคมีทางร่างกายก็ยังต้องทำเป็นลำดับแรก
          ทั้งนี้ ปัจจุบันรางจืดเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณถอนพิษเบื่อเมา  ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่นอย่างต่อเนื่องเพราะรางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิผลของยาลดลง

 pageview  1205006    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved