Follow us      
  
  

สยามรัฐ [ วันที่ 09/11/2561 ]
ไมเกรน ในเด็กไม่อันตราย

โรคไมเกรนเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่พบบ่อย
          นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยโรคนี้เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  โดยพบได้ตั้งแต่อนุบาล
          ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเกิดจากพันธุกรรมขณะปัจจัยภายนอกที่อาจกระตุ้นทำให้ปวดศีรษะ เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดในสมองที่มากเกินไป เนื่องด้วยสารเคมีในสมองที่ชื่อ "เซโรโตนิน" ทำงานไม่ปกติ  ซึ่งสารนี้จะควบคุมการหดขยายของหลอดเลือดในสมอง
          โรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน และไมเกรนที่มีอาการเตือน  โดยอาการเตือนที่พบบ่อย คือการมองเห็นผิดปกติ จะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย  อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปบางส่วน มองภาพไม่ชัด
          สังเกตอาการได้จากเด็กมักบ่นปวดหัวทั้งที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีปัญหาสายตา ปวดบริเวณขมับ หรือหน้าผาก แต่ละครั้งนานเกินชั่วโมง ปวดมากเมื่อเคลื่อนไหว คลื่นไส้อาเจียนในบางครั้ง
          ขณะที่ นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไมเกรนในเด็กไม่มีอันตรายรุนแรง เพียงแต่กระทบชีวิตประจำวันทำให้หงุดหงิดงอแงมากกว่าปกติ
          วิธีดูแลและป้องกันเมื่อเด็กมีอาการคือหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยใส่หมวก ใส่แว่นตากางร่ม หลีกเลี่ยงช็อกโกแลต ชีส อาหารแปรรูป ไส้กรอก บะหมี่สำเร็จรูป เพราะอาจกระตุ้นให้ปวดไมเกรนได้ ไม่อดนอน นอนดึกเล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ  ออกกำลังกายรุนแรงหักโหมเกินไป
          เมื่อปวดศีรษะไม่รุนแรงมากนักให้นอนพัก ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้น ให้ยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการ แต่หากปวดศีรษะรุนแรงมาก ไม่ดีขึ้น ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved