Follow us      
  
  

บ้านเมือง [ วันที่ 06/02/2555 ]
เครื่องสำอางกับความงาม มหันตภัยร้ายที่สมควรระวัง!!!
          ทีมข่าวอาชญากรรม-รายงาน
          ความสวยงามเป็นสิ่งที่ผู้หญิงชอบและมักจะสรรหาสิ่งดีๆ มาแต่งเติมตัวเองอยู่เสมอ นั่นคือ "เครื่องสำอาง" เพื่อแต่งเติมลงบนใบหน้ารวมถึงผิวพรรณเรือนร่าง "เพื่อเสริมจุดเด่น ลบจุดด้อย" ทำให้ตลาดคอสเมติกของโลกขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสนอง Supply ให้ทันต่อ Demand ซึ่งนั่นส่งผลให้มีการผลิตเครื่องสำอางออกมานับหมื่นนับแสนชนิด 
          จากทั้งยี่ห้อระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงระดับ "แบกะดิน" เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สิ่งปรุง เพื่อใช้บนผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยใช้ทา ถู นวด พ่น หรือโรย มีจุดประสงค์เพื่อทำความสะอาด หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม โดยในสมัยก่อนนั้นเครื่องสำอางมักทำจากวัสดุทางธรรมชาติใกล้ตัว เช่น น้ำผึ้ง ดอกอัญชัน ดินสอพอง ขมิ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือธรรมชาติ แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการเปลี่ยนไป ได้มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาปรับปรุงคุณภาพของเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเคมี ได้มีส่วนเข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้มีคุณภาพสูง ในการผลิตแต่ละครั้งต้องมีส่วนประกอบที่คงที่ ได้ผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกัน ในการรักษาผิวหนังและเส้นผม จนทำให้การศึกษาวิชานี้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
          ข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับการฟ้องร้องหรือการได้รับผล กระทบจากการใช้เครื่องสำอางที่มีสารอันตราย ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นส่วนประกอบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางราคาถูก เครื่องสำอางปลอมลักลอบนำเข้า แล้วถูกนำไปวางขายควบคู่กับเครื่องสำอางทั่วไป จนผู้ซื้อไม่อาจแยกแยะออกว่าสินค้าชนิดไหนเป็นของจริงหรือของปลอม เมื่อนำไปใช้งานจึงเกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้ เป็นผื่นคัน มีฝ้าถาวรบนใบหน้า หรืออาจเสียโฉมในเวลาต่อมาได้ จากการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีเครื่องสำอางที่จำหน่ายตามตลาดนัด ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามีการใช้เครื่องสำอาง
          ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสมจำนวนมาก โดยเฉพาะการตรวจสอบพบสารก่อมะเร็งตามที่ได้นำไปทดสอบกับสัตว์ทดลองต่างๆ ดังนั้นประชาชนจึงควรมีความรู้ในการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย
          ปัจจุบันเครื่องสำอางแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามระดับความเสี่ยง ต่อการเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคดังนี้ คือ
          1.เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เช่น น้ำยาดัดผม ครีมย้อมผม ครีมขจัดขน ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ (จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเข้มงวด โดยต้องมาขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนผลิตหรือนำเข้า)
          2.เครื่องสำอางควบคุม เช่น ครีมผสมสารป้องกันแสงแดดแชมพูขจัดรังแค ผ้าอนามัยผ้าเย็น หรือ กระดาษเย็น แป้งฝุ่นโรยตัว และ แป้งน้ำ (มีความเสี่ยงปานกลาง จึงควบคุมไม่เข้มงวด แต่ต้องมาจดแจ้งให้เรียบร้อยก่อนผลิตและนำเข้าเช่นกัน)
          3.เครื่องสำอางทั่วไป เช่น สบู่ก้อน ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า ยาสีฟันสมุนไพร(ไม่ผสมฟลูออไรด์) ลิปสติก สีทาเล็บ แป้งทาหน้า (กำกับดูแลไม่เข้มงวดเช่นกัน แต่ไม่ต้องมาแจ้งต่อสำนักงานก่อนผลิต เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง เช่น ไม่มีส่วนผสมของสารต้องห้าม ใช้สีตามที่กฎหมายกำหนด จัดทำฉลากภาษาไทยให้ครบถ้วน)
          ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารหารและยา (อย.) ได้ทำการเก็บตัวอย่างเครื่องสำอางในท้องตลาด และได้ทำการตรวจวิจัยจนได้ประกาศเครื่องสำอางอันตรายห้ามใช้และจำหน่าย เครื่องสำอางผสมสารต้องห้ามให้ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนี้
          1.สารประกอบของปรอททำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลงเกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ
          2.ไฮโดรควิโนน ทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย
          3.กรดเรทิโนอิก (กรดวิตามินเอ) ทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรงเกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรง และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
          พ.ต.อ.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผกก.4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคม.) กล่าวเปิดเผยว่า จากการตรวจค้นและจับกุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับเครื่องสำอางและยาปลอม โดยส่วนใหญ่แล้วยาและเครื่องสำอางปลอมที่ผลิตมักปลอมแปลงจากยี่ห้ออื่น หรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ซึ่งทางเจ้าหน้าที่นั้นได้ใช้มาตรการในการกวดขันอย่างเด็ดขาด ที่จะพยายามจับแหล่งต้นตอการผลิต หรือแหล่งนำเข้า ซึ่งร่วมกับ อย.ในการกวาดล้างสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้ และยังเผยแพร่แหล่งข่าว โดยผ่านทางสื่อมวลชน ทุกแขนง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง หรือแม้แต่โครงการประชาสัมพันธ์สื่อ เช่น โครงการผลิตภัณฑ์ปลอดภัย โครงการอาหารปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งช่วยในการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้รับรู้พิษภัยของเรื่องเหล่านี้
          พ.ต.อ.พฤทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ยาและเครื่องสำอางปลอมส่วนใหญ่มักจะนำเข้าจากประเทศทางแถบตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่ง Copy จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ญี่ปุ่น แล้วนำมาใส่สารอันตราย เพื่อให้ได้ผลเกิดคาดภายใน 7-10 วัน จนทำให้ผู้ขายได้กำไรดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีสิ่งไหนบนโลกนี้ใช้แล้วได้ผลทันตา มีเพียงแค่ช่วยบรรเทาหรือทุเลาลงเท่านั้น อย่างเช่น ฝ้า กระ ที่เครื่องสำอางดีๆ ยังช่วยแค่บรรเทาให้จางลง แต่ก็ไม่ถึงกลับหายขาด ทั้งนี้ปัจจัยภายนอกยังต้องรักษาไม่ให้โดนแดด พักผ่อนให้เป็นเวลา และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย จึงจะเห็นผล อาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้เครื่องสำอางมีให้เห็นตามข่าวอยู่บ่อยครั้ง บางรายถึงขั้นเสียโฉม หน้าตาพังยับเยิน เพียงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดเกินจริง เช่น ใช้แล้วผิวจะขาวใสขึ้นภายใน 7 วัน ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ชั้นนำแล้วว่าไม่ระคายเคือง ไม่แพ้แม้ผิวที่บอบบาง เป็นต้น บางรายใช้ในระยะแรกๆ เหมือนจะเห็นผลจนหน้าขาวใสทันใจ แต่พอใช้ไปสักระยะหรือเมื่อหยุดใช้หน้ากลับแดงคล้ำ ไหม้ดำ จนบานปลายถึงขึ้นเสียโฉม สาเหตุเกิดจากสารเหล่านี้เป็นสารอันตรายที่ห้ามใช้ หรือผสมอยู่ในเครื่องสำอาง ซึ่งมีผู้ผลิตบางรายลักลอบใส่ เพื่อให้สินค้าของตนใช้แล้วได้ผลชัดเจนรวดเร็ว 
          พ.ต.อ.พฤทธิพงษ์กล่าวอีกว่า วิธีสังเกตเพียงง่ายๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง ยา หรือสินค้าต่างๆ ควรดูที่มีฉลาก ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ บริษัทไหนเป็นผู้ผลิต หรือนำเข้า ส่วนประกอบอะไรบ้าง และที่สำคัญต้องมี อย.ให้การรับรอง หากท่านใดไม่แน่ใจ หรือสินค้าที่หลอกลวงประชาชน หรือผิดกฎหมายดังกล่าว ให้โทร.สายด่วน 1556 ผู้บริโภคกับ อย. หรือสายด่วน บก.ปคบ.1135 
 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved