Follow us      
  
  

บ้านเมือง [ วันที่ 09/08/2555 ]
สสส.ตีแผ่คุณภาพชีวิตผู้หญิงสุดเศร้า ต้องทำงานหนัก-ไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการเสวนา "ผู้หญิง...หัวใจสุขภาพของสังคม" โดย รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า สังคมมักมองว่าผู้หญิงเป็นแม่ได้โดยธรรมชาติ การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ขาดหายไป ทั้งที่งานวิจัยจำนวนมากระบุว่าคุณภาพของเด็กที่ดีเริ่มจากคุณภาพของผู้หญิงและแม่ จากผลการวิจัยเรื่อง "ผู้หญิง...หัวใจสุขภาพของสังคม" โดยสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในเพศหญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ใน กทม.และปริมณฑลจำนวน 1,029 คน ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.55 เพื่อสะท้อนบทบาทของสตรีและแม่ในการจัดการสุขภาพของตนเองและครอบครัว
          รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า ผลสำรวจเรื่องความรับผิดชอบในการดูแลสมาชิกในครอบครัว พบว่าผู้หญิงต้องดูแลลูกเป็นหลัก 42.1% และดูแลคนชรา 16% ในเรื่องการทำงานนอกบ้าน พบว่าผู้หญิงต้องทำงาน 75% ในเรื่องการดูแลอาหาร พบว่า 71.8% ประกอบอาหารเอง ในขณะที่คำตอบว่ามีผู้อื่นดูแล ได้แก่ แม่ 56.8% สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มีบุตรจะให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการของลูก 74.2% และพยายามเสาะหาข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสม 58.1% โดยรวมแล้ว 68.7% ของผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลสุขภาพ
          "การดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวฝากไว้กับผู้หญิง แต่สังคมมักมองด้วยความเคยชินว่าเป็นหน้าที่ที่ติดตัวมากับความเป็นหญิง จึงมักไม่ได้ใส่ใจที่จะหาทางช่วยเหลือ เมื่อดูเรื่องความสนใจในการดูแลสุขภาพตัวเอง กลับพบว่าผู้หญิง 49.6% ไม่เคยตรวจมะเร็งเต้านม 42.6% ไม่เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกเลย 67.5% ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย 26.1% ไม่เคยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเลย 54.8% ในเรื่องการคุมกำเนิด 54.8% ไม่เคยใส่ใจ และไม่เคยขอให้คู่ครองคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย และ 71.4% ไม่เคยปั๊มนมให้ลูกจากที่ทำงานเลย สังคมจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้หญิงให้ดีขึ้น" รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
          พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า การสร้างคุณภาพชีวิตของผู้หญิงต้องเริ่มจากการสร้างสมดุลทั้งเรื่องงานและครอบครัว ด้วยการทำความเข้าใจ สื่อสาร สนับสนุน และส่งเสริมผู้หญิง เริ่มจากพื้นฐานความเข้าใจว่า ทั้งการทำงานและครอบครัว ถือเป็นการสร้างผลผลิตทางสังคม หากทั้งสองมิติเกื้อกูลกันก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงและสังคมดีขึ้น อย่างไรก็ตามคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญมาก ประกอบกับหากสังคมการทำงานเอื้อให้ ผู้หญิงสามารถรับผิดชอบครอบครัวไปพร้อมกันได้
          แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต กล่าวว่า ผู้หญิงควรใช้โอกาสปลุกหัวใจเพศหญิงขึ้นมาให้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง อย่าเป็นเหยื่อทางอารมณ์ แต่ให้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง ความเป็นแม่ต้องเริ่มต้นจาก "หัวใจเป็นแม่" และ "หัวใจเป็นโพธิสัตว์" พร้อมเกื้อกูลสรรพสิ่งทุกชีวิตที่รายล้อมตัวเราจะทำให้โลกใบนี้เป็นสุข การพัฒนาจิตวิญญาณผู้หญิง คือการทำให้ดีขึ้น ทำให้เจริญขึ้น หมายความว่าควรมีการพัฒนาจิตใจตนเองให้อยู่ในวิถีชีวิต ให้เป็นกิจวัตร ต้องเริ่มฝึกฝนขึ้นจากครอบครัว และควรทำให้บ้านเป็นห้องเรียนห้องแรกของการฝึกให้เด็กเจริญเติบโตสามารถอยู่บนโลกได้อย่างอาจหาญ
          นายโสภณ ฉิมจินดา เห็นว่าแม่เป็นผู้มีพระคุณสูงสุดในชีวิตของเรา ขณะที่ครอบครัวเป็นแรงขับให้เรามุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิต ที่ตนต้องฝ่าฟันกับเรื่องธุรกิจครอบครัวล้มละลาย และยังจะต้องมาประสบอุบัติเหตุจนร่างกายพิการเมื่อ 9 ปีก่อน จนไม่เหลือแม้กระทั่งต้นทุนชีวิต แต่ถึงวันนี้คุณแม่เป็นแรงยึดเหนี่ยวใจของตัวเราให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างสง่างาม ทั้งยังประคับประคองทั้งร่างกายและจิตใจของลูกๆ ให้ยืนหยัดกับชีวิตให้ได้เหมือนคนปกติ

 pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved