Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 30/10/2555 ]
"โรคอันตราย" เหมันตฤดู หวัดนก-คอตีบ-ไข้เลือดออก รีเทิร์น!

ประเทศไทย ได้ก้าวย่างเข้าสู่  "ฤดูหนาว"  อย่างเป็นทางการแล้ว โดย กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะ อากาศช่วงเหมันตฤดูของประเทศไทยในปี 2555-2556 โดยระบุว่า จะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือน ต.ค. 2555 โดยบริเวณประเทศไทย ตอนบน จะมีอากาศหนาวเย็นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดอยู่ในช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค. สำหรับภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางพื้นที่ และในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.จะมีฝนตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่
          ประเด็นสำคัญคือ เมื่อย่างก้าวเข้าสู่เหมันตฤดู คราใด สารพัดโรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก-คอตีบ- ไข้เลือดออก มันจะลุกขึ้นมาจากหลุม แพร่เชื้อร้าย ให้ผู้คนป่วยไข้กันถ้วนหน้า
          วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาทุกท่านไปฟังคำแนะนำจาก นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ถึงวิธีป้องกันตนเพื่อไม่ให้ถูกสารพัดโรคร้ายคุกคามในช่วง ฤดูหนาวปีนี้
          จับตา "หวัดใหญ่-หวัดนก" ในช่วงหลายปีมานี้ โรคที่คนไทยหลายคนคุ้นเคยกันดีจากสื่อต่างๆ จนกลายเป็นกระแสสังคม คงจะหนีไม่พ้น "ไข้หวัดนก" ที่เกิดจากไวรัส H5N1 โดยเริ่มพบในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนเกิดการกำจัดเป็ด ไก่ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นการใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ มานี้ ปัญหาไข้หวัดนกในเมืองไทยเริ่มเบาบางลงโดย นพ.พรเทพกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา จากการเฝ้าระวัง ยังไม่พบเชื้อระบาดในสัตว์ปีก ทั้งนี้เป็นผล มาจากการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
          "ขอให้ทราบว่า ตั้งแต่ปี'51 เป็นต้นมา ยังไม่พบเชื้อในสัตว์ปีกเลย เพราะเรามีการเฝ้าระวังปศุสัตว์ในฟาร์ม ตามที่กฎหมายกำหนดให้มี และเรามีการเฝ้าระวังโดย อสม. ในไก่บ้าน เป็ดไล่ทุ่ง และตั้งแต่ปี'49 เป็นต้นมาที่มีผู้ป่วย ไข้หวัดนก ก็ยังไม่มีรายใหม่เลย เพราะกระทรวงสาธารณสุขเราเฝ้าระวังอย่างหนัก และสามารถตรวจเจอใน 24 ชั่วโมง จริงๆ ภายใน 2 ชั่วโมง ก็รู้เรื่องแล้ว เอาน้ำลาย เอาเลือดเป็ดไก่ หรือน้ำลายคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หวัดนก วัณโรคส่งมาที่ห้องแล็บ ภายใน 2 ชั่วโมงรู้ผลเลย เรามีห้องแล็บ อยู่ 12 เขตทั่วประเทศ และส่วนกลางก็มี คือเฉลี่ย 4-5 จังหวัดจะมีอยู่ 1 จุด เราตรวจได้ทันที" นพ.พรเทพกล่าว พร้อมกับฝากเตือนประชาชนว่าหากพบสัตว์ปีกตาย ผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ อสม. หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อทำการตรวจสอบ ก่อนที่จะนำซากสัตว์ไปทำลายต่อไป
          อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากการเฝ้าระวังเป็ด-ไก่แล้ว ในส่วนของผู้ป่วยที่แสดงอาการของไข้หวัด ก็ได้มีการเฝ้าระวังเช่นกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพื้นที่ใด มีคนเป็นหวัดเกินกว่าร้อยละ 7 ถือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่-หวัดนก และถ้าเกินร้อยละ 10 จะถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งหากพื้นที่ใดมีผู้ป่วยเกินร้อยละ 10 ก็จะต้องมีหน่วยสอบสวนโรค เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่ รวมถึงได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ คนเป็นโรคเรื้อรัง เป็นต้น
          "โรคคอตีบ" รีเทิร์นแม้เราจะเชื่อกันว่าโรคคอตีบแทบจะหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีการให้วัคซีนป้องกันอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบัน กรมควบคุมโรคกลับพบว่าโรคคอตีบกำลังกลับมาระบาดอีกครั้งในรอบ 20 ปี โดย นพ.พรเทพ
          กล่าวว่า ล่าสุด ปีนี้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 100 คน โดยพบการถึงระบาดบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ช่วง จ.เลย มากที่สุด ผ่านการเดินทางข้ามพรมแดนไปมาของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในหลายจังหวัด ผ่านการ ปนเปื้อนน้ำลายของผู้ป่วย
          ซึ่งผู้ป่วยโรคคอตีบ หลังจากได้รับเชื้อ 2-5 วัน จะมีอาการไข้ต่ำๆ คล้ายไข้หวัด และมีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร กลืนลำบาก ลักษณะพิเศษของโรคนี้คือจะมีแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นที่ทอนซิลทั้ง 2 ข้าง และลิ้นไก่ อันเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อถูกทำลายจากพิษเชื้อโรค ทำให้เนื้อตาย ในรายที่มีอาการรุนแรงจะทำให้ทางเดิน หายใจตีบตัน หายใจลำบาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
          "โรคคอตีบ เชื้ออยู่ในน้ำลาย เนี่ยที่อยู่ตามโต๊ะนี่ล่ะ คนก็ไปจับ แล้วไม่ล้างมือ เอาเข้าปากเข้าจมูกแล้วก็ติดกัน หรืออยู่ใกล้กัน ห้องเดียวกันก็ติดกัน ขณะนี้ป่วยไปร้อยกว่าคน ตายไป 2 คน ซึ่ง 2 คนนี้เป็นเอดส์ 1 และเมาเหล้า ติดยาเสพติดอีก 1 ซึ่งพวกนี้ภูมิต้านทานต่ำมาก เราเลยต้องให้ความรู้ชาวบ้านว่า ถ้าเป็นไข้ เจ็บคอเกิน 7 วัน อาการไม่ดีขึ้น ให้ไปหาหมอ อันนี้สำคัญมากต้องให้ ความรู้ ไม่งั้นเดี๋ยวมันแพร่ระบาดไปหมดทั้งประเทศ" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
          ทั้งนี้ โรคคอตีบเป็นโรคที่ระบาดหนักในช่วง ฤดูหนาว ซึ่งเมื่อผ่านช่วงนี้ไป คืออากาศหนาวเริ่มซาลง อุณหภูมิเริ่มอุ่นขึ้น เชื้อก็จะตายไปเอง อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือหมั่นล้างมืออย่างถูกวิธีอยู่เสมอ โดยเฉพาะ หลังออกจากห้องน้ำ หรือก่อนรับประทานอาหารเพื่อให้เชื้อที่อยู่ตามที่ต่างๆ จะได้ไม่ผ่านจากมือเข้าปากเข้าจมูกได้ ขณะที่อาคารต่างๆ ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่สาธารณะ ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ โดยใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของคลอรีนผสมกับน้ำ อัตราส่วน 1 ต่อ 10 เช็ดถูตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะส่วนของลูกบิดประตู เพราะเป็นจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่นเดียวกัน เครื่องปรับอากาศควรถอดมาทำความสะอาดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขณะที่ผู้ป่วย ให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากกับจมูก และหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ก็จะสามารถลดการแพร่เชื้อลงได้
          "ไข้เลือดออก" กับมรสุมภาคใต้แม้ว่าภาคอื่นๆ จะเข้าสู่ฤดูหนาว แต่สำหรับภาคใต้กลับเป็นช่วงเวลาแห่งฤดูมรสุมหรือฤดูฝน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากยุงลาย โดยจากสถิติของกรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2555 (นั้บตั้งแต่มกราคม-วันที่ 24 ตุลาคม) มียอดผู้ป่วยสะสม 53,553 ราย เสียชีวิต 49 ราย และหากจัดลำดับเรียงทีละภาค ภาคใต้จะมีผู้ป่วยเป็นอันดับ 2 รองจากภาคกลางเท่านั้น
          "อาการของไข้เลือดออก คือมีไข้สูง หน้าแดงเพราะเส้นเลือดมันข้นมาก คือไข้เลือดออกเป็นโรคที่แปลก คือถ้าป่วยครั้งแรก ก็เหมือนเป็นหวัดธรรมดา แต่ถ้าครั้ง ต่อไปได้เชื้อตัวเดิม ทีนี้มันจะมีอาการหนัก คือเส้นเลือดฝอย มันจะถูกทำให้เป็นรูพรุน เหมือนกับท่อประปาแตก น้ำจะออกจากเส้นเลือดหมด เลือดจะข้น หน้าจะแดง ตาจะแดงก่ำ ถ้ารูมันรั่วเยอะๆ เลือดก็จะออกตามร่างกาย เป็นจุดเล็กๆ สีแดงๆ อยู่ใต้ผิวหนัง รายที่อาการไม่หนัก สัก 3 วัน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ดังนั้นถ้าคลื่นไส้ อาเจียน ซึม 3 วัน ไม่ดีขึ้นอันนี้ต้องไปหาหมอทันที" นพ.พรเทพ กล่าวอย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่ก็สามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งนี้ ยุงลายเป็นยุงที่ชอบวางไข่ในน้ำนิ่งๆ ดังนั้นที่ใดที่เป็นที่น้ำขัง ไม่ว่าจะเป็นตุ่มน้ำ แจกัน ยางรถยนต์ เศษภาชนะที่แตกหัก ฯลฯ ถือว่าเป็นจุดที่ยุงลายจะแพร่พันธุ์ได้ทั้งสิ้น ซึ่ง นพ.พรเทพ ได้แนะนำหลักการง่ายๆ ในการลดแหล่ง แพร่พันธุ์ยุงลาย อันเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกไว้ดังนี้
          "ลูกน้ำยุงลาย 7 วัน กลายเป็นตัว แล้วมันบินได้ 100 เมตร ก็อยู่ในบ้านนี่เอง ถ้าเราจัดการให้ทุกบ้านไม่มียุงลาย รอบบ้านไม่มียุงลาย ไม่มีที่รับน้ำฝนที่ทำให้เกิดลูกน้ำยุงลาย โรคมันก็จะหายไป มีหลายร้อยตำบล หลายพันหมู่บ้านไม่มีไข้เลือดออกมา 5 ปี เพราะ อสม. เดินเก็บอุปกรณ์เหล่านี้หมด เรียกว่า 5 ป คือ 1.ป เปลี่ยน ที่ไหนมีน้ำในบ้าน เปลี่ยนให้หมด 2.ป ปิด คือปิดไม่ให้ยุงลงไปวางไข่
          3.ปล่อยปลา ถ้าพื้นที่ไหนค่อนข้างใหญ่ปิดไม่ได้ ก็ให้ปล่อยปลาหากนกยูง หรือทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดหรือด่าง เพราะยุงลายไม่ชอบ ถ้าจะทำให้เป็นกรด ก็เอามะกรูดผ่าครึ่ง วางไว้ในโอ่งสัก 1-2 ลูก ถ้าจะทำให้เป็นด่าง ก็เอาหมากที่กินกับปูน ปั้นเป็นก้อนใหญ่กว่าลูกปิงปองเล็กน้อย ตากให้แห้ง เอาผ้าบางๆ ห่อแล้วหย่อนลงไปในโอ่ง มันก็เป็นด่าง ยุงก็จะไม่วางไข่ 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม คือวัสดุใดๆ ที่ยุงชอบวางไข่ ให้นำออกไปให้หมด และ 5. ป ประจำ คือทำสม่ำเสมอ ถ้าหมู่บ้านใดทำได้แบบนี้ก็จะไม่มีไข้เลือดออก ไม่ต้องไปบอกให้มาพ่นยา เพราะยุงที่พบจะเป็นยุงรำคาญ มาจากท่อน้ำทิ้ง ไม่ใช่ยุงลาย" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย
          จะเห็นได้ว่า แม้หน้าหนาวอาจจะมีโรคภัยหลายประการที่เข้าข่ายโรคติดต่อ แต่วิธีการป้องกันก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด หากแต่ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของผู้คน ทั้งต่อตนเอง และต่อชุมชน ก็จะลดการแพร่ระบาดลงได้มากทีเดียว
          หน้าหนาวของท่าน...ก็จะเป็นหน้าหนาวที่สุขสันต์ ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บตามฤดูกาลดังกล่าว

 pageview  1205868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved