Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 24/10/2555 ]
"สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5" ภายใต้แนวคิด "ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ"

 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นำโดย ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธาน คจ.สช. แถลงข่าวการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18-20 ธันวาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ"
          ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า "การประชุมฯ ครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญในการเปิดพื้นที่สาธารณะ ให้ทุกภาคีทุกภาคส่วนในสังคม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างสังคมสุขภาวะอย่างสมานฉันท์ และปีนี้คณะกรรมการ ได้ลงพื้นที่ พบว่าปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยมาจากการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันระวัง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวต่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต ปัญหาที่ พวกเรา คจ.สช.เป็นห่วงคือผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนที่ไม่ได้ผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนที่จะดำเนินการ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นสิ่งที่ดีมากแต่อาจสร้างมลพิษ การบุกรุกเผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตรสร้างปัญหาหมอกควันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงมี 3 หัวข้อที่ครอบคลุมประเด็น "สุขภาพในนโยบายสิ่งแวดล้อม" ได้แก่ การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การป้องกันและลดผลกระทบ ด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพ"
          ด้าน กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า "จะเสนอระเบียบวาระสำคัญ 9 หัวข้อ โดยทางกลุ่มเครือข่ายต่างๆ จะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ช่วยกันพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม"
          สุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปีนี้ได้นำเรื่องการปฏิรูปอีไอเอและอีเอชไอเอเข้าสู่การพิจารณาเพื่อแก้ไขร่วมกันจาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า "พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้กิจการ 35 ประเภท ต้องทำระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ก่อนการเริ่มดำเนินกิจการ แต่ปัจจุบันมีข้อจำกัดในการนำหลักวิชาการที่ถูกต้องมาใช้ในการจัดทำรายงานการประเมินผลดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการวิเคราะห์ ประเมินผล และควรให้ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ"
          นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจาก โรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กจำนวนหนึ่งได้สร้าง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เนื่องจากการเผาไหม้ทำให้เกิดควันดำและเขม่าฟุ้งกระจายไปทั่ว กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง หากมีการบริหารจัดการที่ดีและคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีสำหรับบ้านเรา สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการแก้ไข วางกฎระเบียบให้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาดเล็กต้องทำรายงานการประเมินผล กระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) และมีมาตรการกำกับดูแลของภาครัฐที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ให้เป็นมาตรฐานในการดำเนินโครงการ รวมทั้ง ควรกำหนดเงื่อนไขในการตั้งโรงไฟฟ้าประเภทนี้ให้ห่างไกลจากชุมชน จะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนไม่ต้องสูดดมควันพิษเข้าไป "โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ยาก สุดท้ายกลายเป็นสารเผาไหม้ไม่หมดถึงร้อยละ 10-38 เกิดมลพิษที่อยู่ในรูปฝุ่นละอองขนาดเล็ก เมื่อผ่านเข้าไปถึงปอดและถุงลมที่มีผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งตามผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกยืนยันว่า การสูดดม มีผลต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคในระบบหายใจ โรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วจับหืดบ่อยขึ้น"
          ปิดท้ายด้วย ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ประธานคณะทำงานวิชาการประเด็นการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพ "ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อเผาทำพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากมีสารเคมีทางการเกษตรเช่น ยาฆ่าหญ้าติดมาด้วย การสูดดมของประชาชนจึงก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และในขณะนี้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงขึ้นทุกปี ดังนั้น ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องเข้ามาดูแลร่วมกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าเกิดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ การเผาป่าและการเผาเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดที่มีมากในภาคเหนือตอนบน,การเผาขยะตามบ้านเรือนประชาชน ที่เกิดขึ้นทุกวันเนื่องจากระบบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง และไม่มีพื้นที่ฝังกลบที่ดีพอ ทำให้ต้องใช้วิธีการเผาเป็นหลัก,ปัญหาการจราจร ที่ขาดระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ และภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้เชื้อเพลิง เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ซึ่งมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จากการ เฝ้าติดตามปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ 4 โรค คือ โรคทางเดินหายใจ หอบหืด เกิดกับผู้สูดดมสารมลพิษเหล่านี้โดยตรงอาจต้องเข้า รักษาตัวที่โรงพยาบาล, โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากสูดอากาศไม่ดีเข้าไป ทำให้การทำงานของเม็ดเลือดแดงมีปัญหา, โรคผิวหนัง เนื่องจากสารพิษมีลักษณะเป็น กรดสูงจะทำให้ผู้ได้รับเกิดปฏิกิริยาตามผิวหนังหรือเกิดอาการแสบตา และผลกระทบต่อสมอง มีโอกาสทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ"
 

 pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved