Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 20/09/2564 ]
วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นถึงเวลาแล้วหรือยัง

 การผ่อนคลายการใช้มาตรการเข้มงวด เพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ ยกเว้นในจังหวัดที่ยังถูกระบุว่าเป็นสีแดงเข้ม แต่ก็เชื่อว่า หลังจากวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้า 120 วัน ที่จะเปิดประเทศไว้ การล็อกดาวน์ดังกล่าวน่าจะหมดไป ซึ่งจะทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะสามารถออกมาปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้เหมือนเดิม การดำเนินธุรกิจ การค้าขายต่างๆ จะกลับมาสู่สภาพปกติ การเปิดประเทศโดยยังมีกติกาในการคัดกรองให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในประเทศไทยได้ ซึ่งผลรวมน่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาสู่สภาพที่ดีขึ้น อันเป็นผลดีต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม
          การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว เป็นผลมาจากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มมีจำนวนลดลง ถึงแม้จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่สิ่งที่เชื่อว่าทำให้รัฐบาลกล้าตัดสินใจ ดังกล่าวคือการที่รัฐสามารถจัดหาวัคซีนเข้ามาเกือบทุกชนิด เพื่อให้ประชาชน ได้รับการฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากเพียงพอ รวมทั้งขณะนี้เริ่มมีข้อมูลที่แน่ชัดว่า การให้วัคซีนนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอต่อการป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้ รวมทั้งจากเชื้อกลายพันธุ์ด้วย โดยในขณะนี้ มีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นในแต่ละวันอย่างรวดเร็ว อาทิ ในกรุงเทพมหานคร มีตัวเลขชัดเจนว่าประชากรมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และในจังหวัดที่เป็นตัวอย่างของการทำ sandbox คือจังหวัดภูเก็ต ประชาชนเกือบจะทั้งหมด ก็ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน
          สูตรวัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นสูตรที่มีการใช้วัคซีนหลายตัว สูตรพื้นฐาน สำหรับประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 18 ปี คือการฉีดเริ่มต้นด้วยวัคซีนซิโนแวคเป็น เข็มที่ 1 และหลังจากนั้น 4 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นเข็มที่ 2 ซึ่งจะเป็นสูตรที่ใช้ไปจนถึงปลายเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นสูตรที่ใช้สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน น่าจะเป็นเข็มที่ 1 ฉีดด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา แล้วต่อมาอีก 10-12 สัปดาห์ จะฉีดวัคซีนเดิมซ้ำอีก 1 เป็นเข็มที่ 2 ส่วนอีกสูตรหนึ่งคือฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 1 แล้วหลังจากนั้น 4-12 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของการระบาดและจำนวน ของวัคซีนแต่ละชนิดที่มีอยู่ ซึ่งทั้ง 2 สูตรนี้ จะสร้างภูมิคุ้มกัน ได้สูงเพียงพอนานเกินกว่า 6 เดือน ส่วนอีกสูตรหนึ่งซึ่งน่า จะถูกนำมาใช้แน่นอนคือฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ จะเป็นของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาก็ได้ 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์
          จนถึงปัจจุบัน ประชาชนคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 เข็ม ประมาณ 30 ล้านคน และฉีดครบ 2 เข็ม แล้วประมาณ 15 ล้านคน โดยวัคซีนที่ได้รับการฉีดไปนั้น มีทั้งที่เป็นวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม หรือวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวคและเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกา ซึ่งวัคซีนสูตรไขว้นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ  เนื่องจากมีผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 มีอาการแพ้ จึงได้รับการฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกา แล้วพบว่ามีปริมาณของภูมิคุ้มกันสูงมากเพียงพอ
          เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม หลังจากนั้นประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นลดลงมาก จนทำให้อาจจะไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดี โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เรียกว่ากลุ่ม 608 จึงเป็นที่มาที่ไปของการที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือที่เรียกกันว่าเข็ม Booster
          การฉีดวัคซีนโควิดเป็นเข็มบูสเตอร์นั้น ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายให้กับประชาชน  และเมื่อมีการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดครบ 2 เข็มประมาณ 2-3 เดือน พบว่าภูมิคุ้มกันลดระดับลง โดยลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจจะไม่เพียงพอต่อการต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าได้ จึงได้มีการฉีดเข็มกระตุ้น แต่ยังคงใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน โดยฉีดหลังจากเข็มที่ 2 ประมาณ 3-6 เดือน หลังจากนั้นการฉีดเข็มกระตุ้นจึงถูกนำมาพิจารณาในหลายประเทศ เช่นประเทศบาห์เรน อังกฤษ แคนาดา อิสราเอล ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ถูกนำเสนอผ่านองค์การอาหารและยาหรือ FDA แล้ว ซึ่งเพิ่งจะได้รับการอนุญาตในเบื้องต้นให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี กลุ่มผู้ที่มีโรคซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
          วัคซีนเข็มกระตุ้น ถูกยกเป็นประเด็นในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม หลังจากที่พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ครบ 2 เข็ม ยังคงมีการติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการรุนแรงพอสมควร ทั้งยังมีบางรายซึ่งเสียชีวิต ทำให้เกิดกระแสเรียกร้อง อย่างรุนแรงทั้งจากกลุ่มแพทย์บางส่วน และฝ่ายการเมืองให้รัฐจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ  จนเกิดเป็นกระแสสังคมที่รุนแรง จนในที่สุดรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทย ประจวบกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส จึงทำให้วัคซีนส่วนนี้ถูกนำมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นให้กับบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า รวมทั้งผู้สูงอายุและกลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าจะช่วยต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้
          ข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้บ่งชี้ว่า วัคซีน เอ็มอาร์เอ็นเอทั้งของไฟเซอร์ และโมเดอร์นาเป็นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้สูง โดยเฉพาะหลังจากฉีดครบ 2 โดส ที่ระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 4 สัปดาห์ และเป็นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว จึงเป็นตัวหลักที่จะถูกนำมาใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น
          แนวโน้มของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้ถึงแม้จะมีการกลายพันธุ์ ถึงอย่างไรก็ดีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างว่าจำเป็นหรือไม่ และการฉีดเข็มกระตุ้นนี้ควรจะต้องฉีดให้กับประชาชนในทุกกลุ่มหรือเปล่า เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตจากโรคนี้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สูงอายุ โดยเฉลี่ยเกินกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัว และเนื่องจากขณะนี้จำนวนของวัคซีนทุกชนิดที่ผลิตได้ทั่วทั้งโลก ยังไม่ได้ มีปริมาณมากพอเพียงที่จะฉีดให้กับประชากรทั้งโลก ซึ่งมีอยู่มากกว่า 7 พันล้านคน องค์การอนามัยโลกจึงเห็นว่า ยังไม่ควรจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เป็นมาตรฐาน แต่ควรจะนำวัคซีนที่ผลิตได้ขณะนี้ จัดสรรแบ่งปันฉีดให้ประชาชนทั้งโลก ให้ได้รับวัคซีนทั่วๆ กันเสียก่อน
          การฉีดวัคซีนในประเทศไทยขณะนี้ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 608 นั้น ได้ดำเนินการไปได้ด้วยดี ซึ่งได้รวมถึงหญิงตั้งครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่หากติดเชื้อร้ายนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมทั้งการคลอดก่อนกำหนด และอาจจะเกิดความผิดปกติพิการในทารกด้วย
          ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ได้ทำให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเรื่องการศึกษาของเยาวชน เนื่องจากการระบาดอย่างรุนแรงทำให้ต้องมีการปิดโรงเรียนทั่วประเทศ เกิดนวัตกรรมด้านการศึกษาแบบใหม่คือการศึกษาออนไลน์ โดยให้นักเรียนเรียนอยู่ที่บ้าน ครูผู้สอนทำการสอนจากโรงเรียนหรือ สถานที่ใดก็ได้ที่สามารถจะทำการถ่ายทอดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ ในส่วนของกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆ เรื่องนี้ อาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก
          ส่วนในชนบทการปิดโรงเรียนย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องความไม่พร้อมของเด็กนักเรียน การที่จะให้ครอบครัวต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้แก่ลูกหลาน ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนและเป็นภาระต่อครอบครัวที่ยากจนมากพอควร แต่ที่สำคัญคือคุณค่าของการศึกษานั้นย่อมไม่ได้เท่าเทียมกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างแน่นอน เพราะทำให้นักเรียนทั้งหลายขาดปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการที่จะทำให้เด็กรู้จักการดำรงชีวิตร่วมกับคนอื่น เพื่อจะเติบโตและอยู่ในสังคมอย่างดีได้
          รัฐบาลได้ตระหนักในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากเห็นว่าการเปิดโรงเรียนนั้น จะเกิดผลเสียอย่างมากหากเด็กนักเรียนทั้งหลายติดโรคระบาดรุนแรงนี้ จะเป็นการติดและระบาดในลักษณะของคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ อันจะทำให้การควบคุมการระบาดของโรคเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงให้ความสำคัญของเรื่องนี้โดยจะได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเด็กนักเรียนนักศึกษาอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึง 17 ปี
          เนื่องจากขณะนี้มีข้อมูลเพียงพอแล้วว่าการฉีดวัคซีน ให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปนั้นมีความปลอดภัยมากพอสมควร โดยวัคซีนที่จะถูกนำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียนทั้งหลายคือวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งรัฐบาลได้สั่งเข้ามารวมกันทั้งหมด 30 ล้านโดส และจะทยอยเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนนี้ จึงจะได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กทั้งหลายตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ให้เป็นการฉีดด้วยความสมัครใจ โดยความยินยอมของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่จะให้ลูกหลานของตนได้รับการฉีดวัคซีนที่ได้มีการชี้แจงถึงผลดีผลเสียของวัคซีนที่จะใช้แล้ว ข้อมูลที่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วในบางประเทศพบว่า อาจจะมีเด็กจำนวนน้อยมากมีอาการไม่พึงประสงค์คือการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจได้ แต่เป็นอาการที่เมื่อตรวจพบได้เร็วและให้การรักษาก็จะกลับมาสู่สภาพปกติได้
          ขณะนี้วัคซีนโมเดอร์นาที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้สั่งผ่านองค์การเภสัชกรรม จะมาถึงประเทศไทยในช่วงกลางเดือนตุลาคม และหลังจากผ่านการตรวจคุณภาพจากองค์การอาหารและยาแล้ว ก็สามารถจะเริ่มนำมาฉีดให้กับผู้ที่สั่งจองได้ โดยวัคซีนลอตแรกที่สุดจะเข้ามาจำนวน 1 แสนโดส และหลังจากนั้นจะทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 แสนโดส จนถึงสิ้นปีนี้จะเข้ามารวม 1.9 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3 ล้าน ซึ่งรวมของสภากาชาดไทยด้วย จะเข้ามาครบถ้วนประมาณปลายเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งผู้ที่จองวัคซีนนี้ไว้จะเป็นการจองเพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 รวมทั้งที่จะฉีดเป็นเข็มกระตุ้นด้วย แต่ก็เชื่อว่าจะมีส่วนหนึ่งของผู้ที่จองเพื่อฉีด 2 เข็ม เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ของภาครัฐไปแล้ว วัคซีนที่จองไว้จึงจะถูกนำมาใช้เพียงแค่เข็มเดียว ส่วนอีกเข็มหนึ่งอาจจะถูกโอนไปให้ผู้อื่นใช้แทนหรืออาจเก็บไว้เป็นเข็มสำรองสำหรับการฉีดเข็มกระตุ้นก็เป็นได้ แต่เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้เมื่อส่งออกจากโรงงานผลิตแล้ว จะคงสภาพอยู่ได้ไม่เกิน 7 เดือน จึงต้องมีการวางแผนจัดการในการใช้วัคซีนนี้ใหัดี
          การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่น่าจะต้องกระทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในอนาคต ขณะนี้บุคลากรด้านการแพทย์และด่านหน้ารวมทั้งกลุ่มเสี่ยงดังที่กล่าวไว้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วมากกว่า 8.2 แสนราย  เพราะข้อมูลที่มีอยู่นั้นวัคซีนทุกชนิดสามารถจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ แต่หลังจาก 3-6 เดือนแล้ว ปริมาณภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดลงตามลำดับ จนอาจจะไม่ พอเพียงต่อการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าและเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เป็นที่เชื่อกันว่าวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอน่าจะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่ก็มีข้อมูลว่าวัคซีนชนิด เชื้อตายและวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ หากนำมาฉีดเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะเวลาอันเหมาะสม ก็สามารถจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กลับคืนมาและมีปริมาณมากเพียงพอต่อการต่อสู้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

 pageview  1205722    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved