Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 27/09/2564 ]
กรมอนามัยเดินหน้าแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมต่อเนื่อง เสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาผ่าน Line Official TEEN CLUB

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มุ่งแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อม ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เดินหน้าผลักดันนโยบายการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอบบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการ ใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดฟรีที่สถานบริการ เครือข่ายของสปสช. ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนค่าบริการ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการส่งเสริม ความรู้เรื่องเพศศึกษาในช่องทาง Line Official Account TEEN CLUB เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องเพศให้วัยรุ่น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการท้อง ไม่พร้อมและการเกิดที่ไม่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี
          สถานการณ์ด้านประชากรในประเทศไทยยังคง น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีพ.ศ.2564 ที่ประเทศไทย จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยสาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายด้านการวางแผนครอบครัวและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่อยู่เป็นโสดกันมากขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรลดลงจากร้อยละ 2.7 ในพ.ศ.2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในพ.ศ.2563 ส่งผล ให้อัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้หญิงอายุ 15-49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.53 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน และอัตราการเกิดยังมีเพียง 10.2 ต่อประชากรพันคนเท่านั้น
          อีกสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือการเกิดที่ด้อยคุณภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยจากสถิติในพ.ศ.2562 พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ย วันละ 169 คน ในขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำเนิดบุตร เฉลี่ยวันละ 6 คน ด้านจำนวนคุณแม่วัยใสพบว่าในปีเดียวกัน มีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 63,831 ราย โดยแยกเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 ราย และยังมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีการคลอดซ้ำอีกถึง 5,222 ราย (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2564)
          เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ.2560-2569) อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการส่งเสริมวัยรุ่นที่อายุ น้อยกว่า 20 ปี ให้สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิดและฝังยาคุมได้ฟรีทุกกรณี และยังครอบคลุมถึงหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรณี หลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังสนับสนุน ค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้กับสถานบริการเครือข่ายของสปสช. การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ยังนำไปสู่การผลักดันและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงให้ได้รับบริการยุติการ ตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ในระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
          นายแพทย์พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "นับแต่ที่กรมอนามัยเริ่มดำเนินนโยบายป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ตามยุทธศาสตร์ปีพ.ศ.2560-2569 หน่วยบริการมีการจัดบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรเพิ่มขึ้นจนครอบคลุมร้อยละ 85.6 ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ.2563 และมีวัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรสะสมตั้งแต่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2557-31 มีนาคม พ.ศ.2564 รวม 210,997 คน ตามข้อมูลจาก E-Claim ของ สปสช. ซึ่งทาง กรมจะดำเนินงานต่อไปเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาประชากรให้ครบทุกด้าน เรายังดำเนินนโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) เพื่อให้ทุกการตั้งครรภ์เป็น การตั้งครรภ์ที่เกิดจากความตั้งใจ มีการวางแผน แม่และเด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังคลอด"
          อย่างไรก็ตาม การจะป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในระยะยาวได้ สิ่งสำคัญคือเด็กและเยาวชนต้องรู้จักที่จะดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง การส่งเสริมให้เด็กๆ เข้าถึงเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสมและสะดวกสบายจึงเป็นอีกสิ่งที่กรมอนามัยมุ่งดำเนินการ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ประเด็นความรู้ที่น่าสนใจ และข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น ผู้สนใจสามารถแอดไลน์ TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club
          "ปัญหาท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้างและจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม และทันท่วงที ซึ่งการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมมือร่วมใจจาก ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวในที่สุด

 pageview  1204405    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved