Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 28/09/2564 ]
จับแก๊งโกงฉีดวัคซีนยัดไส้ลัดคิวเรียกเงินดำเนินคดีหนัก2ข้อหาฉ้อโกง-ผิดพรบ.คอมพ์

  ตำรวจติดตามจับกุมขบวนการโกงฉีดวัคซีนโควิด-19 บางซื่อ เรียกรับ ค่าหัวคิว สร้างความเสียหายราว 7 ล้านบาท เหยื่อนับหมื่นราย ตำรวจตั้ง 2 ข้อหาฉ้อโกง ผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
          ที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาเป็นนายหน้าเก็บเงินผู้มารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน กลางบางซื่อว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการตำรวจรถไฟได้จับกุมผู้กระทำผิดเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ที่มาฉีดวัคซีน ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่ง พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนฯได้สังเกตเห็นความผิดปกติในส่วนของจำนวนยอดผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ที่ผ่านมา จึงแจ้งกองบังคับการตำรวจรถไฟ เฝ้าระวังสังเกตการณ์จนมั่นใจว่าผู้ต้องหามีการกระทำการทุจริตแน่นอน เมื่อวันที่ 27 ก.ย. จึงมีการเข้าจับกุม พบ ผู้ต้องหาหลายราย และได้นำผู้ต้องหา 2 คน เป็นสามี - ภรรยา มาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยผู้ต้องหาให้การสารภาพแล้ว จากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการสอบสวนในเชิงรายละเอียดต่อไป
          นายอนุทินกล่าวอีกว่า การให้บริการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ถือเป็นภาระและหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลประชาชนคนไทยทุกคนตลอดจนบุคคลสัญชาติอื่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทย โดยรัฐบาลจัดหาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ตาม ทั้งตัววัคซีน การฉีด อุปกรณ์การฉีดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดูแลหากมีอาการข้างเคียง การเฝ้าระวังสังเกตอาการทุกอย่างเป็นภาระเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น
          "ผู้ที่กระทำผิด จะมีการดำเนินคดี อย่างถึงที่สุด และขอให้ประชาชนทุกคนที่เข้ามารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่เป็นสถานบริการของภาครัฐ ต้องไม่ยอมรับการเรียกรับใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใด หากพบกันเรียกร้องผลประโยชน์ เรียกร้องค่าใช้จ่ายขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การฉีดวัคซีนทุกแห่งของรัฐ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในยามสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19" นายอนุทิน กล่าว
          นายอนุทินกล่าวอีกว่า ได้กำชับอธิบดีกรมการแพทย์และพญ.มิ่งขวัญว่าจะต้องมีการเชิญผู้ประกอบการค่ายมือถือ ทั้ง 4 แห่ง เข้ามาหารือร่วมกันซึ่งจากการเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ถือเป็นจิตอาสาเป็นเรื่องดีๆ แต่อาจจะต้องขอให้มีการตรวจสอบประวัติเจ้าหน้าที่ที่จะส่งเข้ามาช่วยเหลือด้วยเพราะเท่าที่ทราบผู้ต้องหา 2 รายนี้ ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท Operator แต่เป็นผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง โดยเริ่มจากการช่วยเหลือญาติพี่น้องแล้วเห็นช่องทางมีผลประโยชน์เล็กน้อยแล้วเริ่มขยายการกระทำไปเรื่อยๆ จนเป็นผลประโยชน์ 4 ล้านบาท ที่ผู้ต้องหาได้รับไปนั้น ถือเป็นเงินจำนวนมาก เพราะเป็นการเรียกรับผลประโยชน์จากการขายคิว โดยใช้ความรู้ทางด้านไอทีมาทำ
          "ที่ผู้ต้องหาอ้างว่าไม่ได้มาตัดสิทธิ์ประชาชนคนอื่นมันฟังไม่ขึ้น เพราะคนที่เข้ามาช่วยในการลงทะเบียนให้กับประชาชนนั้น จะต้องไม่มีญาติไม่มีเพื่อน ไม่มีฝูง ใครมีสิทธิ์ ต้องได้คิวก่อน อันนี้จะมีการหารือเพื่อหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน ต่อไป" นายอนุทินกล่าว
          พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการ ตำรวจรถไฟ กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คน คือ 1.น.ส.ภคมน หอมภักดิ์ 2.นายวิชญพงศ์ ธีรอังคณานนท์ 3.นางสุรีนาฎ ปัทมวิชัยพร 4.นายจุมพล ศรียาภัย 5.นางสาวบัณฑิตา รุ่งสว่าง 6.นางสาวกรรติมา ยางทอง และ 7.นายหทัยชนก บริรักษ์ โดยมีการตั้ง 2 ข้อหา คือ ฉ้อโกง และร่วมกันเข้าถึง โดยมิชอบ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ต้องหา 7 รายนี้ พบว่า 2 ราย เป็นคนคีย์ข้อมูลที่ศูนย์ฉีด ส่วนอีก 5 คน เป็นคนจัดหาประชาชนมาฉีด
          ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ตรวจพบ ความผิดปกติหลัก 2 ประการ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2564 คือ 1.พบมีการนัดล่วงหน้าจำนวนสูงผิดปกติ มากกว่าจำนวนที่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบ ฐานข้อมูลด้วยตนเอง โดยตัวเลขผิดปกติในหลักร้อยและหลักพัน ในช่วงวันที่ 18-27 ก.ค. และพบจำนวนนัดผิดปกติสูงสุดในวันที่ 28 ก.ค. มากถึง 2,827 คน ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้าย ของการเปิดบริการแบบ Walk-In
          2.พบความผิดปกติของช่วงเวลา ในการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ ระบบ โดยพบช่วงเดือน ก.ค. ทางศูนย์ฯ ได้งดรับการนัดล่วงหน้าจากองค์กรภายนอกเกือบทั้งหมด เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จึง upload ข้อมูลเข้าระบบเสร็จภายในเวลา 18.00 น. ของแต่ละวัน แต่หลัง 22.00 น. ของทุกวัน กลับมีข้อมูล upload เข้าสู่ระบบส่งข้อมูลนัดหมายล่วงหน้าอีกจำนวนมาก ประกอบกับทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการซื้อขายเพื่อรับคิวการฉีดวัคซีนจากประชาชน นำสู่การตรวจสอบพบทุจริตจากการใช้ Users 19 login ในกลุ่ม จิตอาสาของหนึ่งในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Operator) ที่มาช่วยคีย์ข้อมูล และ แจ้งความดำเนินคดี จนนำสู่การจับกุมตัวการสำคัญได้ ซึ่งจากข้อมูลพบประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการนี้ช่วงเดือน ก.ค. 2564 ประมาณ 7,000-10,000 คน มูลค่าความเสียอยู่ที่ราว 7 ล้านบาท
          "ขณะนี้มีการปิดข้อมูลบุคคลอื่นไม่ให้ใครคีย์ข้อมูลแล้ว ผู้ที่จะทำการเพิ่มข้อมูลหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลได้จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น" พญ.มิ่งขวัญกล่าว
          ทางด้านผู้ต้องหาหญิง กล่าวระหว่าง ทำแผนประกอบคำรับสารภาพว่า เดิมที่ใส่ชื่อ คนอื่นเพิ่มในระบบเพราะต้องการช่วยเหลือคนรู้จักและเพื่อน เพราะช่วงนั้นวัคซีนเข้ามาในประเทศไม่มากจึงอยากให้เพื่อนได้รับวัคซีนเร็ว โดยไม่ได้รับเงิน แต่เนื่องจากมีเพื่อนบอกต่อไป จึงมีคนมาให้ช่วยและเสนอว่าจะให้เงิน จึงรับรายละ 200 บาท ส่วนที่ว่ารับรายละ 1,000 บาทนั้น เป็นการบวก เพิ่มกันเองเป็นทอดๆ รายได้ที่ได้รับมาราว 3-4 ล้านบาท เงินที่ได้มานั้นนำไปใช้หนี้เพราะเงินที่ได้รับจากการทำงานที่ศูนย์วัคซีนบางซื่อวันละ 500 บาท ไม่พอ สิ่งที่ทำก็ไม่ได้เป็นการแย่งคิวหรือแย่งสิทธิ์ใครเพียงแต่นำชื่อเข้าระบบและทราบมาว่าศูนย์วัคซีนบางซื่อเป็นศูนย์ที่ได้รับวัคซีน มากที่สุดในประเทศไทย

 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved