Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 29/09/2564 ]
ติดเชื้อต่ำกว่าหมื่นวันแรกโควิดไทยขาลงรักษาหาย12,805-โคม่าลด

  สธ.คาดสิ้นต.ค.ป่วย5พันต่อวันย้ำไม่ประมาท/จับตาแรงเหวี่ยงมีนาคม65สถานการณ์คลี่คลายครม.ทุ่มซื้อแอสตราฯ60ล.โดส
          สธ.รายงานสถานการณ์โควิดไทยดีขึ้น ติดเชื้อลดฮวบต่ำกว่าหมื่นวันแรก  ป่วยรายวันอยู่ที่ 9,489 คน ตาย 129 ศพ รักษาหายกลับบ้านเพิ่มต่อเนื่อง 12,805 คน ชี้ไทยขาลงผลจากมาตรการล็อกดาวน์ ยอดโคม่า-ใส่ท่อหายใจลดต่อเนื่อง คาดก่อนสิ้นตุลาคมเจอป่วยใหม่ต่ำกว่า 5 พัน/วัน แต่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนั้นจำนวนติดเชื้ออาจเหวี่ยงขึ้นหลักพันกับหลักหมื่น ชี้มีนาคม 2565 โควิดสงบใกล้ปกติ แต่ยังต้องใส่แมส "หมอประสิทธิ์"พอใจชี้สถานการณ์ดีขึ้นแต่ต้องเข้ม 3 มาตรการต่อไป โดยเฉพาะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ถ้าไม่ร่วมมือต้องกลับมาล็อกอีก ห่วง 2 สัปดาห์หลังคลายล็อก ด้านครม.เห็นชอบแผนจัดซื้อแอสตราฯปี'65 จำนวน 60 ล้านโดส พร้อมจัดซื้อเพิ่มจากสเปน 1.6 แสนรวมส่งมอบ 6.1 แสนโดสถึงไทยต้นตุลา รัฐบาลเปิด 4 แนวทางหาวัคซีนให้ครบ 126 ล้านโดส เดินหน้าฉีดครบตามเป้า 50 ล้านคน
          วันที่ 28 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวัน  โดยวันนี้เป็นวันแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าหลักหมื่นคน
          ติดเชื้อลด9,489-โคม่าเหลือ3.2พัน
          โดย ศบค.รายงานว่า วันนี้ไทยพบ ผู้ติดเชื้อในประเทศ  9,489 ราย  ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 269 ราย  ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 ราย  รักษาหายเพิ่มขึ้น 12,805 ราย  หายป่วยสะสม 1,448,206 ราย (ตั้งแต่ปี 2563)  อยู่ระหว่างรักษาตัว 116,711 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 33,799 ราย  โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 82,912 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 3,283 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 738 ราย
          ตาย129ยอดสะสม16,498คน
          สำหรับผู้ติดเชื้อ 9,489 รายใหม่แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,823 ราย  ค้นหา ผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 387 ราย  เรือนจำ/ ที่ต้องขัง 269 ราย  ผู้เดินทางมาจาก ต่างประเทศ 10 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายจังหวัด 5 จังหวัด กรุงเทพมหานครติดเชื้อ 1,557 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 722 ราย ชลบุรี 712 ราย ปัตตานี 413 ราย และนครศรีธรรมราช 389 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต เพิ่ม 129  ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 16,498 ศพ (ตั้งแต่ปี 2563)  ยอดผู้ป่วย ยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,581,415 ราย   ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 28 ของโลก
          ทั่วไทยฉีดวัคซีนแล้ว51.3ล้านโดส
          ศบค.ยังรายงานภาพรวมการได้รับวัคซีนใน 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 27 กันยายน ได้ฉีดเพิ่ม 734,597 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 218,818 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 484,278 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 31,485 รายและเข็มที่ 4 จำนวน 16 ราย  ทำให้ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-28 กันยายน 2564 อยู่ที่ 51,398,473 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 31,811,342 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 18,414,417 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 1,171,887 ราย และเข็มที่ 4 จำนวน 827 ราย
          สธ.ชี้ขาลง-ก่อนสิ้นต.ค.ป่วย5พัน/วัน
          ด้านนพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ของไทย ขณะนี้ว่า กำลังอยู่ในช่วงขาลง เป็นผล มาจากมาตรการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ สัดส่วนผู้ป่วยหนัก และผู้ต้องใส่ท่อช่วย หายใจลดลงตามลำดับ หลังตัวเลขก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 4-5 พันรายต่อวัน ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3 พันรายต่อวัน  ทั้งนี้ มีประมาณการ ว่าจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 5 พันรายต่อวัน ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม
          ทั้งนี้ รูปแบบการติดเชื้อของเราจะเหมือนยุโรป เช่น อังกฤษ ที่ประชากร ใกล้เคียงเรา เราจะฉีดวัคซีนให้ใกล้เคียงเขา ซึ่งเดือนตุลาคมก็จะเท่ากัน บวกกับมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคเต็มที่ รูปแบบ เราก็จะเป็นเหมือนยุโรป คาดว่าติดเชื้อ ไม่เกิน 5 พันคนต่อวัน สามารถดูแลได้ และไม่มีการป่วยหนัก เสียชีวิตจำนวนมาก อัตราติดเชื้อและเสียชีวิตไม่มากไปกว่า ไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม  ระยะนี้ที่การติดเชื้ออยู่ในช่วงขาลง แต่จะเห็นอัตราการติดเชื้อยังเหวี่ยงหลักพัน กับหลักหมื่นอยู่
          คาดหลังตุลาคมยอดอาจเหวี่ยงขึ้น
          อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการประเมินตามหลักคณิตศาสตร์ แต่ยังมีหลายปัจจัยอื่นๆที่จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้คือ การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน(คลัสเตอร์) และเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ และประเมินฉากทัศน์ว่าจะกระดกขึ้นหลังเดือนตุลาคม เพราะหมดแรงเหวี่ยงของช่วงล็อกดาวน์ ดังนั้น เราต้องทำให้การพยากรณ์นี้ไม่เป็นจริง การ ติดเชื้อไม่เหวี่ยงขึ้น
          ย้ำห้ามการ์ดตก-ฉีดวัคซีนกดเชื้อ
          ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำไม่ว่าจะเรื่องการ์ดป้องกันตัวเอง เรื่องการตรวจ ATK ก็ดี มาตรการโควิด ฟรีเซตติ้งก็ดี คาดว่าน่าจะกดการติดเชื้อลงได้  ถ้าถามว่าก่อนหน้านี้ก็ทำแต่ทำไมไม่ลดลง ก็ต้องบอกว่าตอนนี้บริบทเปลี่ยนไปแล้ว 2 เดือน ก่อนการติดเชื้อไม่ลด เพราะการครอบคลุมวัคซีนเราต่ำกำลังเลยไม่เสริมกัน แต่วันนี้อัตราการฉีดวัคซีนของไทยครอบคลุมสูงขึ้น วัคซีนไทยเริ่มที่ ร้อยละ 11 อัตราการป่วยหนักก็เริ่มลดลง ซึ่งตอนนี้คนไทยเกือบ ร้อยละ 50 ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ส่วนเข็ม 2 ฉีดแล้วครึ่งหนึ่งของคนฉีดเข็ม 1 คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคม สัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ ร้อยละ 60 เข็ม 2 อยู่ที่ ร้อยละ 50 แล้วถ้าสิ้นเดือนธันวาคมตามเป้าหมายการฉีดคือ เข็ม 1 จำนวน ร้อยละ 80 และ เข็ม 2 จำนวน ร้อยละ 70 เท่ากับอารยประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
          มี.ค.65โควิดสงบแต่ยังต้องใส่แมส
          "ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเหวี่ยงขึ้นไปอีกคือ การเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ และเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งตอนล็อกดาวน์เหมือนเราเตะเข้าเป้าไปแล้ว ตามด้วยการฉีดวัคซีนทำให้เชื้อเปลี้ยลง และเตะตัดขาด้วย ATK ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มอ่อนกำลังลง  แต่เรามีการ์ดป้องกันตัวเอง และโควิด ฟรี เซตติ้ง คือ ระยะห่างที่ทำให้ไวรัสชกเราได้ยาก  ดังนั้น เราก็จะอยู่กับมันไปอย่างนี้ แต่มันเตี้ยลงทุกวัน คลัสเตอร์ใหญ่ก็เกิดได้ยาก" นพ.เกียรติภูมิกล่าวและว่า  ส่วนเรื่อง การกลายพันธุ์ มีผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัสกลายพันธุ์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น น่าจะอยู่ร่วมกันได้โดยโรคไม่รุนแรง คาดว่าเราจะทรงระบบอย่างนี้ไปได้  คาดว่าต้นปี 2565 ประมาณเดือนมีนาคม 2565 โรคน่าจะสงบพอสมควร ใกล้ภาวะปกติ แต่ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยต่อไปอีกระยะ
          ย้ำยอดโควิดไทยลดต่อเนื่อง
          สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  ตามที่เคยคาดการณ์ช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อน ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ก็ลดลงตามนั้น  ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ  ผู้ใส่เครื่องช่วยหายใจก็ลดลงต่อเนื่อง จากสูงกว่าพันรายวันนี้ลดลงเหลือ 738 ราย  ผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลก็ลดลงเช่นกัน  ตามหลักการที่เคยเน้นย้ำ 3 มาตรการที่ต้องทำคู่กันไปคือ มาตรการวัคซีน มาตรการบุคคล และการบริหารจัดการ
          มาตรการวัคซีนไปได้ดีเร่งฉีดต่ำเป้า
          ส่วนขณะนี้มาตรการวัคซีนไปได้ดีมาก ต่อเนื่องเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะมีวัคซีนเข้ามาทยอยฉีดได้เพียงพอแน่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องไม่ผ่อนการฉีด ต้องเร็วและมากเหมือนเดิม โดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง ที่ บางจังหวัดอาจยังทำได้ไม่ดีนักก็ต้องเร่ง ขึ้นไป ต่อมามาตรการบริหารจัดการอาจผ่อนลงได้บ้าง เพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา ตนเห็นด้วยในการผ่อนคลายมาตรการ แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ผู้ประกอบการต้องทำตาม ข้อตกลง แต่ที่สำคัญและต้องเน้นย้ำมากๆ คือ มาตรการส่วนบุคคล เราทุกคนต้องช่วยกัน อันหนึ่งขึ้น อันหนึ่งลงก็ยังพอสมดุลกันได้
          จับตา2สัปดาห์หลังคลายล็อกเฟส2
          "ถ้าไปแบบนี้ได้ เราต้องติดตามอีก 2 สัปดาห์ที่เริ่มผ่อนคลาย เพราะผลไม่เกิดขึ้นทันที แต่เราต้องติดตาม 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนเฉลี่ย วันละ 6 แสนโดส 14 วันก็จะเฉลี่ย 8 ล้านโดส หลังจากนี้ก็ต้องติดตามดู ส่วนตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะกลับไปถึง 2 หมื่นรายหรือไม่ ตามหลักแล้ว ถ้าทุกคนทำตามที่ว่า ก็ไม่น่าจะกลับขึ้นไปอีก  แต่ขอให้ทุกคนทำตามที่ตกลง เพราะถ้าไม่ทำตาม เราก็จะประเมินสถานการณ์ยาก แต่ถ้าทำตามตกลง เราก็จะประเมินผ่อนกิจการ วางแผนต่อไปได้ ดีขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          ชี้ยอดโคม่าลดยันโควิดขาลงจริง
          และว่า การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ในผู้ที่มีความเสี่ยงก็สำคัญ เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมากเพราะตรวจ ATK ใช้เวลาสั้น และตอนนี้ราคาก็ถูกลง แต่เมื่อรู้ผลบวกแล้วก็ต้องทำตามมาตรการแยกกักตัวเอง (Home Isolation) ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อได้  โอกาสติดเชื้อเสียชีวิตก็ลดลง เพราะกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากขึ้น   อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ต่ำกว่าหมื่นนั้น ไม่สำคัญเท่าจำนวน ผู้ป่วยหนัก ส่วนผู้ที่ตรวจ ATK บวก ตอนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำแล้ว แต่จำนวนที่เห็นชัดคือ ผู้ป่วยหนักที่ลดลงจริง ก็เชื่อได้ว่าเรากำลังอยู่ในขาลงจริงๆ
          เข้มมาตรการส่วนบุคคลสกัดป่วยพุ่ง
          "ตอนนี้ผมพอใจมากว่า จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ อาการรุนแรงก็ลดลงมาก ตอนนี้ต้องรักษาสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ มาตรการบุคคลคงไว้ วัคซีนก็ระดมฉีดเรื่อยๆ มาตรการจัดการ ผู้ประกอบการก็ร่วมมือไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ สถานการณ์ตอนนี้ยืนยันว่า ดีขึ้นจริง เห็นด้วยที่มีการผ่อนคลายไป ค่อยๆ ผ่อนไป แต่ย้ำว่า ทุกคนต้อง ไม่ผ่อนคลายมาตรการส่วนบุคคล ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างกันต่อ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          เตือนไม่ร่วมมือต้องกลับมาล็อกอีก
          และว่า ขณะนี้เราผ่อนคลาย ค่อนข้างมาก ร้านอาหาร ร้านทำผม สถานที่ ออกกำลังกาย ก็กลับมาเปิดได้แล้ว อย่างปี 2563 เราผ่อนคลายถึง 6 ระยะ ห่างกัน 14 วัน ใช้เวลา 3 เดือน แต่ผู้ติดเชื้อสูงสุดที่เคยเจอคือ 188 รายต่อวัน แต่ปีนี้ เราเจอถึงหลัก 2 หมื่นกว่าราย  ดังนั้น การผ่อนคลายน่าจะใช้เวลามากกว่าปีที่แล้ว แต่ข้อดีของปีนี้ เรามีวัคซีนที่กำลังทำหน้าที่ของมันแล้ว  ก็น่าจะช่วยลดเวลาส่วนนี้ได้บ้าง เราต้องเริ่มผ่อนคลายเป็นระยะไป เพื่อไม่ให้ต้องปิดซ้ำอีก เริ่มจากกิจกรรมเสี่ยงต่ำก่อน และฉีดวัคซีนคู่กันไป ต่อไปก็จะเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมเสี่ยงสูงขึ้น  ทั้งนี้ หาก ผ่อนคลายแต่เราไม่ช่วยกัน ก็ต้องกลับมากระชับกันใหม่ เช่น สิงคโปร์ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันป้องกันตัวเอง
          ติดเชื้อต่ำกว่าพัน/วันหายใจคล่องขึ้น
          "ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว ตอนนี้ที่ลดลงจากคือ จาก 2 หมื่นมา 1 หมื่นเราใช้เวลานานเท่าไหร่ เชื่อว่าถ้าเราติดเชื้อน้อยกว่าพันต่อวัน เราจะหายใจคล่องขึ้น ถึงจะ 4-5 พันราย ผมก็ยังหายใจไม่ค่อยคล่อง เพราะต้องระวังอยู่ แต่ส่วนตัวไม่ได้ตั้งเป้าหมาย เพียงแต่ต้องเร่งมาตรการอื่นๆ ขณะที่ การเปิดประเทศ ที่เรามีแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดสอบอยู่ ก็ขอให้เป็นบทเรียน ตรงไหนต้องแก้ ก็แก้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ใช้ในจังหวัดที่ปลอดภัย และขยายไป เรื่อยๆ อาจจะช้านิดหนึ่ง แต่ปลอดภัย" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          นายกฯพอใจยอดป่วยต่ำหมื่นวันแรก
          นายธนกร  วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 28 กันยายน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,489 คน แบ่งเป็น ติดเชื้อในเรือนจำ/ ที่ต้องขัง 269 ราย ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง 8,823 ราย  ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 387 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 10 ราย โดยผู้เสียชีวิต 129 ราย และ หายป่วยกลับบ้าน 12,805 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 1,552,552 และยอดหายป่วยสะสม 1,420,780 ราย ซึ่งหลังปรับมาตรการของ ศบค. ยอด ผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ในระดับคงที่และมีแนวโน้ม ลดลง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. ขอบคุณความร่วมมือร่วมใจของประชาชนที่ปฏิบัติมมาตรการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention จนเห็นผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
          ไฟเขียวซื้อแอสตราฯปีหน้า60ล.โดส
          นายธนกรยังแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม. เห็นชอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อวัคซีนโควิด-19  สำหรับปี 2565 จากบริษัท แอสตราเซเนกา และเห็นชอบการลงนามในสัญญาซื้อระหว่างกรมควบคุมโรค และบริษัท แอสตราเซเนกา และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจลงนามในสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ ทำให้มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นวาระสำคัญของชาติที่ทุกคนต้องช่วยแก้ปัญหาโดยเร็ว รวมถึงความจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนเพิ่ม สำหรับปี 2565 โดยมีแผนส่งมอบ วัคซีนแอสตราเซเนกา ปี 2565 ภายในไตรมาสแรก 15 ล้านโดส ไตรมาสที่ 2 จำนวน 30 ล้านโดส และไตรมาสที่ 3 จำนวน 15 ล้านโดส
          ซื้อเพิ่มจากสเปนอีก6.1แสนโดส
          นายธนกรยังแถลงต่อว่า ครม.ยังเห็นชอบให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 แอสตราฯจากสเปนเพิ่มเติม 165,000 โดส จากเดิมครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กันยายน ให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อจากสเปน 449,500 โดส รวมทั้งหมด 614,500 โดส โดยครม.เห็นชอบให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อวัคซีนเพิ่มและอนุมัติให้รมว.สาธารณสุขมีอำนาจลงนามใน Schedule II to Tripartite Agreement: Form of Doses Offer Notice
          อย่างไรก็ตาม สเปนจะกำหนดส่งมอบวัคซีนทั้ง 2 ชุด ภายในต้นเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ไทยยังเจรจาจัดซื้อ/รับบริจาควัคซีนอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของไทยเดือนตุลาคมธันวาคม
          เปิด4แผนระดมวัคซีน26ล.โดส
          น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงเพิ่มเติมว่า  รัฐบาลมั่นใจสามารถจัดหาวัคซีนครบตามแผน 126 ล้านโดสในปลายปี 2564 โดยจัดหาวัคซีน ภายใต้ 4 แนวทางดังนี้ 1. แผนจัดซื้อจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรงกับผู้ผลิต/บริษัท ให้มีหลายยี่ห้อและเทคโนโลยี อาทิ AstraZeneca Pfizer และ Sinovac 2.จัดซื้อจากประเทศที่มีวัคซีน เช่น เจรจาจัดซื้อแอสตราเซเนกาจากสเปน 449,500 โดส โดยรัฐบาลสเปนถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ขายวัคซีนให้ไทย และอยู่ระหว่างประสานกับอีกหลายประเทศ 3.การแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap)  เช่น  ภูฏานได้แลกเปลี่ยนวัคซีนแอสตราเซเนกาล่วงหน้า 105,000 โดสกับรัฐบาลไทย  โดยส่งมอบให้ไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม  และการแลกเปลี่ยนวัคซีนระหว่างไทยและสิงคโปร์ 122,400 โดส  บนหลักการว่า ไทยจะ ส่งมอบวัคซีนคืนแก่สิงคโปร์ภายหลัง
          ยันสิ้นปีฉีดเป้าหมายได้50ล.คน
          4.การบริจาค ไทยได้รับวัคซีน ซิโนแวคจากจีน  1 ล้านโดส สหราชอาณาจักร มอบวัคซีนแอสตราเซเนกา 415,000 โดส ญี่ปุ่นมอบแอสตราฯ  1.66 ล้านโดส สหรัฐฯมอบไฟเซอร์กว่า 1.5 ล้านโดส  รวมถึงอยู่ระหว่างหารือของคณะกรรมการร่วมไทย-สหรัฐอีก  1 ล้านโดส ยืนยัน ไทยจะบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 คิดเป็นประชากร 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 ครอบคลุม เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่เคยติดเชื้อ การฉีดเข็มกระตุ้น (booster) แก่ผู้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม ทุกราย นอกจากนี้ สธ.ยังวางแผนฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าว เริ่มเดือนตุลาคมนี้

 pageview  1205133    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved