Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 25/08/2564 ]
ไทยตรวจพบสายพันธุ์ย่อย4ตัว เดลต้า กลายพันธุ์ สธ.ชี้ยังไม่มีข้อมูลดื้อต่อวัคซีน

 เจอใน8จังหวัด-จำนวน14รายอย.เร่งไฟเซอร์ยื่นเอกสารเพิ่มพร้อมอนุมัติเอกชนจัดซื้อเองติดโควิด17,165คน-ดับ226ศพ
          "ศบค."รายงานติดเชื้อโควิด-19 ยังทรงตัวที่ 17,165  ราย เสียชีวิต 226 ศพ  รักษาหายเพิ่ม 20,059 คน ส่วนยอดฉีดวัคซีนสะสม 177 วัน 27,612,445 โดส นับถอยหลัง 66 วันเปิดประเทศ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แจงผลศึกษาสายพันธุ์เดลต้า พบลามทั่วประเทศ เจอกลายพันธุ์แตกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ย่อย 20 สายพันธุ์  "AY.1- AY.22" ตรวจเจอใน 8 จว. 14 ราย ย้ำไม่ใช่พันธุ์ไทย ยังไม่มีรายงานอาการรุนแรง หรือดื้อต่อวัคซีน เคยตรวจพบหลายปท. ต้องเฝ้าระวังต่อ โดยติดตามถอดพันธุกรรมเพิ่ม 6 พันตัวอย่างในสิ้นปีนี้ อย.เร่งไฟเซอร์ยื่นเอกสารเพิ่มเติมขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบ คาด 1 เดือนอนุมัติ จากนั้นเอกชนจัดซื้อได้เอง
          เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน ยังทรงตัวอยู่ที่หลักหมื่นราย
          ติดเชื้อ17,165-รักษาหาย20,059คน
          โดยไทย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17,165 คน จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ในประเทศ 16,973 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 192 คน หายป่วยกลับบ้าน 20,059 คน หายป่วยสะสมระลอกใหม่ 854,403 คน กำลังรักษา 192,334 คน แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 30,930 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 161,404 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 5,229 ราย  ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,095 ราย
          ตาย226ศพไทยขึ้นอันดับ33โลก
          มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 226 ศพ ยอด ผู้เสียชีวิตสะสม 9,788 ศพ (ตั้งแต่ปี 2563)  ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,083,951 ราย  ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 33 ของโลก สำหรับผู้ติดเชื้อ 17,165 รายใหม่ แบ่งเป็นดังนี้
          ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,226 ราย  ค้นหา ผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,0744 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 192 ราย  ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย  สำหรับผลตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) ทั่วประเทศ พบผลบวกอีก 314 ราย ขณะที่กรุงเทพมหานคร ตรวจเพิ่ม 387 ราย พบผลบวก 34 ราย   โดยกรุงเทพมหานครติดเชื้อสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อ 4,025 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 1,731 ราย สมุทรสาคร 1,288 ราย ชลบุรี 816 ราย
          77จว.ฉีดวัคซีนสะสม27.6ล้านโดส
          ศบค.ยังรายงานยอดฉีดวัคซีน ทั่วประเทศข้อมูลของวันที่ 23 สิงหาคม  มีผู้เข้ารับวัคซีนรายใหม่ 573,446 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 400,645 ราย  เข็มที่ 2 จำนวน 165,508 ราย  เข็มที่ 3 จำนวน 7,293 ราย    ส่วนยอดฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ที่คิกออฟฉีดวัคซีนทั่วประเทศ มียอดสะสมแล้ว 23,511,924 โดส แบ่งเป็น  เข็มที่ 1 จำนวน 18,060,426 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 4,900,237 ราย  เข็มที่ 3 จำนวน 551,261 ราย  ขณะที่ยอดรวมฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 23 สิงหาคม (177 วัน) พื้นที่ 77 จังหวัด มียอดสะสม 27,612,445 โดส  เข็มที่ 1 สะสม 20,830,673 ราย  เข็มที่ 2 สะสม 6,230,511 ราย  เข็มที่ 3 สะสม 551,261 ราย    โดยประเทศไทยเตรียมเปิดประเทศภายใน 120 วัน ในวันที่ 29 ตุลาคม ซึ่งเหลืออีก 66 วัน และมีเป้าหมายนำวัคซีนเข้าประเทศ 100 ล้านโดสสิ้นปี 2564
          เดลต้ายึดไทยระบาดทั่วปท.92.9%
          ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ย่อยของเดลต้าในไทยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจไป 2,295 ตัวอย่าง พบเดลต้ามากที่สุด ภาพรวมการระบาดในประเทศอยู่ที่ 92.9% ส่วนในกรุงเทพมหานครพบ 96.7% จาก 1,531 ตัวอย่าง ส่วนภูมิภาค 85.2% จาก 764 ตัวอย่าง ซึ่งบอกได้ชัดว่า สรุปสายพันธุ์เดลต้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดเว้นสุพรรณบุรี แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงาน 3 ราย ดังนั้น 76 จังหวัดบวกกรุงเทพมหานครพบเดลต้าหมดแล้ว  จึงถือว่า เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักในการติดเชื้อของไทย ส่วนเบตา ยังพบในโซนภาคใต้ส่วนล่าง โดยเฉพาะที่ติดมาเลเซีย  ส่วนที่เคยเจอจ.บึงกาฬ และกรุงเทพฯขณะนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพียง 29 รายในภาคใต้ โดยนราธิวาสมากสุด 15 ราย นอกนั้นมี กระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี และสงขลา
          ย้ำสายพันธุ์ย่อยเดลต้าไม่ใช่พันธุ์ไทย
          "เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดีวิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยของเดลต้า ซึ่งปัจจุบันเดลต้า ในไทย และเกือบทั่วโลกเป็นเดลต้าที่ เรียกว่า B.1.617.2 เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อระบาดเร็วมีสายพันธุ์ย่อยๆ ขึ้นมา ซึ่งในส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจเช่นกัน ส่วนใหญ่ที่พบได้ติดตามอาการว่า แตกต่างหรือรุนแรงอย่างไร มีจำนวนเท่าใด โดยคนที่เราตรวจพบได้ประสานกรมควบคุมโรคติดตามอาการ เบื้องต้นยังไม่พบข้อแตกต่างตรงนี้"นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า  สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่พบครั้งนี้ ต้องชี้แจงว่าไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ สเปน เดนมาร์ก ก็มีรายงานเช่นกัน ดังนั้น อย่าไปสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ของไทย แต่เราต้องจับตามองว่า สายพันธุ์นี้ จะมีผลต่อการควบคุมโรคหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามต่อเนื่อง
          เฝ้าระวังเพิ่ม-ยังไม่พบอาการรุนแรง
          ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการคนที่พบ สายพันธุ์ย่อย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ยังไม่พบว่า แตกต่างจากผู้ป่วยสายพันธุ์หลัก แต่ด้วยยังมีจำนวนไม่มาก จึงต้องติดตามต่อเนื่องอีก แต่หลักๆ ทุกสายพันธุ์ย่อยมักเจอในสถานที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง จึงต้อง เฝ้าระวัง
          ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าตัวอย่างในต่างประเทศพบความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อยด้วยหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ ยังไม่มีข้อมูลว่าแพร่เร็วขึ้น หรือทำให้อัตราการป่วยตายมากขึ้น และยังไม่ถูกจัดชั้น เพราะการกลายพันธุ์เกิดได้ตลอด แต่ถ้ากลายพันธุ์แล้วไม่รุนแรงก็ไม่มีอะไร แต่ต้องเฝ้าระวังติดตามต่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าสายพันธุ์อะไร ถ้ากระจายจากคนสู่คนมากมีโอกาสกลายพันธุ์ และมีสายพันธุ์ย่อยได้มาก
          "สรุปการพบสายพันธุ์ย่อยเดลต้าครั้งนี้  ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย และไม่ใช่ สายพันธุ์ใหม่ แต่ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้เป็น ลูกหลานของเดลต้าที่เราพบในไทยอยู่แล้ว ยังไม่พบความรุนแรงหรือมีผลใดๆ และ ไม่เป็นปัญหากับระบบใดๆ กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะติดตามข้อมูลต่อเนื่อง"นพ.ศุภกิจย้ำ
          เดลต้ากลายพันธุ์60ตำแหน่ง27สายพันธุ์
          ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวเพิ่มเติมว่า  จากที่หลายประเทศถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด ทั้งจีโนม (whole genome sequence) ต่อเนื่องทุกสัปดาห์หรือ ทุกเดือน และอัปโหลดขึ้นในฐานข้อมูล จีโนมโควิดโลก "GISAID" โดยไทยจัดทำข้อมูลเช่นกัน ปัจจุบันมี 3 ล้านตัวอย่าง ทั่วโลกช่วยกันนำเข้าระบบ และจะจัดหมวดหมู่แต่ละสายพันธุ์ ประมวลผลใน รูปแบบแผนภูมิแสดงถึงสายวิวัฒนาการจากลำต้น (สายพันธุ์ดั้งเดิม) ทั้งอัลฟ่า เดลต้า แกมม่า เบต้า ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้เห็นการ กลายพันธุ์ได้ด้วย
          "จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า สายพันธุ์เดลต้ากลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับอู่ฮั่นเดิมจากจีโนมทั้งหมด 3 หมื่น ซึ่งมีกลายพันธุ์ออกไปจำนวนมาก บ่งชี้ว่าแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก อย่างไรก็ตาม กรณีสายพันธุ์เดลต้าจะมีตัวหลักที่เรียกว่า B.1.617.2  ซึ่งพบกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์ย่อย มีตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY.22 ข้อมูลนี้มาจากระบบ ไม่ใช่นักวิจัยทำกันเอง" ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว
          เจอ4สายพันธุ์ย่อยเดลต้าใน8จว.
          และว่า เมื่อดูฐานข้อมูลของไทยจะพบ อัลฟ่า 11% เบต้า 14% เดลต้า 71% และสายพันธุ์ย่อยเดลต้าอีก 4 ตัว พบดังนี้ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 ช่วงที่พบเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ในจ.ปทุมธานี 4 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย เชียงใหม่ 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ชลบุรี 1 ราย AY.6 หรือ B.1.617.2.6  ช่วงที่พบเดือนกรกฎาคม ในกทม.1 ราย AY.10 หรือ B.1.617.2.10 ช่วงที่พบเดือนกรกฎาคมในกทม. 1 ราย AY.12 หรือ B.1.617.2.15 ช่วงที่พบเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ใน กทม. (พญาไท) 1 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย ที่เราพบบริเวณดังกล่าวเพราะมีการสุ่มบริเวณนั้น
          เป็นลูกหลานเดลต้า-ยังไม่พบดื้อวัคซีน
          ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ยังชี้แจงข้อสงสัยที่มาของสายพันธุ์ย่อยว่า  หากพิจารณาสายพันธุ์ย่อยที่พบไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสถานที่กักกันตัวรัฐหรือมาจากสนามบิน แต่กลับบ่งชี้ว่า เป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักเดลต้าที่มีอยู่ในประเทศไทย ส่วนสายพันธุ์หลักจะมาจากไหนต้องไปดูอีกครั้งว่า เราไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนบ้านให้เรา ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลก็จะนำไปสู่การควบคุมดูแลอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพบสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว ยังไม่มีข้อมูลมารองรับว่าดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ รวมไปถึงอาการต่างๆ
          เตรียมถอดรหัสพันธุกรรม6พันตัวอย่าง
          ขณะที่นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า จากการอัพเดตข้อมูลสายพันธุ์เดลต้า ข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY.1 ไปถึง .25 ทุกตัวของสายพันธุ์เดลต้ายังมีคุณสมบัติแพร่กระจายเร็ว อาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อเดลต้าพลัสที่อินเดียเคยรายงานนั้น คือ K417N ในไทยยังไม่พบ อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์ฯได้ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเชื้อไวรัส ใช้เวลา 3-5 วัน เราถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมล่าสุด 1,955 ตัวอย่าง พบเป็นอัลฟ่า 71% ส่วนเดลต้า 23% เป็นการสุ่มตรวจตั้งแต่ 28 พฤษภาคม เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เราพบสายพันธุ์เดลต้าอยู่  อย่างไรก็ตาม AY.4 พบมากสุดในปทุมธานี 4 ตัวอย่าง AY.6 พบในกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง AY.10 พบกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง และ AY.12 พบสุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง และกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง เป็นข้อมูลตั้งแต่มิถุนายนถึงสิงหาคม โดยเราจะติดตามถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่างในปี 2564
          อย.เร่งไฟเซอร์ขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบ
          ขณะที่นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์เต็ม รูปแบบว่า ถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง โดยวัคซีนไฟเซอร์ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเต็ม รูปแบบในอเมริกา  ส่วนไทย อย.ยินดีและเชิญชวนให้บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด นำข้อมูลที่สมบูรณ์เพิ่มเติมขึ้นนำมายื่นขึ้นทะเบียนอย.โดยเร็ว  ส่วนที่มีคำถามว่า วัคซีนไฟเซอร์ ที่อย.อนุมัติให้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องมายื่นข้อมูลเพิ่มเติม ในประเด็นคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ที่เราอนุญาตใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นข้อมูลที่จำกัด ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลประสิทธิผลในการทดลองวิจัย ระยะที่ 3 ซึ่งข้อมูลนี้จะสมบูรณ์หากนำมายื่นขอทะเบียนตามปกติ ส่วนด้านคุณภาพจะดูเรื่องการผลิต ข้อมูลผลิตภัณฑ์วัคซีน ก็เป็นข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้น  คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน
          หลังอนุมัติเอกชนจัดซื้อได้เอง
          นพ.ไพศาลกล่าวต่อว่า ถ้าอย. อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนปกติแล้ว จะเหมือนวัคซีนทั่วไป เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หมายความว่า ตัวแทนวัคซีน ไฟเซอร์ในประเทศไทย คือ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด จะเป็นตัวแทนจำหน่ายเหมือนวัคซีนทั่วไป เอกชนสามารถจัดการได้ รพ.เอกชนสามารถนำเข้าได้ ซื้อขายได้ตามปกติ แต่เน้นย้ำว่าผู้ได้รับอนุญาต นำเข้าคือ บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด
          ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังสหรัฐฯรับรองไฟเซอร์เต็มรูปแบบให้ประชาชน 16 ปี ขึ้นไป แล้วในไทย จะมีเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฉีดในเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปแบบทั่วถึง นพ.ไพศาลกล่าวว่า หลังสหรัฐให้ขึ้นทะเบียนปกติแล้ว อย.ไทย ก็มาขึ้นทะเบียนตามปกติ  การฉีดเด็กอายุ 16 ปี ขึ้นไป ต้องชี้แจงว่า ในทะเบียนปกติของสหรัฐ ให้ขึ้นทะเบียนตามปกติ แต่ในกลุ่ม 12-16 ปี ยังใช้แบบฉุกเฉินอยู่  ส่วนไทย สถานะของเราตอนนี้ อนุญาตฉีดได้ตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป แบบฉุกเฉิน ดังนั้น ถ้าบริษัทไฟเซอร์จะขึ้นทะเบียนฉีดทั่วไปในกลุ่มอายุ 16 ปี ขึ้นไปก็ได้
          ปลดล็อกซื้อชุดATKไม่ผ่านWHO
          น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ การขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ครั้งที่ 12/2564 และการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยขอแก้ไขข้อความ จากเดิม ระบุในสรุปผลประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ครั้งที่ 12/2564 หน้าที่ 17 ข้อ 6 ว่า
          "การเร่งจัดหาชุดตรวจหาเชื้อ โควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ  เพื่อนำไปสู่การรักษาทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด" เป็นข้อความว่า "ในเรื่องจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สธ.เร่ง ดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ให้เร่งแก้ปัญหา ให้ดีที่สุด"
          สำหรับการแก้ไขข้อสั่งการครั้งนี้ นายกฯเห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)   ปรับปรุงแก้ไขข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทบทวนสรุปผลการประชุมดังกล่าว และตรวจสอบจากบันทึกการประชุม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกฯสั่งการในที่ประชุมมีข้อความดังนี้คือ "ในเรื่องจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สธ.เร่งดำเนินการให้ได้ โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด"

 pageview  1204385    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved