Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 30/08/2564 ]
สธ.เคาะปลายเดือนกันยายนฉีดวัคซีนเข็ม 3 กลุ่มประชาชนทั่วไป3ล้านคน

  รับ'แอสตราฯ-ไฟเซอร์'บูสเตอร์รบ.ยันซื้อวัคซีนให้ได้140ล้านโดสย้ำปชช.ป้องกันตัวครอบจักรวาลโพลล์อยากได้วัคซีนประสิทธิภาพ84%ติดโควิดยังทรง16,536-ตาย264
          ศบค.เผยยอดติดเชื้อโควิด 16,536 ราย เสียชีวิต 264 ศพ กทม.จำนวนติดเชื้อรายวันและยอดสะสมยังสูงที่ 1 ด้านสธ.มอบกรมควบคุมโรคจัดทำแผนให้วัคซีนเข็ม 3 แก่ประชาชนทั่วไป โดยมติอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิดมีมติเริ่มฉีดช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม เน้นกลุ่มคนฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มห่างมาแล้ว 3 เดือน ขณะที่สัปดาห์หน้าเตรียมกระจายซิโนแวค 1.5 ล้านโดส ไปยังภูมิภาค ผลสำรวจความต้องการปชช.พบสิ่งต้องการมากสุดคือ รัฐบาลจัดหาวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงกว่า 84% และฉีดครบ 100% สูงสุด 84.12% รองลงมาต้องการสิทธิรักษาเท่าเทียม-ให้ความสำคัญบุคลากรแพทย์
          วันที่ 29 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต รวมถึงภาพรวมการระบาดของ โควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้พบ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,536 คน จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อทั่วไปในประเทศ 16,200 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 8 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 328 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,145,228 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 1,174,091 ราย
          ติดเชื้อ16,536-รักษาหายกว่า2หมื่น
          ขณะที่มีผู้รักษาหายเพิ่มขึ้นวันเดียว 20,927 ราย หายป่วยสะสม 957,820 ราย หายป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 985,246 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 177,702 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 15,573 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 162,129 ราย อาการหนัก 5,093 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,067 ราย สำหรับ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,536 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่รวมเรือนจำ 6,922 ราย 4 จังหวัด ภาคใต้ 1,051 ราย จังหวัดอื่นๆ (67 จังหวัด) 8,227 ราย และเรือนจำ/ ที่ต้องขัง 328 ราย
          ตายเพิ่ม264สะสม1.1หมื่นศพ
          วันนี้มีผู้เสียชีวิต 264 คน เสียชีวิตสะสม 11,049 คน รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 ทั้งหมด 11,143 คน  รายงานระบุอีกว่า ผู้เสียชีวิต 264 คนนั้น แบ่งเป็น ชาย 145 คน หญิง 119 คน เป็นคนไทย 261 คน เมียนมา 3 คน อายุน้อยสุด 21 ปี มากสุด 100 ปี โดยจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 176 คน น้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 55 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 31 คน ตั้งครรภ์ 1 คน  ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรง โดยเฉพาะ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคอ้วน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ยังคงติดจากคนในครอบครัว
          กทม.ยังตายที่1วันเดียว111คน
          ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต ที่บ้าน 1 ราย และเสียชีวิตระหว่างนำส่ง โรงพยาบาลอีก 1 ราย โดย กทม.ยังมี ผู้เสียชีวิตสูงสุด 111 คน รองลงมา ปทุมธานี 18 คน สมุทรสาคร 17 คน สมุทรปราการ 16 คน ลพบุรี 11 คน นครปฐม สระบุรี 10 คน ชลบุรี 8 คน เป็นต้น ส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางจาก ต่างประเทศ 8 ราย แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกา เมียนมา กัมพูชา ประเทศละ 2 ราย ส่วนอิสราเอล มาเลเซีย ประเทศละ 1 ราย โดยผู้ที่มาจากมาเลเซียเป็นการลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ
          10จว.ตายสูงสุด-กทม.สะสม4พัน
          รายงานระบุต่ออีกว่า สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด อันดับ 1.กรุงเทพมหานคร 3,821 ราย 2.สมุทรปราการ 984 ราย 3.สมุทรสาคร 872 ราย 4.ชลบุรี 762 ราย 5.นนทบุรี 587 ราย 6.ราชบุรี 464 ราย 7.นครราชสีมา 452 ราย 8.นครปฐม 381 ราย 9.พระนครศรีอยุธยา 376 ราย และ 10.ฉะเชิงเทรา 357ราย ขณะที่รายงานจำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 28 สิงหาคม รวม 30,679,289 โดส จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 22,807,078 ราย และ เข็มที่ 2 สะสม 7,287,885 ราย เข็มที่ 3 สะสม 584,326 ราย
          ผู้ป่วยเหลือง-เขียวครองเตียงลดลง
          ด้านนพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้ม ลดลง ส่งผลให้อัตราครองเตียงในกทม.และปริมณฑลเริ่มผ่อนคลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและเขียว โดยข้อมูล โรงพยาบาลบุษราคัม ล่าสุดถึงวันที่ 28 สิงหาคม มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษาทั้งหมด 1,905 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี ผู้ติดเชื้อ 3,526 ราย ถึงร้อยละ 54 ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร พบอัตราครองเตียงล่าสุด 94 ราย ในจำนวนนี้เป็น ผู้ป่วยสีเขียว 54 ราย สีเหลือง 34 ราย และสีแดง 6 ราย
          ตจว.ยังระบาดเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง
          สำหรับสถานการณ์ระบาดในภูมิภาค นพ.เกียรติภูมิเผยว่า สถานการณ์ในภูมิภาคยังคงพบระบาดภายในชุมชน สถานประกอบการ ตลาด แคมป์คนงาน ได้กำชับให้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบแยกกักตัวที่บ้านและชุมชน  เพื่อลดการกระจายเชื้อสู่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การติดเชื้อยังคงพบจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว นำเชื้อแพร่สู่กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจนทำให้ เสียชีวิต จึงได้เน้นย้ำให้เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากมีรายงานพบติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และ เสียชีวิตมากกว่าปกติ 2.5 เท่า และเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายพื้นที่สีแดงเข้มครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ส่วนจังหวัดที่เหลือมากกว่าร้อยละ 50
          ไทยฉีดวัคซีนแล้ว30.6ล้านโดส
          สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดยอดจนถึงวันที่ 28 สิงหาคม ฉีดวัคซีนสะสม 30,679,289 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22,807,078 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 7,287,885 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 584,326 โดส อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขมีมติมอบให้กรมควบคุมโรคพิจารณาแผนฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคคลทั่วไปและการกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งกรมควบคุมโรคจะได้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอที่ประชุมภายในสัปดาห์นี้ และเตรียมกระจายวัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดสไปยังพื้นที่ภูมิภาค
          ดีเดย์กย.-ตค.ฉีดเข็ม3ให้ปชช.3ล้านคน
          ขณะที่นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการจัดหาและฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทั่วไปว่า  สำหรับวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ของประชาชนทั่วไป อนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน โควิด-19 มีมติให้เริ่มฉีดช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคมที่จะถึงนี้ ส่วนจะเป็นวัคซีนใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์วัคซีนที่เรามีในขณะนั้น ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ
          นอกจากนี้ ในที่ประชุมอนุกรรมการติดตามกำกับการทำงาน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะเน้นย้ำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ควบคุมแคมป์ การ เฝ้าระวัง การจัดทีมปฏิบัติการเชิงรุก หรือ ซีซีอาร์ ทีม (CCR Team) ให้ต่อเนื่อง ด้วย
          เน้นบูสเตอร์คนฉีดซิโนแวคแล้ว2เข็ม
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัคซีนเข็มที่ 3 ที่จะใช้ฉีดให้บุคคลทั่วไปนั้น เบื้องต้นจะเป็นแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ เนื่องจากช่วงดังกล่าววัคซีนทั้งสองยี่ห้อมีปริมาณมากพอ ทั้งนี้ ใน 3 ล้านคนของ ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มีแนวโน้มว่าจะเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มานาน ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนแล้ว
          รอดู1เดือนติดเชื้อลดคลายมาตรการเพิ่ม
          นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิดของไทยเริ่มชะลอตัว  ล่าสุด ศบค.เห็นชอบผ่อนคลายกิจกรรมบางส่วน เช่น นั่งรับประทานอาหารในร้าน สำหรับห้องปิด มีเครื่องปรับอากาศอนุญาตนั่งได้ร้อยละ 50 ของความจุพื้นที่ สำหรับร้านเปิดโล่งอนุญาตที่ร้อยละ 75  ซึ่งยังไม่มีการปรับพื้นที่สี ยังคงยึดใน 29 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  ส่วนมาตรการอื่นยังต้องเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะการทำงานจากที่บ้าน ก็ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือต่อเนื่องอีกสัก 1 เดือน เพื่อพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าลดลงในระดับใด หลังจากนั้น จึงจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการอื่นเพิ่ม และที่สำคัญคือ ทุกคนต้องปฏิบัติมาตรการ Universal Prevention for COVID-19 ด้วยการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด "คิดเสมอว่า คนใกล้ตัวอาจเป็นคนติดเชื้อและเราเองก็อาจเป็นคนแพร่เชื้อได้ ดังนั้น ต้องเข้มงวดมาตรการ DMHTT ต่อเนื่อง และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
          กิจการผ่อนปรนต้องตรวจATKต่อเนื่อง
          นอกจากนี้ มาตรการองค์กรต่างๆ ก็ต้องเพิ่มในเรื่องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจเร็ว แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค องค์กรต่างๆ ที่เริ่มผ่อนคลาย ต้องดูเรื่องสถานที่ ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยเฉพาะร้านอาหารที่ติดแอร์ รวมถึงพนักงานต้องฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน และตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดเอทีเคอย่างสม่ำเสมอ ช่วงแรกนี้ยังไม่บังคับ เพราะการกระจายเอทีเคยังไม่ทั่วถึง แต่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เชื่อว่า หลายฝ่าย ไม่ว่าจะสมาคมภัตตาคารไทย ร้านค้า ก็ยินดีร่วม และเดือนหน้าจะมีเอทีเค มากขึ้น โดยสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานการดำรง ชีวิตของคนไทยต่อไป" นพ.โอภาส กล่าว
          กระจายชุดATKให้ปชช.ตรวจเชิงรุก
          นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามเป้าหมาย กลยุทธ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ศบค.เห็นชอบคือ มาตรการ COVID Free Setting ซึ่งต้องทยอยฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่กำหนด ประชาชนต้องใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดตลอดเวลา หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการองค์กรเพื่อป้องกันการติดจำนวนมาก และตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งจากนี้ไปจะมีการตรวจด้วยตนเองจำนวนมาก โดยผู้ที่เสี่ยงมากตรวจทุก 3-5 วัน และผู้ที่เสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องตรวจให้ถูกต้อง แปลผลถูกต้อง เพื่อดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม เช่น หากผลบวก ให้แยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือเข้าแยกกักที่ชุมชน (Community Isolation) หากผลเป็นลบต้องตรวจซ้ำ 3-5 วันหรือมีอาการ และจัดการขยะติดเชื้อได้เหมาะสม
          อบรมอสม.ทั่วปท.สอนปชช.ใช้ATK
          ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงจัดฝึกอบรม อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ อสม.นักวิทย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและสอนวิธีใช้งานชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองให้ประชาชน และร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดอบรมการใช้ ATK ที่ถูกต้องให้พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 2,000 แห่ง  โดยสอนจัดการขยะติดเชื้อ ช่วยแปลผล ให้คำแนะนำช่วยลงผลตรวจ และช่วยประสานระบบการดูแลรักษา รวมถึงสามารถดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาล (รพ.) วางแผนเข้าถึงชุดตรวจของประชาชน ช่วยแจกจ่ายชุดตรวจ สนับสนุนการเฝ้าระวังในพื้นที่ คัดกรอง ผู้ติดเชื้อในชุมชน และช่วยติดตามการตรวจหรือต่อเนื่องในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม มีการนำร่องฝึกอบรมโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 จ.พิษณุโลกแล้ว และจะขยายการฝึกอบรม อสม.นักวิทยาศาสตร์ 5,000 คนทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 ศูนย์
          นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กระบวนการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ให้ความรู้ ทั้งแนวทางและข้อควรระวังการใช้ชุดตรวจ ATK วิธีใช้ชุดตรวจด้วยตนเอง การอ่านและแปลผล การลงข้อมูลผลตรวจ การปฏิบัติตนหลังทราบผล การสวมและถอดชุดป้องกันส่วนบุคคล และการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยประเมินความรู้เบื้องต้น โดยแบบทดสอบ และ 2.ฝึกปฏิบัติภาคสนาม ทั้งในพื้นที่ตลาดสด และชุมชน ฝึกให้ ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนในชุมชน เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ร่วมตรวจ ATK ในกลุ่มเปราะบาง ฝึกลงข้อมูลผลตรวจในแอปพลิเคชั่น ประเมินทักษะโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และยังมีการจัดทำคู่มือเพื่อประกอบการดำเนินงานให้แก่ อสม.ด้วย
          ปชช.ต้องการวัคซีนประสิทธิภาพสูง84%
          น.ส.พรพรรณ  บัวทอง  นักวิจัยสวน ดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเปิดเผยว่า สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนกรณีความต้องการของคนไทย ในยุคโควิดกลุ่มตัวอย่าง 1,510 คน ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคมพบว่า ความต้องการอันดับ 1 ของประชาชนปัจจุบันคือ การมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน ร้อยละ 84.12  โดยความหวังที่คิดว่าน่าจะสมหวังคือ การได้รับถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม ร้อยละ 67.44 ความหวังที่คาดว่าน่าจะ ผิดหวังคือ รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา  ร้อยละ 90.64 ตัวช่วยที่ประชาชนฝากความหวังมากที่สุด คือ ตนเอง ร้อยละ 68.39
          จี้รบ.เร่งคุมระบาด-ซื้อวัคซีนคุณภาพ
          "ภาพรวมความต้องการของประชาชนวันนี้คือ อยากให้รัฐบาลเร่งควบคุมสถานการณ์โควิดให้ได้โดยเร็ว ด้วยการนำเข้าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะมองว่าวัคซีนจะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้  หากรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ปัญหาตามความต้องการของประชาชนครั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยฟื้นตัวจาก โควิดได้เร็วขึ้น" น.ส.พรพรรณ กล่าว
          ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปางกล่าวเพิ่มเติมว่า  จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือ กระบวนการบริหารจัดการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.ป้องกัน ประชาชนต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และฉีดครบ 100% 2.ดูแลรักษา ต้องการการดูแลรักษาที่เท่าเทียม และให้ความสำคัญบุคลากรด่านหน้า และ 3.ฟื้นฟู ต้องการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้า
          ปชช.ผิดหวังการแก้ปัญหาภาครัฐ
          อย่างไรก็ตาม  ผลสำรวจความคิดเห็นสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ประชาชนสมหวังเป็นเพียงแจกจ่ายสิ่งของและเงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ก็มาจากภาคประชาชนด้วยกันเอง ประชาชนจึงผิดหวังการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ขาดความจริงใจ และไม่รับฟังความคิดเห็น ประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภาครัฐจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้มากที่สุด เริ่มจากความจริงใจ รับฟังความคิดเห็น มีแผนที่ชัดเจนทั้งป้องกัน ดูแลรักษา และแผนฟื้นฟู สื่อสารไปยังประชาชนได้เข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง
          หายป่วยมากกว่าติดเชื้อสัญญาณดี
          นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีสัญญาณดีขึ้น ยอดผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านได้อยู่ที่สองหมื่นกว่ารายติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 วันแล้ว และจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านนั้นมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 10 กว่าวันแล้วด้วย ถือเป็นข่าวดี  ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขยังสูงอยู่ เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายรวดเร็ว แต่แนวโน้มระยะยาวน่าจะค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ ศบค.เห็นชอบกับแผนการที่เรียกว่าการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด หรือ "Smart Control and Living with COVID-19" ด้วยการยกระดับป้องกันตัวเองสูงสุด การฉีดวัคซีนให้เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ การเข้าถึงชุดตรวจ ATK การจัดสภาพแวดล้อมของกิจการให้ปราศจากโควิด (COVID-Free Setting)
          แผนจัดหาวัคซีนสิ้นปี'64ได้140ล้านโดส
          นายธนกรกล่าวอีกว่า ตามแผนจัดหา วัคซีน ภายในสิ้นปีนี้จะมีวัคซีน 140 ล้านโดส นอกจากนี้ รัฐบาลยังเจรจาสั่งซื้อวัคซีนจากแหล่งต่างๆ เพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนทั่วถึง ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดหาวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี เพื่อสร้างภูมิให้พร้อมเปิดเรียนด้วย ซึ่งตอนนี้ศบค.นำมาตรการ Sandbox Safety Zone in School เป็นการทดลองเปิดเฉพาะโรงเรียนประจำบางแห่ง
          ฉีดครูแล้ว5.7แสนเร่งฉีดนร.4ล้านคน
          ทั้งนี้ ปัจจุบันฉีดวัคซีนให้ครูแล้วกว่า 573,656 คน และยังคงมีนักเรียนในระบบอีก ประมาณ 4 ล้านคน จากการประเมินของกระทรวง สาธารณสุข คาดว่าสิ้นปีนี้ ไทยจะได้รับวัคซีน รวมทุกประเภท 140 ล้านโดส โดยเร่งเดินหน้า ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกคนตามเป้า 50 ล้านคน ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งบุคลากรการศึกษา กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยให้เร็วที่สุด สอดคล้องกับวัคซีนที่ไทยมีอยู่
          ย้ำยกระดับป้องกันตัวครอบจักรวาล
          "ต้องขอบคุณคนไทยทุกคนที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ทั้งสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ต้องตระหนักว่าเชื้อโควิดเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ระบาดกว้างขวาง แพร่กระจายเชื้อเร็ว ไม่ใช่เพียงไทย แต่เป็น วิกฤตทั่วโลก บางคนติดแล้วไม่แสดงอาการ ทำให้ไปติดครอบครัวได้ง่าย จึงขอให้คิดเสมอว่า เราอาจติดเชื้อแบบไม่รู้ตัว และอาจเป็นผู้แพร่เชื้อได้ ดังนั้น ขอให้ทุกคนยกระดับ ป้องตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ต้องระมัดระวังสูงสุด ออกจาก บ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัว ทานอาหารปรุงสุก หากพบว่าตนเองเสี่ยงต้องรีบตรวจด้วย ATK  ขอให้ทุกคนอดทน เพื่อช่วยลดโอกาสติดเชื้อเพิ่ม นำไปสู่การฟื้นฟูประเทศต่อไป" นายธนกร กล่าว

 pageview  1204270    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved