Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 21/07/2564 ]
โควิดทำคนไทยอยากเลิกสูบบุหรี่มากขึ้นเหตุหวั่นติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงถึงตาย

  เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ "เข้าพรรษายุคโควิด เลิกเสพติดบุหรี่ด้วยสายเลิกบุหรี่ 1600" โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่มีลดลง โดยข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 คนไทยสูบบุหรี่ลดลงเหลือร้อยละ 17.4 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 19.1 ในปี 2560
          ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการ ในปี 2562 มีคนไทยที่เสียชีวิตจากบุหรี่ถึง 70,952 คน และเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 9,435 คน ซึ่งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 15 ของ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศทั้งหมด ในสถานการณ์ การระบาดโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ปรับแผน การทำงาน โดยให้ความสำคัญการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม ออนไลน์ในการให้ความรู้ การณรงค์สังคม ให้ลด ละ เลิกยาสูบ และสิ่งเสพติดต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ค เว็บไซต์ ยูทูบ และซูม
          น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงการแพร่ระบาด ของโควิด-19 อยากเชิญชวนผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ ใช้โอกาส ในช่วงเข้าพรรษาที่กำลังจะมาถึง เป็นวันเริ่มต้นที่ตัดสินใจเลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และเตรียมพร้อมรับการฉีดวัคซีน ซึ่งมีข้อมูลจากหลายประเทศยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มี ประวัติการสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงที่อาการของโรคจะรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญคนสูบบุหรี่เมื่อได้รับวัคซีนโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้น้อยกว่าคนไม่สูบ
          "เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรเลิกสูบบุหรี่ก่อนได้รับวัคซีน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันและปอดฟื้นฟูกลับมาทำงานได้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังช่วยลดควันบุหรี่มือสองที่อาจกระทบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะคนในครอบครัว คนที่เรารัก โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่จากสายเลิกบุหรี่ 1600" น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
          ด้าน รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายเลิกบุหรี่ 1600) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีประชาชนขอรับปรึกษาเลิกบุหรี่กับสายเลิกบุหรี่ 1600 จำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่า กลัวการติดเชื้อโควิด-19 จากเดิมที่เหตุผลของการโทรมาปรึกษาคือ เลิกเพื่อสุขภาพ และเลิกสูบเพื่อคนรอบข้าง สะท้อนว่าประชาชนให้ความสำคัญต่อการระบาดของโควิด-19 โดยขณะนี้สายเลิกบุหรี่ 1600 ได้ปรับแผนการทำงานเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
          โดยเพิ่มเวลาให้บริการตั้งแต่ 09.00-23.00 น. เนื่องจากพบว่าช่วงเวลาบ่ายและค่ำ เป็นช่วงที่มีการโทร.เข้ามาขอคำปรึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ได้เพิ่ม ช่องทางการติดต่อทางแอปพลิเคชั่นไลน์ เฟชบุ๊ค แฟนเพจ เว็บไซต์ และศูนย์บริการเลิกบุหรี่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง การบริการอย่างเต็มที่ นอกจากให้ความรู้เรื่องยาสูบแล้ว ยังสามารถให้คำปรึกษาการสูบบุหรี่ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ด้วย โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ได้ฟรี ทุกเครือข่าย
          "การสูบบุหรี่มีผลโดยตรงกับโควิด-19 เนื่องจากบุหรี่จะ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระบบหายใจ ไม่แข็งแรง หากผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ติดโควิด-19 มีโอกาสสูงที่อาการจะทรุดหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต คนที่สูบบุหรี่ เนื้อปอดจะถูกทำลาย ถ้าสูบบุหรี่หนักและสูบมานาน เสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมในปอดถูกทำลาย หากติดโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาในระบบ ทางเดินหายใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นยิ่งเลิกสูบบุหรี่ได้เร็ว จะปลอดภัยต่อสุขภาพ และโอกาสเสี่ยงติดโควิด-19 น้อยลง หรือหากติด โควิด-19 แล้ว โอกาสที่อาการรุนแรงจะน้อยลง รวมถึงการเสียชีวิตน้อยลงตามไปด้วย" รศ.ดร.จินตนา กล่าว
          รศ.ดร.จินตนา ยังกล่าวอีกว่า อยากให้ประชาชนมีความตื่นตัว และเห็นว่าการเลิกบุหรี่ทำได้ เป็นไปได้ แต่สิ่งที่จะต้องสู้กันคือเรื่องของความเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดช่วยเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ บุหรี่ทุกชนิดสามารถเลิกได้ หากได้รับคำปรึกษาที่ ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่สำหรับคนที่ติดบุหรี่หนัก หรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพ จำเป็นต้องใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่

 pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved