Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 22/07/2564 ]
แพทย์เผยกักตัว 14 วันอย่างไร ไม่เบื่อ ไม่เครียด

การต้องอยู่กับโรคระบาด ร้ายแรงอย่างโรคโควิด-19 มาเป็นเวลากว่า 1 ปี นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ทั้งความวิตกกังวลจากการติดเชื้อ การเข้าถึงระบบการรักษา การต้องทำงานที่บ้าน การขาดรายได้หรือ มีรายได้ลดลง รวมถึงการต้องกักตัว ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเหมือนปกติ อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมจนอาจลุกลามเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงได้ในที่สุด
          นพ.พรรษ กรรณล้วน สาขาจิตเวชศาสตร์ รพ.สมิติเวช แนะนำการดูแลใจ สู้ภัยโควิด-19 ว่าการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถทำได้เองทันที คือ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือสม่ำเสมอด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างน้อย 20 วินาที รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและแยกสำรับ รวมถึงการดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง
          การเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home (WFH) และการกักตัวในบ้านให้ห่างไกลจากโรค เป็นการควบคุม โดยจำกัดพื้นที่ในการใช้ชีวิตของแต่ละคน เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย ที่ไม่แสดงอาการในสถานที่ต่างๆ และระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ เมื่อต้องอยู่บ้านไประยะหนึ่งอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือความเครียดขึ้นได้
          วิธีแก้เบื่อ เมื่อต้องกักตัว 14 วัน หรือ ทำงานที่บ้าน (Work from Home)
          จัดเวลาทำงาน ตั้งเวลาทำงานให้ตรงกับเวลาที่เคยทำในออฟฟิศ ทั้งเวลาเข้างาน พักกลางวัน และเลิกงาน เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้คนในครอบครัวไม่รบกวนเวลาทำงาน
          จัดเวลาและช่วยกันทำงานบ้าน โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ต้องเรียน ออนไลน์อยู่ที่บ้าน ควรมีหน้าที่รับผิดชอบ งานบ้านง่ายๆ ถือเป็นกิจกรรมแก้เบื่อที่ได้ประโยชน์
          จัดเวลาทำงานอดิเรกที่ชอบ สามารถทำได้คนเดียวหรือร่วมกันทำทั้งครอบครัว งานบางอย่างอาจเพิ่มรายได้ หรือสามารถช่วยเหลือ คนในสังคม เช่น การทำอาหารแจกเพื่อนบ้าน การเย็บหน้ากากผ้า และการทำคอนเทนต์ในโซเชียล มีเดียเพื่อให้กำลังใจหรือความรู้แก่คนทั่วไป
          จัดเวลาสลายไขมัน เพิ่มตารางออกกำลังกาย 15-30 นาทีต่อวัน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค
          จัดเวลาหาความรู้เพิ่มเติม ปัจจุบันทำได้ง่ายผ่านโลกออนไลน์ เช่น ความรู้ช่วยป้องกันโรคระบาด การช่วยเหลือผู้อื่น การฝึกทำอาหาร การซ่อมแซมบ้านและการเรียนภาษาเพิ่มเติม เป็นต้น นอกจากจะแก้เบื่อแล้วยังอาจเป็นประโยชน์ในอนาคต
          การกักตัวแบบไม่เครียด
          ติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ กับบุคคลภายนอก ทั้ง ผู้ร่วมงาน ครอบครัว คนรัก รวมถึงแพทย์ พยาบาลที่ดูแลในกรณีมีโรคประจำตัว เพื่อลดความคิดถึง คลายเครียด และลดความวิตกกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ
          ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์หรือหมกมุ่นจนเกินไป เสพข่าวแต่พอดีจากข้อมูลที่เชื่อถือได้เท่านั้น
          ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและ จิตใจให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่คลายเครียด ด้วยการสั่งอาหารที่มีไขมันสูง หรือวิตกกังวลจนหมกมุ่นกับการรับประทานอาหารเสริมที่ไม่ได้รับการรับรองโดย ผู้เชี่ยวชาญ
          ตรวจสอบอาการทางร่างกายและจิตใจสม่ำเสมอ ปรึกษาแพทย์ในกรณีที่เกิดความวิตกกังวลมากจนนอนไม่หลับ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
          ใช้ชีวิตอย่างปกติและมีคุณค่า รับผิดชอบและทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หาเวลาพักผ่อนกับกิจกรรมที่ชอบโดยไม่ต้องออกนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี วาดภาพ ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง
          ฝึกรับรู้และยอมรับเมื่อวิตกกังวลหรือรู้สึกลบ ไม่จำเป็นต้องพยายามปรับให้เป็นบวกในทันที ควรอยู่บนพื้นฐานความจริง โดยคิดว่า มีข่าวร้ายก็ต้องมีข่าวดีอยู่บ้าง สิ่งสำคัญ ไม่ควรรู้สึกผิดหวังในตัวเองที่มี ความเครียด
          ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น กรณี รายได้ลดลง ตกงาน หรือมีบุคคลใกล้ชิด ติดเชื้อ อย่าตำหนิหรือรู้สึกผิดโทษ ตัวเอง เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนทั่วโลกก็เผชิญปัญหาเช่นกัน และเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
          ชะลอการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ ขณะที่มีความเครียด ไม่ควรตัดสินใจทำอะไรในทันทีโดยเฉพาะ เรื่องสำคัญ เช่น การลาออกจากงาน การย้ายที่อยู่ การขายบ้าน การหย่าขาดจากคู่สมรส เนื่องจากจิตใจไม่มีความมั่นคงจากภาวะท้อถอย หมดหวัง ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย ควรประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปทีละขั้นตอน
          ลองใช้ชีวิตให้ช้าลง ตั้งรับว่าการระบาดของโควิค-19 ยังคงจะดำเนินไปอีกสักช่วงเวลาหนึ่ง ตื่นเช้าด้วยการจิบกาแฟ รับประทานอาหารเช้า ปรุงเอง พูดคุยกับคนในครอบครัว ฟังเพลง ชื่นชมต้นไม้ เตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจก่อนฟังข่าวสารและเริ่มทำงาน
          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่สร้างความเครียดมากที่สุด คือ ความวิตกกังวลจากการติดเชื้อ การรักษา และความรุนแรงของโรค รวมถึงการที่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ และเราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนในอดีตได้อีกหรือไม่ จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อไหร่ ดังนั้น ควรใช้ชีวิตให้ปกติ แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ ไม่ปกติ ด้วยการทำงานที่บ้าน หรือกักตัว อยู่บ้านแบบไม่เครียด และจัดการแบ่งเวลาเพื่อทำกิจกรรมแก้เบื่อ คลายเหงา คลายเครียด ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงการปฏิบัติตามระเบียบข้อปฏิบัติของภาครัฐอย่างเคร่งครัด

 pageview  1205117    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved