Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 03/11/2563 ]
ห่วงโรคRSVระบาดหนักหลังเปิดเรียนเต็มรูปแบบ

 "ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ" ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เป็นห่วงสถานการณ์โรค RSV ระบาดหนักในเด็กเล็ก พบมากในเด็กอนุบาล หลังมีการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ต้องรักษาตามอาการ
          เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Yong Poovorawan เรื่อง RSV (Respiratory Syncytial Virus) RSV ยังพบมีการระบาดอย่างมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สายพันธุ์ที่พบในปีนี้เป็น RSV-A ทั้งหมด ซึ่งต่างกับ ปีที่แล้ว พบทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ A และ B
          สายพันธุ์ย่อยของ A ที่พบจะเป็น ON1 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้แล้ว เป็นอีกได้ จึงไม่แปลกที่เมื่อปีที่แล้วเป็น ปีนี้ก็มีโอกาสเป็นได้อีก
          การระบาดเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ โดยพบมากในเด็กอนุบาล ตั้งแต่เดือนกันยายนมาจนถึงปัจจุบัน แนวโน้มของโรคยังไม่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับทุกปี ปีนี้จะมีการระบาดช้ากว่า
          อาการสำคัญคือมีไข้และอาการของระบบทางเดินหายใจ ในเด็กที่มีอาการมากจะมีอักเสบของหลอดลม ทำให้หายใจเร็วหรือหอบ ในเด็กเล็ก ที่น้อยกว่า 1 ปีหากมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วยได้
          โรคนี้ไม่มียารักษา จะรักษาตามอาการ หายได้เอง ปัจจุบันไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การป้องกันดีที่สุด คือดูแลเรื่องสุขอนามัยในเด็กเล็ก การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่มีความจำเป็นเพราะเกิดได้กับ ทุกวัยแต่ในเด็กเล็กจะมีอาการมาก ทุกคนดูแลตัวเองจะป้องกันไม่ให้นำเอาเชื้อโรคไปสู่เด็กเล็ก
          การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้น ในโรงเรียนอนุบาล เด็กที่ป่วยหรือ ไม่สบายเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ไม่ควร ไปโรงเรียน เด็กอนุบาล ที่อยู่รวมกัน ดูแลสุขอนามัย สถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี ทำความสะอาดเครื่องใช้ของเล่นอยู่เป็นนิจ ถ้ามีการระบาดหรือมีผู้ป่วยหลายรายควรปิดชั้นเรียน

 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved