Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 11/11/2563 ]
อย. ต้องแม่นยำ และทำงานเชิงรุก

    1.สำหรับการแก้ไขความยากจนด้วยการสร้างรายได้ของเกษตรกรนั้น วิธีการหนึ่งที่สำคัญ คือ การแปรรูปผลผลิต ทางการเกษตร ให้เป็นอาหารที่ขายได้มูลค่าสูงมากกว่าการขาย แบบผลผลิตดั้งเดิม เช่น ปลูกกล้วยน้ำว้า ถ้าขายกล้วยน้ำว้า ก็จะขายได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้านำกล้วยน้ำว้าไปแปรรูปเป็นกล้วยชิป (กล้วยแผ่นบางทอดกรอบปรุงรส) คล้ายมันฝรั่งทอด ก็สามารถขายได้ราคาที่สูงกว่า และยิ่งไปกว่านั้น กล้วยทอดกรอบเมื่อบรรจุใส่ถุงปิดสนิท ก็สามารถเก็บไว้ได้ นานขึ้น ทำให้มีเวลาในการขายที่ยาวนานขึ้น ที่สำคัญ เหมาะแก่การขนส่งไปขายในพื้นที่ไกลๆ อย่างต่างประเทศได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกล้วยน้ำว้าที่ตกขนาด เช่น ขนาดเล็ก ลูกไม่สวย ขายสดไม่ได้ราคา ก็สามารถนำมาทำกล้วยทอดกรอบได้ และขายดี ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียรายได้จากการได้กล้วยน้ำว้าขนาดเล็ก เป็นต้น
          กระนั้น เมื่อสามารถแปรรูปจากกล้วยน้ำว้าสด ให้กลายเป็นกล้วยทอดกรอบปรุงรสแล้ว จะสามารถนำไปขายสร้างอาชีพได้ทันที เกษตรกรที่ขยับเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ เหล่านั้นยังต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่พวกเขาจะนำเอามาขายสร้างรายได้เสียก่อน เพราะ อย. มีหน้าที่ตามกฎหมายให้ดูแล "ความปลอดภัย" ของอาหารและยา ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าใดๆ ที่จะนำออกมาขาย ไม่ว่าจะเป็น ประเภทอาหารหรือยา จึงต้องได้รับการอนุญาตในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยจาก อย. เสียก่อน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นประเด็นความไม่เข้าใจกัน สำหรับเกษตรกร และ ผู้ประกอบการรายย่อย กับ อย. มาอย่างนมนาน
          2.นี่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นอาหาร แล้วไม่สามารถนำมาขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผมจึงตัดสินใจเข้าไปจัดการกับปัญหานี้ด้วยการเชิญ อย. มายังที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการทำงานของผม และเป็นฟันเฟือง หนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในรูปแบบของการใช้ องค์ความรู้ นวัตกรรม และการพาทำของผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร จากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานของรัฐ ภายใต้กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม
          ในช่วงแรกต้องยอมรับตามตรงว่า ผมประชุมร่วมกับ อย. 2-3 สัปดาห์ ผมไม่สามารถเข้าใจแนวคิด และ หลักการ รวมไปถึงวิธีการของพวกเขา ยกตัวอย่าง กะเพราไก่ ข้าวผัดกุ้ง ก็ไม่มีปัญหาในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ขายได้ แต่ถ้าอยากเพิ่มจุดขายให้แก่กะเพราไก่ หรือข้าวผัดกุ้ง ด้วยการผสมเห็ดถั่งเช่าลงไปเพื่อช่วยบำรุงร่างกาย ทาง อย. ก็จะไม่อนุญาตให้ขาย เพราะไม่ทราบได้ว่าถั่งเช่าที่ใส่ลงไปในอาหารปลอดภัยกับประชาชนหรือไม่ เราเรียกอาหารในรูปแบบนี้ว่า "อาหารใหม่" (Novel Food) ซึ่งถ้าอยากได้การรับรองจาก อย. ก็ต้องไปหาทางพิสูจน์ให้ได้ว่า ถั่งเช่าที่ใส่ลงไปในอาหารนั้นปลอดภัย ไม่มีสารที่ออกฤทธิ์เป็น "พิษ" (Toxicity) ต่อผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นคำถามขึ้นมา ว่า แล้วแม่ค้าขายอาหารจะไปทำงานวิจัยเรื่องถั่งเช่าที่ใส่ลงไป ในอาหารแล้วไม่มีอันตรายได้อย่างไร นี่เองที่ทำให้อาหารที่ขาย จึงขายกันตามที่เป็นมา ไม่มีการเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าให้แก่อาหาร เพราะกระบวนการได้มาซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยที่ อย. จะให้ไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องเช่นนี้
          3.อีกเรื่องที่เป็นปัญหาในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยจาก อย. อันเกี่ยวเนื่องจากการแปรรูปผลผลิต นั่นคือ การออกแบบสถานที่สำหรับการแปรรูป เพราะ อย. ต้องการความปลอดภัย ดังนั้น กระบวนการผลิตอาหารจึงต้องมีความปลอดภัยในทุกขั้นตอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งการออกแบบ การควบคุมเส้นทางการเคลื่อนที่ วัตถุดิบ อุปกรณ์ กำลังคน ฯลฯ ทั้งหมดต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการปนเปื้อนเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย จึงไม่สามารถได้รับมาตรฐานความปลอดภัยจาก อย. ได้โดยง่าย และบางคนที่ลงทุนกับอาหารเหล่านั้นไปแล้ว แต่ไม่สามารถขายได้ ก็จะเกิดปัญหาตามมา
          ปัญหาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า มาจาก "ความไม่รู้"ของทั้งสองฝ่าย ทางเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย พวกเขาไม่เข้าใจมาตรฐานต่างๆ ของทาง อย. (เป็นเรื่องถูกต้องที่ทาง อย. ไม่สามารถประนีประนอมในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคได้) และไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะให้ผ่านเกณฑ์เหล่านั้นได้ โดยที่พวกเขาก็ยอมรับและเห็น ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นสำคัญ
          เช่นเดียวกับ อย. พวกเขาก็ไม่ทราบในข้อจำกัดของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ตั้งแต่เรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการตรวจสอบความปลอดภัยของวัตถุดิบก่อนแปรรูป ไปจนถึงข้อจำกัดของทุนและความสามารถในการแก้ปัญหาให้ได้ตามเกณฑ์ของ อย. นี่เป็นช่องว่างที่กว้าง มากๆ ระหว่าง อย. กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ผมและคณะกรรมาธิการวิทย์ อาสารับหน้าที่บีบช่องว่างตรงนี้ให้แคบลงด้วยการชักชวนเจ้าหน้าที่ของ อย. ลงไปในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อพบกับเกษตรกรและผู้ประกอบการ รายย่อยจริงที่จังหวัดสกลนคร กระบี่ และจันทบุรี
          4.และจากการลงพื้นที่ที่ผ่านมา ผมเห็นว่าความเข้าใจ ต่อกันทั้ง อย. และเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อยมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยทั้งสองฝ่ายทราบความเป็นจริงในข้อจำกัดของกันและกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าพวกเราทั้งหมดจะหากระบวนการที่เหมาะสมในการแปรรูปอาหารอย่างปลอดภัยจนได้ใบอนุญาตจาก อย. เกิดขึ้นมาได้ในที่สุด เพราะเมื่อทั้งสองฝ่ายมองเห็นปลายทาง ที่จะไปด้วยกันแล้ว การปรับตัวเพื่อสร้างกระบวนการที่อำนวยความสะดวกอย่างสมบูรณ์ร่วมกัน ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ยากอีกต่อไป
          และคิดดูว่า ถ้าต่อไป อย. สามารถทำงานเชิงรุกเช่นนี้ ได้ในทุกๆ พื้นที่ ประเทศไทยของเราก็จะมีอาหารแปรรูปจากท้องถิ่นที่มีความปลอดภัยเกิดขึ้นมามากมาย และ นั่นหมายถึงการสร้างอาชีพมากมายในแต่ละจังหวัด การยกระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้าน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นความหวังของประเทศด้วยอาหารและการแปรรูป นี่คืออนาคตของประเทศไทย และเป็นสิ่งที่ ผมทำได้ และได้เดินหน้าทำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 pageview  1205008    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved