Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 21/08/2562 ]
ดูแลดวงตา...ห่างไกลภัยแสงใกล้ตัว

  ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ 
          ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
          ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวไปไม่หยุดนิ่งและเข้ามามีบทบาทในชีวิต ไลฟ์สไตล์ของเราจึงเปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือแม้กระทั่งสมาร์ทโฟน ก็กลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน สังคม ความบันเทิง หรือแม้กระทั่งการซื้อขายสินค้าและการใช้บริการต่างๆ แต่หลายคนมักลืมไปว่าการใช้สายตาจ้องมองหน้าจอจากอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเวลานานๆ จะส่ง ผลเสียต่อดวงตาโดยไม่รู้ตัว
          ตามสถิติพบว่า พฤติกรรมการติดจอ นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อมแล้ว ยังส่งผลให้ดวงตาเกิดอาการตาล้า ตาเบลอ ตาพร่า หรือตาแห้ง เนื่องจากการเพ่งหน้าจอนานๆ ทำให้มีการกะพริบตาลดน้อยลงจากปกติที่ควรจะกะพริบตา 10-15 ครั้ง ต่อนาที เป็นที่น่าวิตกว่า จากการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานหรือ Gen Y คือ คนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2524-2543 มีปริมาณการใช้อินเตอร์เนตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนช่วงอายุอื่นๆ โดยมีการใช้อินเตอร์เนตโดยเฉลี่ย 7.6 ชั่วโมงต่อวัน เลยทีเดียว รู้อย่างนี้แล้ว ควรหันมาสนใจดูแลดวงตากันก่อน โดยอย่าปล่อยให้ดวงตาอ่อนล้าและมีสัญญาณเตือน
          ข้อมูลจาก นพ.ธีรวีร์ หงส์หยกอาจารย์จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระจกตา และการผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลราชวิถี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดเผยว่า ในประเทศไทยสามารถพบอุบัติการณ์โรคทางดวงตา และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของคนในการใช้สายตา เปลี่ยนไป รวมทั้งการละเลยการดูแลดวงตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
          นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนทำงานเป็นกลุ่มคนที่เกิดอาการผิดปกติกับดวงตามากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการจ้องจอไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเลต และ Gadgets ต่างๆ ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 70 ของผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และพบได้มากขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี ทำให้เกิด Computer Vision Syndrome เกิดอาการผิดปกติ เช่น อาการล้าตา ตาแห้ง แสบตา แพ้แสงสู้แสงไม่ได้ ปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ ร่วมด้วย
          นอกจากนี้ แสงสีฟ้า (Blue Light) ซึ่งเป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูงจากจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเลต Gadgets ต่างๆ และรังสียูวีจากแสงแดดที่เข้าสู่ดวงตา ทำให้เกิดอนุมูลอิสระในเซลล์จอประสาทตา ทำให้เซลล์ค่อยๆ เสื่อมลง หากไม่ดูแลและปรับพฤติกรรมการใช้สายตา จะทำให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในที่สุด
          ในแต่ละปีศูนย์จักษุ รพ.ราชวิถีได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพทางตามากกว่า 100,000 ราย ทั้งนี้ยังมีผู้ป่วยด้อยโอกาสอีกจำนวนมากที่รอรับการรักษา ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนผ่านมูลนิธิรพ.ราชวิถี บัญชี SCB สาขา รพ.ราชวิถี เลขที่ 051-2-16322-1 หรือ www.rajavithifondation.com
          ข้อมูลจาก ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน คนไทยติดสมาร์ทโฟน มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จากการสำรวจพบว่าคนไทยมากถึงร้อยละ 98 ใช้เวลาตั้งแต่ตื่นนอนถึงก่อนเข้านอน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้น ดังนั้นนอกจากเราต้องปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตาอยู่หน้าจอแล้ว เราต้องรับประทานสารอาหารที่ช่วยดูแลดวงตาให้มีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงในการเกิดโรครวมทั้งอาการผิดปกติกับดวงตา
          ข้อแนะนำของ National Eye Institute สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การ รับประทาน ลูทีน 10 มิลลิกรัม ร่วมกับ ซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณ ที่เหมาะสมและปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เพราะช่วยทำหน้าที่กรองแสง ตลอดจน รังสีต่างๆ รวมทั้งแสงสีฟ้าที่ออกมาจากจออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งกับคนที่ทำงานโดยการใช้สายตาจ้องจอนานๆ หรือทำงานในที่ที่มีแสงจ้า ซึ่งร่างกายของเราไม่สามารถสร้างลูทีนและซีแซนทีนได้เอง จำเป็นต้องได้รับ จากอาหารที่เรารับประทานเท่านั้น และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นลูทีนและซีแซนทีน ในจอประสาทตาจะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ โดยลูทีนพบมากในหน่อไม้ฝรั่ง และ บร็อกโคลี่ ส่วนซีแซนทีนพบมากใน พริกหวานสีส้ม ข้าวโพด น้ำส้ม และองุ่นเขียว แต่เราต้องรับประทานผักและผลไม้เหล่านี้จำนวนมากเพื่อให้ได้รับลูทีนและซีแซนทีนที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยลูทีน 10 มิลลิกรัม ต้องรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง 1.1 กิโลกรัม หรือบร็อกโคลี่ 1.4 กิโลกรัม และซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม ต้องรับประทานพริกหวานสีส้ม 125 กรัม ข้าวโพด 400 กรัม น้ำส้ม 10 ลิตร หรือ องุ่นเขียว 33 กิโลกรัม ปัจจุบันอาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยมเพื่อให้ได้สาระสำคัญในปริมาณ ที่มีประสิทธิผลตามการศึกษาวิจัย และสะดวกกับคนทำงานที่ใช้ชีวิตรีบเร่งในแต่ละวัน
          นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นๆและวิตามินที่มีประโยชน์ ที่ช่วยดูแลสุขภาพดวงตา เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ดีเอชเอ และแอนโธไซยานิน เป็นต้น โดยเฉพาะ ผลไม้ที่มีสารพฤษเคมี เช่น แอนโธไซยานิน ที่พบได้ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักผลไม้ที่ให้วิตามิน เอ ซี อี สูง เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก เป็นต้น
          เราจึงควรดูแลและถนอมสุขภาพดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะจอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายดวงตา เช่น ทำงานหน้าจอที่มีแสงสีฟ้าจ้านานจนเกินไป หรือจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือนานๆ หากมีอาการตาล้า พร่า เบลอ หรือตาแห้ง อย่านิ่งนอนใจ นอกจากการรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตาแล้ว ควรปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตาอยู่หน้าจอ โดยใช้กฎ 20-20-20 คือทุก 20 นาที ควรละสายตาจากจอที่มีแสงสีฟ้าเช่นคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ผ่อนคลายสายตาด้วยการมองวัตถุอื่นๆ ที่ห่างออกไปประมาณ 20 ฟุต กะพริบตา ต่อเนื่องเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง รวมทั้งลุกขึ้นเดินไปรอบๆ บริเวณที่นั่งอยู่ประมาณ 20 ก้าว เพื่อสุขภาพดวงตา ที่ดีและยืดอายุดวงตาให้เสื่อมช้าลง เริ่มดูแลดวงตาตั้งแต่วันนี้ หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับดวงตาให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีและอยู่คู่เราไปอีกนานเพราะเรามีดวงตาเพียงคู่เดียวที่ต้องอยู่คู่เราไปตลอดชีวิต

 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved