Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 05/08/2562 ]
รู้ทัน ไข้เลือดออก โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน

"ไข้เลือดออก" เป็นโรคที่เกิด จากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมี "ยุงลาย" เป็นพาหะ โรคนี้จะระบาดอย่างหนักในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเป็นช่วงฤดูที่ยุงลายวางไข่ เมื่อยุงไปกัด ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส และไปกัดอีกคนหนึ่ง ยุงจะปล่อยเชื้อทางน้ำลาย ซึ่งเชื้อไวรัสนี้มี 4 สายพันธุ์ สามารถติดเชื้อในคนได้ 4 ครั้ง และหากเป็น 1 ครั้ง ร่างกายก็จะมีภูมิของสายพันธุ์นั้นๆ และถึงแม้จะเป็นโรคนี้แล้วก็มีโอกาสเป็นได้อีกจากสายพันธุ์อื่น
          มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-9 กรกฎาคม 2562 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้วประมาณ 44,671 ราย ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม มีผู้ป่วย 4,269 ราย คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าในปีนี้ความรุนแรงของการระบาดจะมากกว่าทุกปี โดยขณะนี้มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 62 ราย นับเป็นโรคอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตได้ทุกเมื่อ ทีมแพทย์จากกลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ กลุ่มโรงพยาบาลพิษณุเวช และโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด มีคำแนะนำวิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้น ว่ามีความเสี่ยงจากโรคไข้เลือดออกหรือไม่ หากโดนยุงกัด ดังนี้
          วิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้นเมื่อถูกยุงกัด สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก เริ่มต้นจะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดข้อ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน และอาจมีภาวะ เลือดออกหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งอาจเป็น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา หรือบางรายอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร สังเกตได้จากเมื่ออาเจียนออกมา เป็นเลือดหรือเป็นสีดำๆ
          ความรุนแรงของโรค เมื่ออาการ เริ่มรุนแรงขึ้นจะมีอาการปวดท้อง ปวดใต้ลิ้นปี่ ใต้ชายโครงอย่างรุนแรง มีเลือดออกมาก จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะช็อก นั่นคือ มีอาการปลายมือปลายเท้าเย็น กระสับกระส่าย หรือไข้ลดอย่างรวดเร็ว ความดันตก วัดชีพจรไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด
          แนวทางการรักษา หากมีไข้ขึ้นสูงภายในระยะเวลา 1-2 วัน แล้วไข้ยังไม่ลด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมีเลือดออกมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยในทันที โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือด ในบางรายที่ยังไม่แสดงเชื้อแพทย์อาจจะนัดตรวจซ้ำ หรือให้นอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาล และหาก 2-3 วันแล้วไข้ไม่ลด แพทย์จะเจาะเลือดซ้ำเพื่อตรวจหาเชื้อ และทำการรักษาต่อไป
          วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด โดยเฉพาะยุงลาย รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในบ้าน เช่น บริเวณที่มีน้ำขัง ฉีดพ่นหมอกควันไล่ยุง ปิดมุ้งลวด ใส่เสื้อแขนยาว ขายาว ทายาสำหรับป้องกันยุง
          วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ใช้ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ อายุ 9-45 ปี เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย หากแต่โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 65% โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอาจสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกีได้อีก จากการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะให้ผลดี ในผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว กล่าวคือ เคยติดเชื้อไปแล้ว 1 ครั้ง และมารับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ซึ่งการฉีดวัคซีนดังกล่าวควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหากไม่จำเป็นแพทย์จะไม่ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงกับ ผู้ที่รับวัคซีนได้
          ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออกกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน ไขมัน หัวใจขาดเลือด ไทรอยด์ หอบหืด โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวมาก จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครุนแรงได้มาก นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ก็จัดอยู่ในกลุ่ม เสี่ยงเช่นกัน หากจำนวนเชื้อไวรัส ในเลือดของคุณแม่สูง ก็สามารถ ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
          หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก หรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และ 2 (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ (จังหวัดอุตรดิตถ์) โรงพยาบาล สหเวช (จังหวัดพิจิตร) และโรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน (จังหวัดลำพูน) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับ การแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com

 pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved