Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 20/06/2562 ]
แพทย์เผยอันตรายของโรคกระดูกพรุน

 โรคกระดูกพรุน หมายถึง โรคที่ความแข็งแรงของกระดูกลดลง จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเหตุที่อุบัติเหตุเล็กน้อยก็อาจจะทำให้กระดูกหักได้ ความสำคัญกับอันตรายของโรคนี้ ถ้าเป็นปกติโดยทั่วไปเดินหกล้ม บนพื้นราบธรรมดา เราไม่เป็นอะไร อย่างมากเราอาจจะ ข้อเท้าพลิก เจ็บมือนิดหน่อย เอามือยันพื้นได้ แต่กลุ่มคนที่ เป็นโรคกระดูกพรุน เราลื่นล้มบนพื้นราบ ก็อาจจะทำให้เกิดกระดูกหักได้ มือยันพื้น ข้อมือหัก สะโพกกระแทกพื้น สะโพกหัก นี่คือความอันตรายของโรคกระดูกพรุน
          อ.นพ.กุลพัชร จุลสำลี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เผยถึงสาเหตุของโรคกระดูกพรุน ในรายการพบหมอรามาฯทางสถานี RAMA CHANNE ว่าปกติกระดูกของเราจะมีการสร้างและการ ทำลายกระดูกอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงอายุก่อน 30-35 ปี เราจะมีการสร้างและการทำลายกระดูก ที่มีการสร้างมากกว่า การทำลาย เพราะฉะนั้นกระดูกจะค่อยๆ แข็งขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก อายุ 30-35 ปี ช่วงประมาณ 5-10 ปี มวลกระดูกจะคงที่ คือมีการสร้างและการทำลายที่สมดุลกัน หลังจากผ่านระยะนั้นไปคือประมาณอายุ 40 ปีเป็นต้นไป การทำลายกระดูกจะเริ่มมากกว่าการสร้าง เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติของเรา กระดูกจะค่อยๆ บางลงเรื่อยๆ จากการทำลายกระดูกที่เยอะกว่า การสร้างกระดูก เพราะฉะนั้น ยิ่งเราแก่ตัวไป กระดูกเราจะค่อยๆ บางไปตามธรรมชาติระดับของกระดูกพรุนจะมากหรือ น้อยขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมมวลกระดูกตั้งแต่ช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 30 ปี ไว้มากน้อยแค่ไหน
          อีกประเด็นหนึ่งเรื่องปัจจัยที่ทำให้เราเป็นกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร คือ โรคประจำตัวต่างๆ และลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระดูกพรุน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับโรคข้อ โรครูมาตอยด์ ต่างๆ คนที่เป็นโรคไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์ หรือต่อมหมวกไตมีปัญหา หรือกลุ่มที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็น ประจำ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร
          ส่วนลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระดูกพรุน ได้แก่ กลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเท่าไร การใช้ชีวิตนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นกระดูกพรุน มากกว่าคนทั่วไป
          สำหรับอาการโรคนี้จะไม่มีอาการอะไรให้เราเห็นเลย เขาจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อกระดูกเราหักไปแล้ว เพราะฉะนั้นแล้ว การตระหนักถึงโรคนี้ การรู้ถึงความเสี่ยง การย้อนกลับไปมองตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงหรือเปล่า จากนั้นเราถึงจะไปพิจารณาพบแพทย์ เพื่อที่จะตรวจมวลกระดูก หรือคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก
          ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนมี 2 แบบหลักๆได้แก่ การตรวจมวลกระดูก เราไปพบแพทย์ แพทย์จะส่งให้ เราไปเข้าเครื่องตรวจมวลกระดูก เราจะได้รับรังสีเพียง เล็กน้อย จากนั้นจะตรวจมวลกระดูกออกมา แล้วคำนวณตามค่าเฉลี่ยของประชากร ถ้ามวลกระดูกของเราอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของประชากรถึงระดับหนึ่ง เราก็จะสามารถวินิจฉัยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ และวิธีการคำนวณความเสี่ยงในการที่จะเกิดกระดูกหัก แพทย์จะถามประวัติคร่าวๆ แล้วจะคำนวณออกมา ความเสี่ยงนี้ชื่อว่า การคำนวณ frax score จะดูจากเพศ อายุ ดัชนีมวลกาย พฤติกรรมการสูบบุหรี่และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว การกินยาสเตียรอยด์ รวมถึงประวัติครอบครัวที่มีประวัติเป็นกระดูกพรุน ความเสี่ยง frax score จะคำนวณออกมาได้ 2 แบบ คือ คำนวณเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก โดยทั่วไปในระยะ 10 ปี กับกระดูกหักบริเวณสะโพกในระยะ 10 ปี ถ้าค่าความเสี่ยง frax score ของกระดูกหักทั่วไปมากกว่า 20% ในระยะ 10 ปี หรือค่าความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักมากกว่า 3% ในระยะ 10 ปี ก็จะต้องได้รับการวินิจฉัยเป็นกระดูกพรุน และต้องได้รับการรักษา
          ในส่วนการรักษา และการดูแลตัวเอง คุณหมอแนะว่าโรคกระดูกพรุนเป็นโรค เราต้องรักษา การรักษาก็จะเป็นการรักษาด้วยยา เพราะฉะนั้น การกินยา หรือบางท่าน จะเลือกใช้วิธีฉีดยารักษาโรคกระดูกพรุน เราก็ควรจะไป พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและกินยาอย่างสม่ำเสมอ
          ส่วนเรื่องการดูแลตัวเอง ได้แก่ 1.ระวังเรื่องพลัดตก หกล้ม เนื่องจากเราเป็นโรคกระดูกพรุน เราล้มนิดเดียวเราอาจจะกระดูกหักได้ กระดูกหักแล้วชีวิตเปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้นเรื่องการระวังพลัดตกหกล้มนี่สำคัญ การจัดของที่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องของขั้นบันไดต่างๆ เราอาจจะต้องไปจัดระเบียบบ้าน
          2.เราอาจจะต้องหมั่นไปเจอแสงแดด เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายเราสังเคราะห์วิตามิน D ได้จากธรรมชาติ วิตามิน D จะช่วยให้แคลเซียมจากอาหารที่เรากินเข้าไปหรือจากอาหารเสริมที่เรากินเข้าไปดูดซึมเข้าสู่กระแส เลือดได้ดีขึ้น ข้อแนะนำคือ เราอาจจะต้องไปเจอแสงแดดวันหนึ่ง ประมาณสัก 15 นาที เป็นแดดอ่อนๆ อาจจะเลือกเป็นตอนเช้า หรือตอนเย็นก็ได้ อย่างน้อยวันละ 15 นาทีก็เพียงพอ
          3.การออกกำลังกาย การออกกำลังกายให้เหมาะสม กับวัย การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ก็ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักลงบริเวณข้อต่อต่างๆ เช่น การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะๆ หรือการเต้นแอโรบิกสำหรับ ผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเรื่องของมวลกระดูกแล้ว ยังจะช่วยให้กำลังกล้ามเนื้อมีสมรรถภาพที่ดี สมรรถภาพของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ จะดี และช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มได้อีกทางหนึ่ง กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมี ข้อจำกัดบางอย่าง เช่น อายุเยอะ บางคนมีปัญหาเรื่องข้อ ข้อเข่าเสื่อมบ้าง ข้อสะโพกมีปัญหา หมอนรองกระดูกทับ เส้นประสาท บางคนมีเรื่องโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไตต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ทั้งสิ้น แนะนำว่า อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลในเรื่องของ ข้อจำกัดในการออกกำลังกายของเราว่าเราสามารถทำอะไร ได้บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้

 pageview  1205152    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved