Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 04/07/2561 ]
เช็คสมรรถภาพผู้สูงวัย...เลี่ยง 10 ความเสี่ยงจากความเสื่อม

เมื่อเริ่มสูงวัย ร่างกายย่อมเสื่อมลงไปตาม กาลเวลา หลายคนคิดว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ทั่วไปก็เพียงพอ แต่ไม่จริงเสมอไป หลายคนพบว่าตนเองออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็มีอาการอ่อนเพลียมาก ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่ในเกณฑ์ปกติ ฉะนั้นการรู้เท่าทันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากความเสื่อม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจเพื่อจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
          แพทย์หญิงธันยาภรณ์ ตันสกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า การดูแล รักษาสุขภาพที่ดีและถูกสุขลักษณะ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาทางสุขภาพ ที่มักเกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุที่อายุประมาณ 60-65 ปีขึ้นไป โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เห็นความสำคัญของสุขภาพในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยที่มีความเสื่อมทางร่างกายมากขึ้น จึงได้จัดตรวจประเมินสมรรถภาพสำหรับผู้สูงวัย เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมของสมรรถภาพทางกายตามวัย ซึ่งผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินความสามารถในการทำกิจกรรม ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในยามสูงวัยด้วย
          ทั้งนี้ การตรวจสมรรถภาพในผู้สูงอายุ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้ โดยมี 10 ความเสี่ยงดังต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผู้สูงอายุควรรู้ 1) อารมณ์ซึมเศร้า (Depression) ปัญหาสุขภาพจิต คือปัญหาสำคัญในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้ามีโอกาสเป็นได้มากกว่าวัยอื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและบทบาทในสังคม หากผู้สูงอายุรับไม่ได้กับภาวะที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดอาการเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ขาดความรัก รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าและไม่มีใครต้องการ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตผู้สูงอายุที่ใกล้ชิด หากมีภาวะแยกตัว เบื่อหน่าย หรือทุกข์ใจ ไม่ควรละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการตรวจความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความประเมินการแสดงออกทางอารมณ์ การแสดงออกทางความคิด ทางพฤติกรรม และการแสดงออกทางกาย เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์ในผู้สูงอายุ
          2) การล้ม (Fall) เป็นปัญหาที่พบบ่อยและอันตรายมากในวัยสูงอายุ จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ไปเข้าห้องน้ำ เนื่องจากสูญเสียการทรงตัว เพราะสมอง กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ เกิดความเสื่อม การได้ยินและมองเห็นลดลง ทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งการบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรดูแลใส่ใจและหมั่นสังเกตการทรงตัวของผู้สูงอายุ หากเกิดการล้มควรให้อยู่ในท่าเดิมและรอผู้เชี่ยวชาญมาทำการเคลื่อนย้ายเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง
          3)สมองเสื่อม (Dementia Disease) ภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการรู้คิด (Cognitive Function) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้ เรียนรู้ และวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากสมองทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม เสื่อมลง จากการที่อายุมากขึ้น โรคต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึมเศร้า โรคทางระบบประสาท เป็นต้น รวมถึงพันธุกรรมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ดังนั้น การกระตุ้น การรู้คิดผ่านกิจกรรมต่างๆ จึงมีประโยชน์อย่างมาก เช่น จับคู่ภาพ ทายคำ ต่อจิ๊กซอว์ วาดรูป หมากรุก เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการคิด อ่าน สมาธิ ความจำ โดยมุ่งเน้นขั้นตอน การทำกิจกรรมที่ชัดเจนเข้าใจง่ายมากกว่าผลของกิจกรรม นอกจากนี้ ยังควรตรวจประเมินความสามารถด้านการเรียนรู้ และการรับรู้ เพื่อหาความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมใน ผู้สูงอายุ นำไปสู่การป้องกันและการรักษาอย่างเหมาะสม
          4) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Weakness) ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะจำนวนขนาดและเส้นใยของกล้ามเนื้อบวกกับกำลังการหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว ซึ่งอาการอ่อนแรงมีหลายระดับ ตั้งแต่กำมือแน่น ไม่แน่น ไปจนถึงการยกขา บางคนเมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการช่วงสั้นๆ แล้วหายไป แต่บางครั้งไม่มีสัญญาณเตือนและมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้นการหมั่นสังเกตและตรวจเช็คกับแพทย์เฉพาะทาง อย่างการตรวจประเมินกำลังกล้ามเนื้อขา ด้วยการตรวจ Five Time Sit to Stand จะมีการจับเวลาผู้สูงอายุในการลุกนั่ง 5 ครั้ง เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการรับความรู้สึก การทรงตัว และความเร็วในการเคลื่อนไหว
          5) การเดินผิดปกติ (Abnormal Walking)สมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุจะเสื่อมลงตามวัย โดยเฉพาะการเดินที่ช้าลง การก้าวเท้าที่สั้นลง เนื่องจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ การประหยัดพลังงานที่ใช้ในการยืน เดิน อีกทั้งเมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลบางครั้งไม่สามารถ เดินได้ ดังนั้น การออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 20-30 นาทีทุกวัน โดยใส่เครื่องพยุง เช่น ข้อเท้าและข้อเข่าเลือกรองเท้าที่เหมาะกับการเดิน ย่อมช่วยป้องกันการล้ม และการบาดเจ็บของข้อต่างๆ ได้
          6) ประสาทสัมผัส (Sense) ทางหู การได้ยินลดลง มีอาการหูตึงมากขึ้น การเสื่อมของอวัยวะในหูชั้นใน มีมากขึ้น เสียงพูดเปลี่ยนไป เพราะกล้ามเนื้อกล่องเสียงและสายเสียงบางลง ระดับเสียงสูงจะได้ยินน้อยกว่าระดับเสียงต่ำ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดอาการเวียนศีรษะและเคลื่อนไหวไม่คล่อง เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในมีภาวะแข็งตัว ทางตา การมองเห็นไม่ดีเหมือนเคย เนื่องจากรูม่านตาเล็กลงและตอบสนองต่อแสงลดลง หนังตาตก แก้วตาเริ่มขุ่นมัว เกิดต้อกระจก ลานสายตาแคบ กล้ามเนื้อลูกตาเสื่อม ความไวในการมองภาพลดลง สายตายาว เวลามืดหรือกลางคืนการมองเห็นจะไม่ดี ตาแห้งและเยื่อบุตาระคายเคืองง่าย ทางจมูก การดมกลิ่นไม่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกเสื่อม ต่อมรับรสทำหน้าที่ลดลง การรับรสของลิ้นเสียไป อาจเกิดภาวะเบื่ออาหาร โดยรสหวานจะเสียก่อนรสเปรี้ยว รสขม และรสเค็ม
          7) ระบบขับถ่าย (Bowel and Bladder System) จากการเสื่อมของเซลล์และกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาระบบขับถ่าย ปัสสาวะ มีอาการกลั้นปัสสาวะ ไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าและรุนแรงกว่าผู้ชาย เนื่องจากหมดประจำเดือนถาวร ทำให้ขาดฮอร์โมนเพศ อุจจาระ ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ที่สำคัญคือ ท้องผูกเป็นประจำ เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้ลดการบีบตัวตามอายุ เคลื่อนไหวน้อย ไม่ออกกำลังกาย ทานผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย รวมถึงอาจเป็นจากผลข้างเคียงของยาที่ทานเข้าไป
          8) กระดูกพรุน(Senile Osteoporosis) ปัญหากระดูกของผู้สูงอายุ คือ แคลเซียมจะสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ทำให้น้ำหนักกระดูกลดลง เปราะ หักง่าย ความยาวกระดูกสันหลังลดลง หมอนรองกระดูกบางลง หลังค่อมมากขึ้น ความสูงลดลง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก ตึง แข็ง อักเสบ ติดเชื้อง่ายขึ้น ดังนั้น หากออกกำลังกาย ประจำ จะช่วยลดความเบาบางของมวลกระดูกได้ รวมทั้งการ ทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ที่สำคัญคือตรวจเช็กกับแพทย์ เฉพาะทาง เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหากระดูกพรุนได้ถูกวิธี
          9) ท่าทางและการทรงตัว(Posture and Balance) ท่าทางของผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตประจำวันมีความสำคัญ เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายต้องทำงานร่วมกัน ที่สำคัญท่าทางและการทรงตัว ที่ดีส่งผลต่อความคล่องตัว ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหาที่พบค่อนข้างบ่อย เช่น เดินแอ่นหลัง เดินหลังค่อม เดินเซ ก้าวเท้าสั้นลง ขณะก้าวปลายเท้าจะออกด้านข้างมากกว่าหนุ่มสาว เป็นต้น ซึ่งสามารถทำให้ดีขึ้นได้โดยการทำกายภาพ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวและเหมาะสม
          ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดียามสูงวัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ โทร.1719

 pageview  1204952    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved