Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 06/02/2558 ]
'ถักนิตติ้ง'งานฝีมือ...ยาหัวใจ สร้างสมาธิได้มากกว่าแก้เหงา
 ไม่ใช่แค่งานอดิเรกที่ทำแก้เหงาแก้เบื่อของคนว่างงาน หรือจุดรวมก๊วนคนช่างเมาธ์อย่างที่หลายคนคิด แต่ทว่างานฝีมือเย็บปักถักร้อยอย่าง "นิตติ้ง" มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ออกมาระบุว่าสามารถเยียวยาบำบัดผู้ป่วยด้านจิตเวช หรือคนไข้ที่มีอาการอยู่ไม่สุขที่เรียกกันว่า "ไฮเปอร์แอคทีฟ" เพราะการที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ทำกิจกรรมที่จดจ่ออยู่กับที่นั้น ถือได้ว่าเป็นการเรียก "สมาธิ" ให้กับพวกเขาได้แบบดีเยี่ยม งานนี้เราจึงได้เห็นหลายต่อหลายองค์กรทำดี มีกิจกรรมฝึกจิตและสร้างกุศลที่ว่าให้กับพนักงานในหน่วยงาน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดกำเนิด  "จิตอาสา" ทำดีอีกหลายต่อหลายกลุ่มที่มาร่วมกันทำงานฝีมือดังกล่าว และทำเองที่บ้าน แต่ขอมีส่วนร่วมด้วยการส่งผลงานมาสมทบภายหลัง
          ซึ่งก็ไม่ต้องเดาเรื่องผลพลอยได้ที่กลุ่มคนอาสาจะได้รับจากกิจกรรมดังกล่าวให้เสียเวลา เพราะนอกจากได้เพื่อนแล้ว บางกลุ่มกิจกรรมก็ได้สอดแทรกธรรมะผ่านการนั่งสมาธิก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงาน นัยว่าเป็นการเรียกสติก่อนที่จะลงมือทำการเย็บปักถักร้อยดังกล่าว ตามความถนัดแต่ละบุคคลอีกด้วย เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะได้ทำบุญแก่ผู้ประสบภัยหนาวแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิให้กับตัวเองอีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้หลายคนมักจะมองภาพไปว่า กิจกรรมยามว่างดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเพื่อหาเรื่องพูดคุย หรือเป็นไปในทางปรับทุกข์เนื่องจากขึ้นชื่อว่าเป็นงานจิตอาสา ดังนั้นชิ้นงานที่ทำอาจไม่จำเป็นต้องแล้วเสร็จภายในวันเดียว...เพื่อเป็นการฉายภาพกว้างให้เห็นข้อมูลข้อเท็จจริงว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมเย็บปักถักร้อยให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด!!! ซึ่งอาจไม่ใช่งานจับกลุ่มเมาธ์มอยอย่างที่หลายคนคาดเดา และประการสำคัญ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของจิตแพทย์ในบ้านเราออกมาซัพพอร์ตเกี่ยวกับ "งานนิตติ้ง-โคร์เชต์" เพื่อเสริมสร้างสมาธิไว้อย่างน่าสนใจ
          "เรียนตามตรงว่า งานอะไรก็แล้วแต่ที่ทำด้วยความจดจ่อและความตั้งใจ มันจะช่วยฝึกสมาธิให้กับผู้ที่ทำงานชิ้นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการถักนิตติ้งหรือโคร์เชต์ ประการสำคัญการถักนิตติ้งนั้นใช้ทักษะด้านร่างกาย อย่างเช่น มือ ผสานกับสายตาและสมอง เพราะผู้ฝึกต้องคิดลวดลายที่ถัก ตรงนี้ถ้าฝึกหรือทำบ่อย มันจะช่วยเพิ่มสมาธิให้กับผู้ป่วยด้านจิตเวชได้แน่นอนครับ และที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็สามารถที่ใช้งานฝีมือที่ว่านี้ช่วยให้สมองได้คิดลวดลาย ซึ่งตรงนี้จะทำให้สมองได้ใช้งานเยอะ ซึ่งผลที่ได้ก็กึ่งๆ เป็นแนวทางป้องกันโรคหลงๆ ลืมๆ ในผู้สูงอายุได้ทางหนึ่งครับ"  นพ.ณัฐวัฒน์ งามสมุทร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ให้ข้อมูล กรณีของผู้ที่ป่วยด้านจิตเวชที่อยู่ในช่วงรุ่นที่ไม่เหมาะ หรือบางรายไม่ชอบกิจกรรมเย็บปักถักร้อยนั้น คุณหมอ แนะนำวิธีฝึกสมาธิอีกรูปแบบว่า "กิจกรรมฝึกสมาธิสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ไม่นิ่งที่เป็นวัยรุ่น สามารถเลือกกิจกรรมฝึกเล่นดนตรีและกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย และต้องใช้สมาธิที่แน่วแน่ในการเล่น อย่างกีฬาตีเทนนิสหรือแบดมินตันก็ช่วยได้"
          การันตีประโยชน์ใช้สอยในแง่ของการฝึกสมาธิจากการถักนิตติ้ง กับ พี่จ๊ะ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการอาสาสมัคร "ถักทอสายใยอบอุ่น สร้างสรรค์บุญสู่สังคม ปีที่ 1" ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อรวบรวมหมวกไหมพรมและผ้าพันคอแฮนด์เมด เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ยากไร้ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน บอกว่า "แน่นอนว่าเรารู้อยู่แล้วว่านอกจากการถักนิตติ้งจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะพี่ที่ถักนิตติ้งเวลาเลิกจากงาน ช่วงวันหยุด ตรงนี้ก็ช่วยฝึกสมาธิได้ด้วยค่ะ เพราะเวลาที่เราถักนอกจากต้องเงียบแล้ว ในขณะถักเราก็ต้องคิดลวดลาย เพราะพี่เป็นคนสอนถักให้กับผู้ที่สนใจด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นผู้เปิดรับทั้งงานหมวกไหมพรมและผ้าพันคอ ที่กลุ่มจิตอาสาทั่วไปที่เจอกันในเฟซบุ๊กรับไปถักและนำมาบริจาคให้ ตรงนี้คิดว่านิตติ้งช่วยสร้างสมาธิได้ดีมากๆ เลยค่ะ"
          ส่วนกระแสที่หลายคนมองกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเพื่อพูดคุยมากกว่าที่จะผลิตชิ้นงานนั้น จิตอาสาข้าราชการ บอกว่า "อย่างที่เรียนไป งานถักนิตติ้งของพี่เป็นงานจิตอาสาที่เน้นการเปิดรับชิ้นงานที่เสร็จเรียบร้อย จะมีบ้างที่ลงพื้นที่ไปจอยกันเพื่อสอนถักเป็นครั้งคราว ประกอบกับเรามักจะสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กในการร่วมทำบุญโดยเปิดรับชิ้นงานของแต่ละคนผ่านการส่งไปรษณีย์ แต่สิ่งที่ประทับใจและได้จากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ โดยการที่ลูกหลานที่เห็นข่าวสารของพี่ และนำไปบอกคุณยายคุณย่าที่เป็นอัมพาตนั้น มันทำให้เราได้เห็นผู้สูงอายุพิการที่เขานั่งรถเข็นอยู่กับบ้าน ถักหมวกถักผ้าพันคอมาให้พี่เพื่อร่วมทำบุญด้วย ตรงนี้พี่ประทับใจมาก เพราะนอกจากจะสื่อให้รู้ว่างานฝีมือดังกล่าวจะไม่ใช่การรวมกลุ่มกันเพื่อพูดคุยอย่างเดียว แต่มันเป็นการบอกต่องานบุญซึ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ตรงนี้พี่ปลื้มใจมากเลยค่ะ"
          ด้าน พะยอม อยู่สุข จิตอาสาวัยเลข 4 จาก "กิจกรรมถักรักปันอุ่น เครือข่ายชีวิตสิกขา" ที่จัดขึ้นภายใต้จิตอาสาในเครือข่ายชีวิตสิกขา ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ที่จัดขึ้นเดือนละครั้ง ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ย้ำชัดถึงประเด็นการสร้างสมาธิจากกิจกรรมถักนิตติ้ง-โคร์เชต์ว่า "เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับข้อมูลที่มีคุณหมอทั้งในและต่างประเทศออกมาระบุว่า งานฝีมืออย่างการถักนิตติ้งนั้นช่วยสร้างสมาธิให้กับผู้มีปัญหาทางด้านสุขภาพ และผู้มีอาการฟุ้งซ่านให้สงบลงได้ เพราะก่อนที่จะลงมือถักนิตติ้งนั้นพี่จะให้สมาชิกประมาณ 50-100 คนสวดมนต์และนั่งสมาธิ ที่เราเรียกกันว่า "ศิลป์ภาวนา" ก่อนเพื่อปรับจิตใจเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นเราจะเริ่มลงมือถักไหมพรม ตรงนี้ได้ทั้งการทำงานศิลปะ และการสอนธรรมะไปด้วยในตัวค่ะ เราจะทำอย่างนี้ทุกครั้งค่ะ ตรงนี้ผู้ที่มาทำงานจิตอาสาก็จะได้ทั้งร่วมทำบุญและได้ฝึกสมาธิกลับบ้านไปด้วยค่ะ (กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่บ่ายโมงจนถึง 5 โมงเย็น)" จิตอาสาสอนงานฝีมือ กล่าว
          นอกเหนือจากรวมกลุ่มปฏิบัติ "ศิลป์ภาวนา" ในคลาส เมื่อวันหยุดต้นเดือนเวียนมาถึง แม่หนู บอกว่า กิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้คือ การฝึก "โยคะภาวนา" สมาชิกในกลุ่มยังได้ทำ "เสื้อเพื่อน้อง" ร่วมกัน เพื่อระดมเงินในการจัดซื้ออุปกรณ์อย่างไหมพรมและเข็มนิตติ้งเพื่อจัดทำชิ้นงานในครั้งต่อไป และเป็นการต่อยอดการทำกุศล มากกว่าที่จะก้มหน้าก้มตาทำงานหรือตั้งก๊วนคุยกัน พี่ พะยอม เล่าว่า "นอกจากกิจกรรมพัฒนาจิตและงานศิลปะแล้ว เรายังมีกิจกรรมที่น่าสนใจที่เสริมเข้ามาในแต่ละโอกาส อย่าง "โยคะภาวนา" และกิจกรรม "เสื้อเพื่อน้อง" ที่จำหน่ายในเฟซบุ๊ก และนำรายได้ไปจัดซื้ออุปกรณ์ในการถักหมวกและผ้าพันคอไหมพรมให้กับผู้ขาดแคลนอุปกรณ์กันหนาวตามดอยต่างๆ ด้วยค่ะ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ร่วมทำบุญเพิ่มขึ้นอีกค่ะ และไม่รู้สึกเบื่อหรือว่างงานเมื่อมาร่วมกิจกรรม บอกตามตรงว่าผู้ที่มาร่วมกิจกรรม นอกจากจะหาความสงบในจิตใจ แถมยังได้เป็นผู้ให้ด้วยการถักนิตติ้งค่ะ".
 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved