Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 12/03/2555 ]
สธ.เผยไข้หวัดนกระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอาจกระทบถึงไทย เตือน!! ประชาชนอย่าตระหนกไทยพร้อมรับมือ

           จากข่าวการพบเชื้อไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีกใน 8 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย อิหร่าน เนปาล เวียดนาม และแอฟริกาใต้ โดยระบุว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดนก 8 ราย และตาย 6 ราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่มากกว่า 5 ปี และไม่พบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกมากกว่า 3 ปีแล้ว เมื่อมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีกระทบถึงประเทศไทยและมีความเป็นไปได้ที่ไข้หวัดนกจะระบาดเข้ามาในประเทศไทย และอาจเกิดการระบาดขึ้นได้ทั้งในสัตว์ปีกและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในคนด้วย เพราะไทยยังคงมีการเลี้ยงสัตว์ปีกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการเดินทางเข้าออกประเทศที่สะดวกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ข่าวดังกล่าวอาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน แต่ขออย่าไปหวั่นใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับไข้หวัดนกเมื่อครั้ง ที่เกิดการระบาดในอดีตเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 และทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนได้ร่วมกันจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 เพื่อเตรียมพร้อมรับกับปัญหาหากเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการป้องกันควบคุมโรคในสัตว์ป่า และระบบการเลี้ยง ผู้รับผิดชอบ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การป้องกัน ควบคุมโรค และการรักษาในคนโดยมีผู้รับผิดชอบคือ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยุทธศาสตร์ที่3 การจัดการความรู้ วิจัย และพัฒนา ผู้รับผิดชอบคือ สวทช. นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ยุทธศาสตร์ที่4 การพัฒนาระบบและกลไกการจัดการเชิงบูรณาการ ยุทธศาสตร์ที่5 การเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินยุทธศาสตร์ที่ 6 การสื่อสารประชาสัมพันธ์ Risk communication และพิจารณาเรื่องเตรียมการให้ความรู้กับประชาชนผ่านทางเครือข่ายสังคม (Social network) และการสร้าง key massages ใน Wikipedia/Google และขณะนี้ยังได้เร่งรัดมาตรการทั้งการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและในคน เพื่อรักษาคามเข้มแข็งไม่ให้มีการระบาดขึ้นในประเทศ และเตรียมความพร้อมในการควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้น โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งจะยังคงมาตรการและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเพ่อลดปัญหาอัตราการป่วยเจ็บจากไข้หวัดนกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน
          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ หนึ่งในผู้ได้รับโล่เกียรติยศในฐานะบุคคลที่มีผลงานในด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกยอดเยี่ยมระดับชาติกล่าวว่าด้วยเหตุที่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอยู่เสมอ มีโอกาสติดต่อระหว่างคนได้ง่ายซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาด ไปทั่วโลกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจึงยังต้องให้การดูแลสัตว์ปีกอย่างเข้มงวด และต้องสำรวจพื้นที่น้ำท่วมในอดีตด้วยว่าการระบาดของโรคไข้หวัดนกมีสาเหตุมาจากน้ำท่วมหรือโรค และต้องติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ในพื้นที่มีสัตว์ปีกตายผิดปกติและพื้นที่ประกาศพบโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิดด้วย
          ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกหนึ่งในผู้ได้รับโล่เกียรติยศในฐานะบุคคลที่มีผลงานยอดเยี่ยมระดับชาติด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกกล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน อาจทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าเชื้อไข้หวัดนกอาจระบาดเข้ามาในประเทศไทย จึงขอให้พี่น้องชาวไทยมั่นใจว่าขณะนี้ในประเทศยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนก ประกอบกับประเทศไทยมีระบบควบคุมในระดับพื้นที่ ซึ่งจะมีทั้ง อสม.เป็นกำลังหลักสำคัญในการรายงานผลการเฝ้าระวังโรคมายังกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด อีกทั้งยังมีห้องตรวจปฏิบัติการสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือโมบายแลปที่สามารถเดินทางเข้าไปให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคถึงพื้นที่ และรายผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง หากตรวจพบว่ามีการระบาดของไข้หวัดนก ก็จะสามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว สามารถให้การรักษาหรือให้วัคซีนได้ทันท่วงที และที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขยังได้ประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อสร้างผู้รับผิดชอบโดยตรงในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดซ้ำซาก เช่น ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
          ด้าน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าการป้องกันควบคุมไข้หวัดนกเป็นภารกิจที่ต้องทำควบคู่กันทั้งในคนและในสัตว์อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเร่งรัดของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ที่เน้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน การรักษาและควบคุมโรคแบบบูรณาการ (One Health) โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเฝ้าระวังดรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ ดูแลการนำเข้าสัตว์ปีกในบริเวณชายแดน แนะนำการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดภัยในชุมชน และจัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดโรครวมทั้งมีมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เช่น การป้องกันการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์เลี้ยง การแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรวดเร็วระหว่างหน่วยงานด้านสัตว์ และ/หรือหน่วยงานด้านเกษตรกรรม และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แนะนำให้มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม และมีการฝึกการใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสนกที่ติดเชื้อ เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก คนงานที่ชำแหละสัตว์ปีก เจ้าหน้าที่สอบสวนการระบาดของโรค ฯลฯ
          ส่วนมาตรการรับมือไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะเน้นการวินัจฉัยที่รวดเร็ว เพื่อรีบรักษาหรือให้วัคซีนได้ทันท่วงที โดยกำหนดให้หน่วยงานสาธารณสุขร่วมมือกัน ซึ่งกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแทพย์ รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การป้องกัน ควบคุมโรค กรมการแพทย์รับผิดชอบการรักษาในคน กรมอนามัยรับผิดชอบด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับผิดชอบการประสานงานกับกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ โดยมี อสม.เป็นกำลังสำคัญในระดับพื้นที่ทำการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นไข้หวัดนก หากพบจะแจ้งเจ้าหน้าที่ทางราชการตรวจสอบยืนยันและแจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมการดูแลผู้ป่วยทันที ทั้งการให้ยาต้านไวรัส และตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก H5N1 เพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานและให้คำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเอง
 

 pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved