Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/10/2555 ]
ปั๊ม'นมแม่'ขายบนเฟซบุ๊กธุรกิจเสี่ยง'ซื้อมั่ว'ลูกติดโรคร้ายได้!!

 แทบไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงคลอดบุตรทั่วอเมริกา
          จะทำการซื้อขาย "ทองคำเหลว" หรือ "นมแม่" อย่างเป็นล่ำเป็นสันบนฟอรั่มชุมชนอย่าง เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ต่างๆ โดยแต่ละคนอาจมีรายได้จากเลือดสีขาวของตัวเองตั้งแต่ 300-1,200 เหรียญสหรัฐ หรือ 9,000-36,000 บาทต่อเดือนทีเดียว!! ...เพราะอย่างน้อยๆ ราคาน้ำนมแม่ในสหรัฐตกออนซ์ละ 2 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ไม่น้อยกว่า 60 บาท
          ขณะที่ในยุโรป ธุรกิจขายนมแม่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ระบาดถึงเช่นกัน โดยผู้หญิงอังกฤษจะขายนมของตัวเองในราคา 1 ปอนด์สเตอร์ลิง (49 บาท) ต่อน้ำนม 1 ออนซ์
          เหตุที่ทำให้เกิดธุรกิจพิสดารที่ว่านี้ เพราะบรรดาแม่ๆ หลายคนในเมืองลุงแซมและในแถบยุโรปต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่เอานมวัว เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าน้ำนมแม่นั้นมีคุณประโยชน์เหลือคณา ไม่ใช่แค่ทำให้ลูกอิ่ม หรือเป็นยาสร้างภูมิต้านทานโรค แต่ยังหมายถึงสายใยแห่งความอบอุ่นอีกด้วย แต่พวกเธอติดขัดตรงที่ตัวเองนั้นมีปริมาณน้ำนมไม่พอเลี้ยงลูก จึงต้องขอความช่วยเหลือหรือขอซื้อจากคนอื่นที่มีน้ำนมตามธรรมชาติเหลือเฟือจนล้นนั่นเอง
          อย่างไรก็ตาม แพทย์ในประเทศเยอรมนีออกมาประกาศกร้าวผ่านสังคมออนไลน์เช่นกันว่า "พ่อแม่ไม่ควรนำนมแม่ออนไลน์มาเลี้ยงดูลูกตัวเอง เพราะผู้บริจาคอาจติดโรคที่จะส่งผ่านน้ำนมมาสู่บุตรของคุณได้"
          แพทย์จากสมาคมวิชาชีพกุมารแพทย์ ยังบอกอีกว่า แม้ว่าบรรดาแม่นมที่ต้องการขายทองคำเหลว จะเพียรระบุข้อความจูงใจว่านมแม่แท้ๆ นั้นดีกว่านมผง อาทิ ช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยและภูมิแพ้ การเก็บนมนั้นสะอาดปราศจากเชื้อโรค และมีระบบจัดส่งน้ำนมถึงที่ตามความต้องการ ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อความในเว็บไซต์ www.onlythebreast.com แต่คนเป็นพ่อและแม่มือใหม่ต้องหนักแน่น ไม่ดิ้นรนหลงไปกับคำโฆษณา
          "เต้านมคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด แต่แม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ก็ไม่ควรเปิดอินเทอร์เน็ตเพื่อ
          มองหาน้ำนมแม่ออนไลน์ เนื่องจากนมแม่ที่ผ่านการ
          บริจาคหรือซื้อขายนั้น อาจมีสารจากยาเสพ
          ติดหรือเชื้อโรคอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบ
          กระทั่งโรคเอดส์เจือปนได้" วุลแฟรม อาร์ตมันน์ ประธานสมาคมฯ ระบุ และแจงต่อว่า
          "เราไม่สามารถตรวตสอบได้ว่านมแม่ที่เราไม่รู้จัก จะดีหรือเป็นอันตรายต่อลูกของเราเพียงใด ยิ่งเฉพาะคุณภาพของน้ำนมอาจได้รับผลกระทบระหว่างการขนส่งก็เป็นได้ นอกจากนี้ทารกแต่ละช่วงวัยก็ต้องการนมแม่ที่แตกต่างกัน ซึ่งความต้องการในจุดนี้มีแต่แม่แท้ๆ เท่านั้นจะสนองได้จากการที่ร่างกายปรับตัวเอง"
          ด้าน สโนว์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ขายน้ำนมแม่รายหนึ่งเผยว่า ภรรยาของตนมีความคิดอยากขายนมพิเศษของเธอ เพื่อที่จะนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งมาจุนเจือครอบครัว
          "เธอพบว่ามีแม่คนจำนวนมากที่ต้องการซื้อนมแม่ออนไลน์ เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถใช้บริการผ่านโรงพยาบาล หรือธนาคารน้ำนมแม่ในประเทศได้" สโนว์ กล่าวผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ขายนมแม่รายเดิม บอกต่ออีกว่า แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เคยรายงานว่า ผู้บริจาคน้ำนมจำนวนมากในเว็บไซต์ขายนมแม่ ส่วนมากได้รับการอนุมัติจากธนาคารนม หรือได้รับการตรวจเลือดว่าปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ ฝากคำแนะนำไว้ให้ผู้ที่ต้องการซื้อนมแม่ออนไลน์ไว้ด้วยว่า ครอบครัวมือใหม่ควรใช้ความระมัดระวังในการซื้อ โดยสามารถขอดูเอกสารรับรองทางการแพทย์ด้วยทุกครั้ง
          ศ.มิทช์ แบลร์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ วิทยาลัยกุมารเวชศาสต ร์และสุขภาพเด็กของอังกฤษ ระบุว่า จริงที่เราส่งเสริมให้ผู้หญิงให้นมลูกและให้บุตรดื่มนมแม่เท่าที่จะเป็นไปได้ตราบที่น้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทารกจริงๆ
          "สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูก แต่ต้องการให้นมแม่แก่บุตร ผมแนะนำว่าให้คุณไปขอรับบริจาคที่ธนาคารนมแม่ เพราะที่นั่นจะมีน้ำนมจากเต้าที่ปลอดภัยที่สุด"
          ไม่ต่างจากผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ของเมืองไทย พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารเวช รพ.เซนต์หลุยส์ หนึ่งในกรรมการจากศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ที่คลุกคลีกับแวดวงนมแม่มากว่า 20 ปี กล่าวว่า ถามว่าในประเทศไทยเองมีการซื้อขายนมแม่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังไม่ถึงขั้นลงประกาศซื้อขายผ่านเว็บไซต์ แต่มีการบริจาคตามศูนย์ของ รพ.ใหญ่ ซึ่งเป็นการนำไปใช้ภายใน ไม่ได้เปิดให้คนนอกเข้าใช้บริการ
          "ในอดีตเราก็มีการบริจาคนมแม่ผ่านแม่นม บางบ้านที่มีฐานะหน่อยหากเขาไม่มีน้ำนม ก็จะจ้างแม่นมที่คัดเลือกแล้วว่าลักษณะดี มีน้ำนมเยอะ ไม่เป็นโรคร้ายแรงอะไรมาให้นมบุตร เพียงแต่ปัจจุบันการแพทย์พัฒนาขึ้น จึงไม่แนะนำให้รับน้ำนมแม่บริจาค หากแม่นมนั้นไม่ได้ตรวจเลือดว่าปลอดภัยไร้โรค หรือนมแม่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ส่วนการบริจาคหรือจะซื้อน้ำนมแม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องการสมยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถไปห้ามอะไรได้"กรรมการจากศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ระบุเพิ่ม
          พญ.ศิริพัฒนา ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารกก็คือนมแม่ตัวเอง รองลงมาเป็นน้ำนมแม่ตัวเองแช่แข็ง จากนั้นจึงเป็นน้ำนมแม่คนอื่นและท้ายสุดคือนมผง
          "เหตุผลที่ทางการแพทย์โดยเฉพาะการแพทย์ของไทย ยังไม่ยอมรับการให้ทารกกินนมแม่ผู้อื่นผ่านการบริจาคหรือซื้อขาย เพราะมีเชื้อโรคบางตัวหรือโรคร้ายแรงแฝงมากับน้ำนมได้ เช่น ไวรัสเอดส์ หรือไวรัส CMB ที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ แบบช้าๆ บางรายแม้อาการไม่ออกแต่ก็จะกลายเป็นพาหะไป ซึ่งหากเป็นแม่ลูกกันก็จะไม่มีปัญหา เพราะเด็กจะมีแอนติบอดีป้องกันอยู่แล้ว"
          พญ.ศิริพัฒนา ยังให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การซื้อขายนมแม่ที่เกิดขึ้นเป็นธุรกิจ จะทำให้นมแม่กลายเป็นสินค้า ทั้งที่จริงนมแม่เป็นตัวแทนของความรัก การขายน้ำนมจึงเป็นเรื่องผิดวัตถุประสงค์และตนไม่เห็นด้วยกับการซื้อขาย แต่อยากให้เป็นในรูปแบบบริจาคมากกว่า และจะดียิ่งขึ้นถ้าประเทศไทยมีศูนย์รับบริจาคนมแม่แห่งชาติ เพราะยังมีทารกและเด็กทั่วประเทศที่ไม่สามารถทานนมแม่ของตัวเองด้วยประการต่างๆ เช่น แม่ไม่มีน้ำนม แม่เสียชีวิต เด็กกำพร้าถูกทิ้งอีกมาก.
 

 pageview  1205868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved