Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 14/08/2555 ]
'สะกดจิต'ใช้ถูกวิธีช่วยรักษาโรค

ศาสตร์ของ "การสะกดจิต" หรือการสั่งจิตให้ทำตามร่างกายนั้น ถือได้ว่าเป็นแพทย์ทางเลือกในการรักษาโรคที่เกิดจากพฤติกรรมมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการติดสุรา ติดการพนัน ติดยาเสพติด การลดน้ำหนัก ความจำเสื่อมหรือแม้การปรับพฤติกรรมการตื่นนอนในชีวิตประจำวันฯลฯ
          นายแพทย์ชัชดนัย มุสิกไชย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์นครธนอายุวัฒนา รพ.นครธน เผยให้ทราบว่า "การสะกดจิต" เพื่อรักษาโรคนั้นมีมานานแล้วซึ่งหลักของการทำงานนั้นใช้หลักการ "ใส่ข้อมูลในเชิงบวกเข้าไปที่สมองก่อน หลังจากนั้นสมองจะทำตามในสิ่งที่คิดไว้โดยอัตโนมัติ" หรือพูดง่ายๆ ว่าเราสั่งจิตของเราเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักทางพระพุทธศาสนาที่ว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" เช่น หากเรากำลังประสบปัญหาการนอนไม่หลับ คุณหมอเผยว่าสามารถใช้การสะกดจิต หรือการสั่งจิตให้ทำตามร่างกาย โดยการบอกกับตนเองว่า "เราเห็นตัวเองกำลังนอนหลับ โดยมองเห็นเตียงนุ่มๆ เห็นห้องมืด มีเพลงคลอเบาๆ" ก็จะทำให้เราสามารถนอนหลับได้สนิท พร้อมกับต้องปรับสภาพของห้องนอนให้ปราศจากสิ่งกระตุ้น เช่น ไม่มีทีวี ไม่มีหนังสือ และไม่คุยโทรศัพท์ในห้องนอน ซึ่งระยะเวลาในการลดอาการนอนไม่หลับหรือให้สมองปรับตัว ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ โดยที่ผู้ป่วยสามารถฝึกเองได้โดยไม่ใช้ยาร่วมในการรักษาแต่อย่างใด
          นายแพทย์ชัชดนัยแนะว่า สำหรับพฤติกรรมที่ควรปรับในชีวิตประจำวันนั้นได้แก่ 1.การตื่นนอนโดยไม่ตั้งนาฬิกาปลุก (ก่อนนอนให้ดูเวลาที่เราต้องการตื่นและบอกกับตนเองว่าจะต้องตื่นในระยะเวลาดังกล่าวจากนั้นสมองจะเริ่มจดจำคำสั่ง และเราจะตื่นนอนตามเวลาที่เราดูก่อนนอนโดยอัตโนมัติ) 2.อาการนอนไม่หลับ 3.ปรับพฤติกรรมโดยเลิกดูสื่อโทรทัศน์เพื่อช่วยให้พักผ่อนได้เพียงพอและลดการรับสื่อที่ก่อให้เกิดโทษ4.ปรับพฤติกรรมรับประทานอาหารจำเจ เพื่อป้องกันโรคอ้วน
          อย่างไรก็ตาม คุณหมอยอมรับว่าการสะกดจิตสามารถนำไปใช้ทางทุจริตได้ เช่น "การขโมยของ" โดยการทำให้ผู้เสียหายตกอยู่ในภวังค์ เช่น การตบมือเสียงดังหรือการทำให้ตกใจ และเมื่อตกใจสติจะหลุดหลังจากนั้นผู้ที่เป็นมิจฉาชีพจะออกคำสั่งให้ผู้เสียหายทำตามสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นหยิบเงินหรือทรัพย์สินมีค่าให้ หรือการใช้พลังจิตในทางต้มตุ๋นหลอกหลวงเงินจากความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นการสะกดจิตอีกรูปแบบหนึ่งที่พบได้ในบ้านเรา
          ส่วนวิธีการป้องกันภัยในรูปแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคตนั้น คุณหมอกล่าวว่า ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา และไม่ควรเดินในที่เปลี่ยวหรือมืดเพียงลำพัง เพื่อตัดวงจรของการใช้การสะกดจิตในทางที่ผิดหรือต้องการกดเอทีเอ็มในบริเวณที่ลับตาคน ก็ควรสังเกตว่ามีกล้องวงจรปิดหรือไม่ หรือหาเพื่อนไปด้วยจะดีที่สุดนอกจากนี้การใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา อย่างเช่น การเดินทางสายกลาง เข้ามาช่วย หรือเชื่อในสิ่งที่มีหลักฐานพิสูจน์ ก็สามารถป้องกันภัยหรืออันตรายที่อาจเกิดจากภาวะจิตหลุดหรือถูกสะกดจิตได้ทางหนึ่ง
          สำหรับการสะกดจิตเพื่อนำไปใช้ปองร้ายชีวิตของผู้อื่นนั้นคุณหมอให้ข้อมูลว่า ในอดีตเคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการสะกดจิตในทางทหารของชาติตะวันตก หรือที่เข้าใจกันดีว่าเป็นการ "เปลี่ยนทัศนคติ" หรือการล้างสมองว่าผู้ที่เป็นศัตรูนั้นไม่ควรมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ซึ่งก็สามารถทำได้และเกิดขึ้นจริง หรือแม้แต่การสร้างภาพให้กลุ่มคนหนึ่งเชื่อว่าสวรรค์นั้นมีอยู่จริงหากเขายอมที่จะสละชีพตนเองโดยการเป็นมือระเบิดพลีชีพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณหมอเผยว่า "แม้การสะกดจิตนั้นจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่การเลือกใช้ในทางที่ก่อประโยชน์จะส่งผลดีต่อผู้ฝึกได้ไม่น้อย ส่วนผู้ที่คิดว่าจะนำการสะกดจิตไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องไม่ว่าจะรูปแบบใดนั้น นายแพทย์ชัชดนัยให้ข้อคิดว่า "การใช้พลังจิตในทางที่ไม่ดี หรือพลังจิตที่เป็นลบ สุดท้ายสะท้อนกลับมาสู่ตนเองอย่างร้ายแรงที่สุด เช่นเดียวกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว".

 

 pageview  1205838    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved