Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/05/2563 ]
ถึงเวลาเลิกบุหรี่เด็ดขาด ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

ปัญหาของผู้ติดบุหรี่ หรือสิงห์อมควันส่งผลให้มีความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายมากมาย ปัจจุบันในช่วงที่ยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 แม้ยังไม่มีข้อมูลสรุปชี้ชัดว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองด้วยพิษภัยบุหรี่ มีโอกาสที่จะติดเชื้อ หรือมีอาการรุนแรง เหตุนี้การรู้เท่าทันความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะปัจจุบันตัวเลขคนไทยสูบบุหรี่ 11 ล้านคน และเด็กนักเรียนไทย 1 ใน 10 คน สูบบุหรี่  เป็นความสุ่มเสี่ยง
          เหตุนี้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดวงสัมมนาเครือข่ายเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2563 ประเด็น "ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง" ตามคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2563 ลักษณะเป็นกิจกรรมจัดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ชวนให้เครือข่ายนักรณรงค์รณรงค์ถึงผลกระทบของบุหรี่ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง  หากติดเชื้อโควิด-19
          ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้ปอดได้รับอันตราย ทำให้ภูมิต้านทานโรคของปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อโรคหลายชนิด รวมทั้งเป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรัง ที่รวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง
          และเสียชีวิตก่อนเวลา ทั้งยังมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อปอดเช่นกัน ทำให้การสูบ   บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อเผชิญกับโควิด-19 อยากเชิญชวนให้ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ถือโอกาสนี้เลิกสูบเพื่อลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 "ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง เป็นผู้มีประวัติสูบบหรี่มากกว่าผู้ไม่สูบถึง 14 เท่า อีกทั้งนักสูบเสี่ยงป่วยปอดติดเชื้อโรคอักเสบรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรีย 2-4 เท่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า เชื้อวัณโรคมากกว่า 2 เท่า ตายมากกว่า 4 เท่า ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกายืนยันการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิดรุนแรง ในอังกฤษมีรายงานผล กระทบของการระบาดโควิด ทำให้ 2.4 ล้านคนสูบบุหรี่น้อยลง อีก 3 แสนคนเลิกสูบ และ 550,000 คน พยายามเลิกสูบอีกด้วย" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
          กรณีที่มีข่าวการสูบบุหรี่หรือสารนิโคตินช่วยป้องกันโควิดได้ เลขาธิการมูลนิธิฯ ระบุว่า มีการรวบรวมงานวิจัยที่ตีพิมพ์และผ่านการ กลั่นกรองวิชาการแล้วจำนวน 19 ชิ้น จากจีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูบบุหรี่จะป่วยหนักกว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้สูบบุหรี่ 2 เท่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ายาสูบหรือนิโคตินป้องกันหรือรักษาไวรัสโคโรนา ด้านองค์การอนามัยโลกเรียกร้องนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และสื่อให้ระมัดระวังการขยายผลที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่ายาสูบหรือนิโคตินลดความเสี่ยงโควิด
          คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 55,000 คนต่อปี และจากควันบุหรี่มือสอง 8,300 คน ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีตัวเลขเสียชีวิตจากโรคร้ายเพิ่มขึ้น นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์  ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ปีนี้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า "Protecting youth from industry manipulation and preventing them from tobacco and nicotine use" เพื่อให้เยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ และปกป้องเยาวชนจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นนักสูบทดแทน ผู้สูบบุหรี่ที่เสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน หรือรักษาผลกำไรของบริษัทบุหรี่ แต่ปีนี้ไทยและทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าควรป้องกันตนเองด้วยการหยุดสูบ
          "มีรายงานชี้สุขภาพปอดจะดีขึ้นเร็วมากภายหลังจากหยุดสูบบุหรี่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและรัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ และเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด บริษัทบุหรี่กลับใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการขาย และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงว่าการสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าสามารถป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ CDC แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับสาธารณสุขอังกฤษ Public Health England ให้หยุดสูบบุหรี่ลดความ เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง" นพ.ชยนันท์ กล่าว
          อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้านสุขภาพสังคมออนไลน์ แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือหมอผิง มาร่วมให้แนวทางการสื่อสารสู้ศึกโควิดว่า ต้องใช้หลัก 3 ช. ในการสื่อสาร เริ่มจากเช็ก ควรเช็กแหล่งข้อมูลที่มาว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ควรเป็นข้อมูลจากองค์กรที่ตรวจสอบได้ ถ้าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ควรต้องแยกแยะว่าเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลจากงานวิจัย สถิติ หรือความเห็นส่วนตัว ถัดมา กระชับ ควรสื่อสารแบบกระชับ ได้ใจความจะไปถึงวงกว้าง สุดท้ายคือ แชร์ การแชร์ควรระบุแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดการย้อนตรวจสอบ ได้  และระมัดระวังการแชร์ข้อมูลที่เป็นข่าวลวง รวมถึงข้อมูลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ข้อมูลหรือภาพของผู้ป่วยและญาติ
          เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เชิญชวนภาคีเครือข่าย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนร่วมรณรงค์ ตลอดจนหากสนใจสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เพื่อป้องกันโควิด-19 ติดต่อได้ที่โทร.0-2278-1828  หรือดูรายละเอียดเพื่อขอรับสื่อได้ที่ www.smokefreezone.or.th มูลนิธิรณรงค์ฯ จะจัดส่งสื่อรณรงค์ดังกล่าวให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย.

 pageview  1204945    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved