Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 17/01/2563 ]
มะเร็งเต้านม โรคร้ายที่ไม่จำกัดเพศ

สาเหตุสำคัญของมะเร็งเต้านมในเพศชายไม่ต่างจากเพศหญิง นั่นคือการมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการคลายน์เฟลเทอร์ ซึ่งมีความผิดปกติของดีเอ็นเอ คือมีดีเอ็นเอของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เกิด ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลง ทำให้มีลักษณะเหมือนเพศหญิง ผู้ชายที่เป็นกลุ่มอาการนี้จะมีความสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ช่วงไหล่แคบกว่าช่วงเอว มีเต้านมใหญ่ ลูกอัณฑะเล็กและเป็นหมันจากการไม่มีตัวอสุจิหรือมีตัวอสุจิน้อยมาก กลุ่มอาการนี้พบได้ไม่บ่อยคือพบประมาณ 1 ใน 1,000 คน
          นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านม แม้ว่าเป็นโรคร้ายที่พบในเพศหญิงมากเป็นอันดับหนึ่ง แท้จริงแล้วในเพศชายก็มีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน จากสถิติพบว่าโดยทั่วไปเพศชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมตลอดอายุขัย อยู่ที่ 1 ใน 1,000 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2562 คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศชายรายใหม่ 2,670 คน ซึ่งน้อยกว่า  1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด และในจำนวนนี้เสียชีวิต 500 ราย  ในขณะที่เพศหญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมอยู่ที่ประมาณ 41,760 รายต่อปี
          อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายค่อนข้างคงที่ในช่วง 30 ปี ในขณะที่อุบัติการณ์ในเพศหญิงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 100 เท่า ในเพศชายนั้นพบบ่อยในช่วงอายุ 60-70 ปี โดยพบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านมมีอายุเฉลี่ยมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 7-8 ปี
          นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า สถานการณ์มะเร็งเต้านมของคนไทย ในปี 2557 พบว่ามีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 162 คน และผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 14,804 คน โดยปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมาจากหลายปัจจัย อาทิ เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว ซึ่งพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว โดยจะเป็นญาติทางฝ่ายชายหรือหญิงก็ได้
          ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งเต้านมในเพศชายไม่ต่างจากเพศหญิง นั่นคือการมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการคลายน์เฟลเทอร์ ซึ่งมีความผิดปกติของดีเอ็นเอ คือมีดีเอ็นเอของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เกิด ทำให้มีระดับฮอร์โมน เอสโตรเจนสูงและระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลง ทำให้มีลักษณะเหมือนเพศหญิง ผู้ชายที่เป็นกลุ่มอาการนี้จะมีความสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ช่วงไหล่แคบกว่าช่วงเอว มีเต้านมใหญ่ ลูกอัณฑะเล็กและเป็นหมันจากการไม่มีตัวอสุจิหรือมีตัวอสุจิน้อยมาก กลุ่มอาการนี้พบได้ไม่บ่อยคือพบประมาณ 1 ใน 1,000 คน
          นอกจากนั้นภาวะอื่นๆ ที่ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงผิดปกติ เช่น ตับแข็ง ที่ทำให้ผู้ชายนักดื่มมีเต้านมใหญ่กว่าผู้ชายปกติ เนื่องจากตับเสื่อมสภาพลง ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ยาบางตัวที่มีผลข้างเคียงทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
          ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ คลำเจอก้อนที่เต้านม โดยเฉพาะบริเวณใต้หัวนม อาการอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างจากในเพศหญิง ได้แก่ มีของเหลวออกจากหัวนมเป็นน้ำปนเลือด หัวนมบอด เต้านมหรือหัวนมแดง หรือมีผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม โดยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว ส่วนอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยชายไม่แตกต่างจากเพศหญิงแต่อย่างใด ดังนั้น ชายผู้สูงวัยจึงควรใส่ใจสังเกตความผิดปกติของเต้านมและตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำเช่นกัน.

 pageview  1205110    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved