Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/08/2562 ]
โรคท้องผูก...ไม่ใช่เรื่องเล็ก

 ชอบมากเลยค่ะ เวลาเดินทางไปไหนมาไหนแล้วไม่ต้องทุรนทุราย กระมิดกระเมี้ยนมองหาห้องสุขาเพื่อปลดทุกข์หนัก นั่นเพราะมีอาการประจำตัวคือธาตุแข็ง หรือท้องผูกเป็นกิจวัตร
          แต่พออายุมากขึ้นสิคะ อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก และไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้นี่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่คุณหมอถึงกับมองลอดแว่น และถามว่าอยู่ได้ยังไงครับป้า??!!
          คุณหมออบรมเสียยืดยาวว่า.. ท้องผูก คือ อาการที่มีความยากลำบากในการถ่ายอุจจาระ ต้องใช้เวลาในการถ่ายมาก มีการเบ่งถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระแข็งมาก ถ่ายแล้วแต่ยังมีความรู้สึกว่าถ่ายยังไม่หมด หรือปวดท้องอยากถ่ายอยู่ตลอดเวลา และมีความถี่ของการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นปัญหาที่พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย และผู้สูงอายุ ซึ่งการได้รับใยอาหารไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะท้องผูก อึดอัด เบื่ออาหาร อาจทำให้เกิดโรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง ริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เส้นเลือดขอด นิ่วในถุงน้ำดี
          โอ้โฮ!!! แค่ท้องผูกนี่ ไม่น่าเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ตามมาเป็นพวงเป็นช่อกันเลยทีเดียว 
          ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ หรือปล่อยอาการท้องผูกสร้างโรค นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ บอกว่า ลองสำรวจกันหน่อยนะคะว่าคุณอยู่ในจำพวกไหน แล้วแก้ให้ถูกจุด
          อาการท้องผูกมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ กินอาหารที่มีกากน้อยหรือเส้นใยน้อยมาก ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือกลั้นอุจจาระบ่อยๆ การกินยาเพื่อรักษาโรคประจำตัว การกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด และยาลดกรด เป็นต้น 
          ทั้งนี้ คำแนะนำในการดูแลที่ทำให้อาการท้องผูกดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา ได้แก่ 1.ปรับเปลี่ยนลักษณะการกินอาหาร ควรมีการปรับแต่งอาหารของผู้สูงอายุให้ประกอบด้วยผักและผลไม้มากขึ้น ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องฟัน ควรเลือกผักที่นิ่มเพื่อทำให้ทานง่ายขึ้น 2.ดื่มน้ำ ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ประมาณ 6-8 แก้ว 3.ฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา และที่สำคัญอย่ากลั้นอุจจาระ 4.ออกกำลังอย่าง สม่ำเสมอและเหมาะสม 5.ผู้สูงอายุไม่ควรซื้อ ยาระบายกินเองเป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ในภายหลัง ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษาค่ะ
          ลองหันกลับมามองตัวเองแล้ว สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การรับประทานอาหารประเภทเส้นใยน้อยมาก นั่นเพราะชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ต้องกินจังก์ฟู้ดอยู่บ่อยครั้ง เพราะมันง่ายและเอาอยู่เรื่องความอิ่มหนำสำราญ แต่ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าหมู่นี้ท้องอืดบ่อยมาก
          ดังนั้น เรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กอีกต่อไปนะจ๊ะ.

 pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved