Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 13/06/2562 ]
ตะไคร้หอม..ภูมิปัญญาคุณย่าตัวช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออก

 "ตะไคร้หอม" ถือเป็นสมุนไพรไล่ยุงที่ชะงัด และถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้กันจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบช่วงนี้ข่าวคราวของโรคไข้เลือดระบาด และมีผู้เสียชีวิตภายในปีนี้ร่วม 41 ราย ดังนั้นจึงมีคำเตือนเกี่ยวกับการป้องกันโรคดังกล่าวออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก หรือกลุ่มคนสูงวัยที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น มีต้นไม้รกทึบและแหล่งน้ำเน่าเสีย เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และป้องกันโรคไข้เลือดออกไปด้วยในตัว คนวัยเก๋าสามารถปรุงสมุนไพรไทยไล่ยุงไว้ใช้เอง และทำให้คนในครอบครัว เพราะการป้องกันโรคเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
          แม่ครูจรรยา วงศ์ชัย แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน จากชมรมการแพทย์ไทยและการแพทย์พื้นบ้าน จ.เชียงใหม่ บอกว่า สมุนไพรที่สามารถป้องกันยุงลายซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุดนั้น คือ "ตะไคร้หอม" เพราะยุงจะค่อนข้างกลัวมากกว่าผิวส้ม เนื่องจากผิวส้มจะใช้ได้ดีกับการป้องกันมดหรือแมลงกัดต่อยมากค่ะ ที่สำคัญหากผู้สูงอายุคนไหนที่อยู่บ้านลำพังก็สามารถนำสมุนไพรไทยอย่าง "ตะไคร้หอม" ที่ปลูกอยู่ริมรั้วมาปรุงเป็น "ยากันยุงฉบับพื้นบ้าน" เพื่อไว้ใช้เอง โดยแบ่งออกเป็น 3 สูตร
          "สำหรับการปรุงตะไคร้หอมเพื่อไล่ยุง "สูตรที่ 1" คือการทำ "ธูปตะไคร้หอม" ขั้นตอนนั้นไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำตะไคร้หอมที่ปลูกไว้มาหั่นซอยให้ละเอียด จากนั้นนำไปอบให้แห้ง หรือจะใช้วิธีการตากแดดให้แห้งก็ได้เช่นกัน แต่กลิ่นจะหอมน้อยลง เมื่อได้ตะไคร้หอมอบแห้งแล้วให้นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ตามด้วยการนำ "ก้านธูปสำเร็จรูป" ที่มีขายตามท้องตลาด และวัสดุที่ใช้ทำธูปตะไคร้หอมที่ลืมไม่ได้คือ "แป้งเปียก" หรือเป็นกาวสำหรับทาลงบนก้านธูปสำเร็จรูป ซึ่งแป้งเปียกนั้นจะซื้อแบบสำเร็จรูปก็ได้ หรือจะเข้าครัวทำเอง ด้วยการนำเมล็ดข้าวเหนียวมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปกวนกับน้ำตั้งบนไฟอ่อนๆ จนเหนียว กระทั่งได้ส่วนผสมที่เรียกแป้งเปียก เมื่อส่วนผสมและวัสดุครบแล้ว ก็ให้นำก้านธูปสำเร็จรูปทากาวแป้งเปียกที่ทำขึ้นเอง จากนั้นนำมากลิ้งวนไปมาบนผงตะไคร้หอมที่อบแห้งและบดทิ้งไว้ ตามด้วยการผึ่งให้ธูปตะไคร้หอมแห้งหมาดๆ จากนั้นก็นำไปชุบผงตะไคร้บดอีกรอบ และผึ่งไว้ให้แห้งสนิท ก่อนนำมาจุดไล่ยุงโดยปักลงบนภาชนะที่มีทราย และนำไปวางในไว้ในจุดอับที่มียุงชุกชุม
          ส่วนสูตรตะไคร้หอมไล่ยุง "สูตรที่ 2" ได้แก่ "เทียนตะไคร้หอม" โดยเริ่มจากการนำ "น้ำมันตะไคร้หอมสำเร็จรูป" ในสัดส่วน 200 ซีซี ตามด้วยส่วนประกอบ "ไส้เทียนสำเร็จรูป" จากนั้นให้นำ "พาราฟิน" หรือ "ไขแข็งสำหรับทำเทียนหอม" ในอัตราส่วนประมาณ 1 กิโลกรัม โดยนำไปใส่หม้อตั้งบนเตาไฟใช้ความร้อนปานกลาง เพื่อให้พาราฟินละลาย จากนั้นให้เทส่วนผสมอย่างน้ำมันตะไคร้หอมสำเร็จรูป 200 ซีซี ลงในพาราฟินที่ละลายน้ำแล้วขณะที่น้ำยังอุ่นๆ จากนั้นนำไปเทลงบน "แม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ" สำหรับทำเทียนหอม โดยขณะเทนั้นต้องให้ไส้เทียนโผล่ออกมาจากแม่พิมพ์สำหรับไว้ใช้จุดไล่ยุง หรือผู้สูงอายุสามารถนำ "เศษเทียนพรรษา" ที่ทิ้งอยู่ในวัด มาละลายด้วยการใส่หม้อตั้งบนไฟ จากนั้นใส่น้ำมันตะไคร้หอมสำเร็จรูป และเทลงบนแม่พิมพ์ที่หาได้ โดยให้ไส้เทียนโผล่จากภาชนะเช่นกัน จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้ง และนำไปจุดไล่ยุงในห้องรับแขก หรือบริเวณที่ผู้สูงอายุมักชอบนั่งทำกิจกรรม ก็เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แถมได้เทียนแฮนด์เมดสำหรับไล่ยุงลายไว้ใช้ในครัวเรือนอีกด้วย
          ปิดท้ายกันที่ตะไคร้หอมไล่ยุง "สูตรที่ 3" คือ "สเปรย์ตะไคร้หอม" สำหรับใช้พ่นบนเสื้อผ้าเวลาที่ผู้สูงอายุออกไปทำไร่ หรือทำการเกษตร กระทั่งเข้าป่าหาของกินละแวกบ้าน โดยการนำ "ตะไคร้หอมสำเร็จรูป" ประมาณ 100 ซีซี กับ "น้ำมันแก้วสำเร็จรูป" (น้ำมันที่สกัดจากต้นแก้ว มีจำหน่ายตามร้านเวชสำอาง) ในอัตราส่วน 1 ปอนด์ หรือครึ่งลิตร ซึ่งเท่ากับ 500 ซีซี จากนั้นนำมาเขย่าผสมกัน และนำไปใส่ขวดแก้วที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์สำหรับพ่นลงบนเสื้อผ้า เพราะการทาน้ำมันสเปร์ยตะไคร้หอมโดยตรงที่ผิวจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนได้ ใช้แบบฉีดพ่นจะช่วยไล่ยุงได้ดีมากกว่า"
          น้ำมันตะไคร้หอมสำเร็จรูปว่าสะดวกแล้ว แต่บ้านไหนที่ปลูกต้นตะไคร้หอมไว้ริมรั้ว ช่วงหน้าฝนที่ไข้เลือดออกระบาดหนักอย่างนี้ ประโยชน์มากมายสุดจะบรรยาย เพราะสามารถเด็ดมาปรุงยากันยุงสูตรแฮนด์เมดแล้ว ยังปลูกทิ้งไว้เพื่อไล่ยุงไปพลางๆ ได้ด้วย จริงไหมค่ะ.

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved