Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 07/08/2561 ]
ตั้งเป้าปี68เพิ่มเด็กกินนมแม่6เดือนแรกร้อยละ50

 สธ.ตั้งเป้าปี 68 เพิ่มอัตราเด็กกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เป็นร้อยละ 50 เร่งขับเคลื่อน พ.ร.บ.นมผง ให้ลูกกินนมแม่มากขึ้น กรมสวัสดิการฯ หนุนทำ MOU มุมนมแม่ เผย ก.คลัง เล็งออกมาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจนายจ้างจัดบริการด้านนี้มากขึ้น
          เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน องค์การทุนเพื่อเด็กสหประชาชาติประจำประเทศ ไทย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แถลงข่าวรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก
          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นานาประเทศได้กำหนดให้วันที่ 1-7 ส.ค.ของทุกปีเป็นสัปดาห์นมแม่โลก เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องเด็กให้เด็กทุกคนได้ดื่มนมแม่อย่างเต็มที่ นอกจากเดือน ส.ค.จะเป็นสัปดาห์วันนมแม่โลกแล้ว วันที่ 12 ส.ค. ยังเป็นวันแม่แห่งชาติของไทยอีกด้วย ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับเครือข่ายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภายใต้คำขวัญ "นมแม่รากฐานแห่งชีวิต" โดยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ เด็กต้องได้กินนมแม่หลังจากคลอด 1 ชม. กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนครบ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามสูตร 1-6-2 ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2559 พบว่า เด็กไทยที่ได้กินนมแม่หลังจากคลอด 1 ชม. มีร้อยละ 40 ได้กินนมแม่อย่างเดียวจนครบ 6 เดือน มี 23% และเด็กที่ได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องจนอายุครบ 2 ปี มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ สธ.และเครือข่ายได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2568 ทารกที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 50
          "ประเทศไทยมีแนวโน้มการ เกิดลดลง เราไม่สามารถตรึงการเกิดไม่ให้ลดลงได้ แต่เราสามารถทำให้ทุกการเกิดมีคุณภาพได้ โดยการเตรียมความพร้อมจากแม่ ดังที่ สธ.มีนโยบาย สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ เพื่อให้แม่สามารถนำสารอาหารที่มีประโยชน์ไปสู่ลูกได้ เด็กจะได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกของชีวิตจะส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพด้วย จากการสำรวจระดับชาติเมื่อ 8 ปีที่แล้ว พบว่า มีเด็กกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก คิดเป็นร้อยละ 5 แต่เมื่อ 5 ปีก่อนขยับขึ้นมาเป็นร้อยละ 12 และ 2 ปีที่แล้วเพิ่มเป็นร้อยละ 23 เห็นได้ว่า ไทยมีการจัดการเรื่องนี้อย่างก้าวกระโดด ประกอบกับมีการออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก พ.ศ.2560 ร่วมขับเคลื่อน เชื่อว่าบรรลุเป้าหมายในปี 2568" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว และว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันที่ 8 ก.ย.2560 ขณะนี้ออกกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับแล้ว เช่น การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน การเปรียบเทียบ หลักเกณฑ์การบริจาคอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข เป็นต้น ส่วนการปรับเปลี่ยนฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็กต้องมีความแตกต่างกับอาหารสำหรับทารก หรือพวกนมสูตร 1 2 3 ที่ให้เวลา 1 ปีในการปรับเปลี่ยนจะครบกำหนดใน ก.ย.2561 ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนแล้วทั้งหมด
          นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้ม ครองแรงงาน กล่าวว่า ได้มีการสนับสนุนนโยบาย สธ. ส่งเสริมให้เด็กได้กินนมแม่อย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรก เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างและนายจ้างเห็นถึงความสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีภูมิต้านทานโรค สุขภาพแข็งแรง พัฒนาการสมวัยและประหยัดค่าใช้จ่ายของลูกจ้างในการซื้อนมผสมให้ลูกที่มีคุณค่าทางอาหารน้อย และมีการลงนามร่วมกับ 7 องค์กรที่เกี่ยวข้องส่งเสริมมุมนมแม่ ผลดำเนินการจนถึง ก.ค.2561 มีสถานประกอบการจัด ตั้งมุมนมแม่แล้ว 1,745 แห่ง ลูก จ้างใช้บริการมุมนมแม่แล้ว 11,159 คน จากลูกจ้าง 999,882 คน ประ หยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 334 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกมาตรการลดหย่อนภาษีมาช่วยสนับสนุนการเลี้ยง ลูกด้วยนมแม่เพื่อดึงดูดให้จัดบริการนี้มากขึ้น โดยรูปแบบนายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีกำหนดอยู่แล้วว่า จะได้รับการลดหย่อนเมื่อลูกจ้างปลอดภัย มีสุขภาพดี มีความสุขในการทำงาน ส่วนการขยายวันลาคลอดเป็น 6 เดือนนั้นยังเป็นเรื่องยาก ขณะนี้ขยายจาก 90 วัน เป็น 98 วัน นับวันที่ต้องไปตรวจครรภ์ด้วย
          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การผลักดันของกรมสวัสดิการฯ ต้องใช้เวลา อยากให้ผู้ประกอบการคิดถึงผลระยะยาว หากมีการจัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน ว่า แม้ช่วง 6 เดือนแรก แม่อาจจะทำงานบกพร่องไปบ้าง แต่สามารถลดทอนการลางาน เนื่องจากลูกป่วย เพราะเด็กมีคุณภาพจากการกินแม่ สำหรับ พ.ร.บ.นมผง เท่าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านค้าจัดจำหน่าย พบว่า ร้านค้ารู้กฎหมายว่ามีผลบังคับใช้แล้ว นมทารกหรือต่ำกว่า 1 ปีนั้นไม่มีการลดแลกแจกแถมเลย และแยกนมสำหรับเด็กเล็กที่มีการโปรโมตออกไปต่างหาก.

 pageview  1205066    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved