Follow us      
  
  

ไทยโพสต์ [ วันที่ 19/07/2561 ]
สถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะคัดกรองโรคมะเร็ง

 สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 รองลงมาคือ อุบัติเหตุ และโรคหัวใจ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขยังพบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 70,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย โดยโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ การตรวจสุขภาพคัดกรองโรคมะเร็งเพื่อค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งโรคมะเร็งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างตามอวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สภาพร่างกาย และโรคประจำตัวของผู้ป่วยมะเร็ง
          นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้คำแนะนำว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นต้องพิจารณาตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เริ่มจากการซักประวัติทั่วไปเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดี สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และมีอาการแสดงของ 7 สัญญาณอันตรายต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์หรือไม่ อันได้แก่
          ระบบขับถ่ายที่ผันแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดหรือสิ่งผิดปกติไหล ไฝหรือหูดที่เปลี่ยนไป ไอหรือเสียงแหบเรื้อรัง การซักประวัติครอบครัวว่ามีใครเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหรือไม่ การตรวจร่างกายทั่วไปและการคลำหาก้อนผิดปกติในตำแหน่งที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่มากกว่าตำแหน่งอื่น เช่น ลำคอ ข้อพับต่างๆ รักแร้ ไหปลาร้า ขาหนีบ ข้อศอก ข้อเข่า การตรวจช่องท้อง คลำตับ คลำม้าม ว่าโตผิดปกติหรือไม่ คลำหาก้อนผิดปกติในช่องท้อง ตรวจภายในทางทวารหนัก เพื่อค้นหาความผิดปกติของทวารหนัก ต่อมลูกหมาก
          ในเพศหญิงควรตรวจคลำหาก้อนผิดปกติบริเวณเต้านม ทั้งนี้ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เริ่มต้นจากการดูเต้านมของตัวเองหน้ากระจก ประกอบด้วย 3 ท่าย่อย ได้แก่ ท่าแรกยืนตรงแขนชิดลำตัว ดูเปรียบเทียบบริเวณเต้านมทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่ขนาด รูปร่าง รอยบุ๋ม รอยย่น สีและการบวมของผิวหนัง ลักษณะของหัวนมและลานนม จากนั้นก็หันตัวเล็กน้อยเพื่อสังเกตด้านข้างของเต้านมทั้ง 2 ข้างด้วย ท่าที่ 2 ยกมือทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะร่วมกับการขยับแขนขึ้น-ลง เพื่อสังเกตความผิดปกติเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสามารถสังเกตรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้งได้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งผิวหนังให้เกิดรอยบุ๋มได้ และท่าที่ 3 เอามือเท้าสะเอวทั้ง 2 ข้าง กดและปล่อยมือเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกเกร็งตัว และโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้สังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนังได้ง่ายขึ้น
          ขั้นตอนต่อไปคือ การคลำที่เต้านม สามารถทำได้ทั้งในท่านั่งและท่านอน โดยใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางบริเวณค่อนไปทางปลายนิ้ว การคลำเต้านมมี 3 แบบคือ 1.คลำเป็นก้นหอยหรือตาม เข็มนาฬิกา (Clock Pattern) เริ่มคลำจากส่วนบนหัวนม วนเลื่อนนิ้วมือตามเข็มนาฬิกาเป็นวงกลม ขยายวงออกไปเรื่อยๆ จนถึงฐานเต้านมและบริเวณรักแร้ 2.คลำตามแนวนอนขึ้น-ลงขนานกับลำตัว (Vertical Strip) เริ่มคลำจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมเป็นแนวยางถึงกระดูกไหปลาร้า โดยใช้นิ้วมือทั้ง 3 คลำในแนวขึ้น-ลง สลับกันไปมาให้ทั่วเต้านม 3.คลำเป็นรัศมีรอบเต้านมหรือ รูปลิ่ม (Wedge Pattern) เริ่มคลำจากส่วนบนเต้านมจนถึงฐาน และขยับนิ้วมือจากฐานถึงหัวนมเป็นรัศมีรอบเต้านมถึงกระดูกไหปลาร้าและบริเวณรักแร้ และสุดท้ายคือการบีบบริเวณหัวนมและลานหัวนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีน้ำผิดปกติออกมาหรือไม่ หากตรวจพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
          สำหรับผู้หญิง นอกจากปัญหาเต้านมที่ต้องคอยตรวจสอบและคัดกรองด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอแล้ว การตรวจภายในเพื่อเอาเซลล์ปากมดลูกไปตรวจว่าผิดปกติหรือไม่ก็เป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นคือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เริ่มจากการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะอุจจาระ การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบี หรือชนิดซี เพราะจะทำให้เกิดภาวะตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด การตรวจหาเชื้อไวรัสหูดหรือไวรัสเอชพีวีจากสารคัดหลั่งในช่องคลอดที่เป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ และการตรวจทางรังสีวินิจฉัยของอวัยวะต่างๆ เพิ่มเติมของบุคคลนั้นๆ หลังจากประมวลผลข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ประวัติ ผลการตรวจร่างกาย และผลการตรวจต่างๆ ดังกล่าว ก็จะทราบว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอวัยวะใดมากกว่าคนปกติ โดยควรตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะมะเร็งระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายขาดสูง.

 pageview  1204844    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved