Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 08/02/2555 ]
ทานไอโอดีนมากไปมีอันตรายแทน
          อาการขาดไอโอดีนเป็นปัญหาใหญ่ทั่วทุกมุมโลก แต่ผลการวิจัยใหม่ชี้ว่า การได้รับสารไอโอดีนมากเกินควรจะก่อให้เกิดผลเสียแทน
          โดยทั่วไปคนเราได้รับสารไอโอดีนจากเกลือผสมไอโอดีน อาหารทะเล ไข่ไก่ นมสด และขนมปังบางชนิด สารไอโอดีนจะช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหารและพลังงานในร่างกาย รวมถึงมีส่วนช่วยพัฒนาร่างกายโดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งหากได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้สมองไม่พัฒนาเท่าที่ควร
          อย่างไรก็ตาม เรากลับไม่ค่อยรู้ว่า หากได้รับสารไอโอดีนมากเกินจะมีผลเสียอะไร แต่ผลวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารอเมริกันเจอร์นัลออฟคลินิคัลนิวทริชั่น โดยนักวิจัยจีนจัดทำการทดลองด้วยการให้สุ่มให้สารไอโอดีนแก่อาสาสมัครชาวจีน เพื่อดูว่าหากผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีได้รับสารไอโอดีนเกินความจำเป็น จะมีผลข้างเคียงเช่นไร
          งานวิจัยพบว่า ผู้ที่ได้รับไอโอดีนโดยเฉลี่ยมากกว่า 400 ไมโครกรัมต่อวันขึ้นไป อาจทำให้เกิดโรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์แบบไม่แสดงอาการ เนื่องจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ลดลง และไม่แสดงอาการใดๆ ที่บ่งชี้ภาวะร่างกายขาดฮอร์โมนไทรอยด์อย่างเด่นชัด แต่จะมีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึมเศร้า ผิวแห้ง และน้ำหนักตัวเพิ่มง่าย
          งานวิจัยเปรียบเทียบว่า การจ่ายยาไอโอดีนให้รับประทาน 400 ไมโครกรัม เทียบเท่ากับการให้รับประทาน 400 ไมโครกรัม เทียบเท่ากับการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวันที่มีไอโอดีนประกอบถึง 800 ไมโครกรัมต่อวัน วันฉีจาง หัวหน้าคณะวิจัย มหาวิทยาลัยแพทย์เทียนจิน แนะนำว่า ชาวจีนไม่ควรรับประทานไอโอดีนจากอาหารเกินวันละ 800 ไมโครกรัมต่อวัน
          จากงานวิจัยของจาง ซึ่งไม่สามารถติดต่อขอคำชี้แจงได้ ระบุว่า ผู้วิจัยสุ่มอาสาสมัครให้รับไอโอดีนเสริมต่อวันจากยาที่มีให้ทั้งหมด 12 ชิ้น ที่มีระดับไอโอดีนตั้งแต่ 0 ถึง 2,000 ไมโครกรัม เป็นระยะเวลานาน 1 สัปดาห์
          ผลวิจัยพบว่า อาสาสมัคร 5% เป็นโรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์แบบไร้อาการ ทันทีที่ได้รับยาไอโอดีนมากเกิน 400 ไมโครกรัมต่อวัน และยิ่งระดับไอโอดีนเสริมที่ได้รับมีสูงขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้นเช่นกัน โดยผู้ที่ได้รับไอโอดีนเสริม 2,000 ไมโครกรัม มีความเสี่ยงถึง 47%
          ในขณะเดียวกัน สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐ กำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยในการรับประทานไอโอดีนต่อวันของชาวสหรัฐเอาไว้ที่ 1,100 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ ดร.เอลิซาเบธ  เพียร์ซ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัย ชี้แจงว่า ชาวสหรัฐโดยปกติได้รับไอโอดีนต่อวันต่ำกว่า 800 ไมโครกรัม จากการรับประทานอาหารโดยปกติอยู่แล้ว
          เธอเตือนว่า ชาวสหรัฐไม่จำเป็นต้องรับยาไอโอดีนเสริม และถ้ารับ ก็ไม่จำเป็นต้องรับเกินกว่า 150 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากอาหารที่กว่า 150 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากอาหารที่จำหน่ายในประเทศ มีไอโอดีนผสมอยู่เพียงพอต่อการบริโภค
          อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า ผู้ที่มีปัญหาขาดไอโอดีนควรได้รับไอโอดีนเพิ่มไม่เกิน 150 ไมโครกรัมต่อวัน และมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับวันละ 220 ไมโครกรัม ส่วนมารดาให้นมบุตรด้วยตนเอง ควรได้รับยาเสริมไอโอดีน 290 ไมโครกรัมต่อวัน
          สมาคมโรคต่อมไทรอยด์อเมริกัน แนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์และมารดาให้นมบุตรด้วยตนเอง ควรได้รับไอโอดีนเสริม เพราะหากร่างกายขาดไอโอดีน อาจนำไปสู่ความผิดปกติในระหว่างคลอดบุตร หรือทำให้บุตรที่เกิดมามีพัฒนาการทางสมองผิดปกติ
          นอกจากนี้ เพียร์ซยังแนะนำให้ผู้ที่เป็นมังสวิรัติรับไอโอดีนเสริมเช่นกัน เนื่องจากผลการศึกษาล่าสุด โดยเธอและคณะผู้วิจัยค้นพบว่า ผู้ที่เป็นมังสวิรัติมีระดับไอโอดีนในร่างกายต่ำกว่าคนปกติ แม้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์จะอยู่ในระดับปกติก็ตาม เนื่องจากการรับประทานเพียงผักและผลไม้ ทำให้ตัวเลือกในการได้รับสารไอโอดีนในชีวิตประจำวันน้อยกว่าคนปกติ
          เพียร์ซยกย่องงานวิจัยของจางว่า เป็นข้อค้นพบที่น่าสนใจ เพราะวงการแพทย์ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับสารไอโอดีนมากเกินความจำเป็น เธอยังกล่าวอีกว่า โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์แบบไม่แสดงอาการ คือโรคที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจเช่นกัน หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน
          อย่างไรก็ดี เพียรซ์ชี้ว่า คนในแต่ละประเทศ แต่ละสังคมมีความต้านทานปริมาณไอโอดีนที่ต่างกัน เพราะอาหารที่ผลิตได้ในแต่ละที่มีปริมาณไอโอดีนที่หลากหลาย เช่น ในญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารมีปริมาณไอโอดีนสูง ก็ทำให้คนญี่ปุ่นค่อนข้างรับมือกับสารไอโอดีนในร่างกายได้มากกว่าประชากรโลกทั่วไป
 pageview  1204268    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved