Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 18/03/2556 ]
มะเร็งลำไส้ใหญ่เสี่ยง! ทั้งหญิง-ชาย

  “มะเร็ง” เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรโลก ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมีสถิติสูงกว่าอุบัติเหตุและโรคหัวใจ
          ข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่าประชากรโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆปี จนคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9 ล้านคน ในปี 2559 และเพิ่มเป็น 11.4 ล้านคน ในปี 2573
          โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรทั้งหญิง... ชายทั่วโลก คือ มะเร็งปอด รองลงมา มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งเต้านม
          ประเทศไทยพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งเช่นกัน มะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
          ประมาณว่าคนไทยเป็น...“มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในอัตราประชากรชาย 10.9 คน ต่อประชากร 100,000 คน และในผู้หญิงมีอัตราส่วนอยู่ที่ 7.3 คน ต่อประชากร 100,000 คน
          น่าสนใจอีกว่า...จังหวัดที่พบมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ตามมาด้วยจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น
          ปริญญา
          พลโทรองศาสตราจารย์นายแพทย์ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่ ทวารหนักและมะเร็งวิทยา บอกว่า มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ พบในอุบัติการณ์ที่สูง ร่วมกับขาดวิธีการตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือระยะเริ่มแรกที่แม่นยำ
          รวมทั้ง...ขาดวิธีการรักษาที่ได้ผลดี
          ตัวอย่างของเหตุผลเหล่านี้ อย่างเช่นมะเร็งปากมดลูก ทั้งๆที่พบมากกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่อัตราตายต่ำกว่า เพราะมีการตรวจคัดกรองที่ได้ผล สามารถทำได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่ได้เป็นมะเร็ง และการผ่าตัดเอามดลูกออกเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีมาก
          “มะเร็งเต้านม ก็มีการตรวจแบบแมมโมแกรมที่แม่นยำ พบตั้งแต่เริ่มแรก เล็กๆ ร่วมกับการรักษาได้ผลดี จนอัตราการตายลดลงเรื่อยๆ ส่วนมะเร็งปอด...แม้ว่าการรักษาได้ผลดีพอควร แต่ยังไม่มีวิธีตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้เมื่อตรวจพบผู้ป่วยมีอาการของโรคมะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร”
          แล้วก็มาถึง...มะเร็งตับ บ้านเราถือว่ามีอุบัติการณ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคอีสาน อีกทั้งยังไม่มีวิธีการตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มแรก ร่วมกับวิธีการรักษายังไม่ได้ผลดี
          สำหรับ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” คุณหมอปริญญา บอกว่า แตกต่างจากมะเร็งที่กล่าวมา แม้จะมีอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากกลไกการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งก่อน
          โดยสารก่อมะเร็งในกากอาหารที่อยู่ภายในลำไส้ใหญ่ ร่วมกับน้ำย่อย, กรดน้ำดีและแบคทีเรีย สร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุลำไส้ใหญ่ จนแบ่งตัวผิดปกติเรียกว่า “การผ่าเหล่า”
          “เมื่อขบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นหลายๆครั้ง ใช้เวลานานนับสิบปีก็จะเกิดติ่งเนื้องอกเล็กๆที่ไม่ใช่มะเร็งขึ้น เมื่อติ่งเนื้อเกิดความผิดปกติซ้ำอีกเรื่อยๆก็จะเติบโตเปลี่ยนเป็นมะเร็งในที่สุด”
          ติ่งเนื้อขนาด 1 เซนติเมตร จะใช้เวลา 10 ปีในการเปลี่ยนเป็นมะเร็ง...เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงพบมะเร็งชนิดนี้ในคนอายุเฉลี่ย 63 ปี และพบในคนท้องผูกมากกว่า
          นั่นเป็นเพราะว่าเยื่อบุลำไส้ใหญ่สัมผัสความระคายเคืองได้นานกว่าคนถ่ายปกติ คนที่ทานอาหารที่มีกากใยสูง
          “กากใยจะช่วยดูดซึมสารก่อมะเร็ง และขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว จนโอกาสสัมผัสเยื่อบุน้อยลง จึงมีเวลาตรวจพบก่อนที่จะเป็นมะเร็งได้”
          นอกจากนี้ ผลการรักษามะเร็งในระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดเพียงครั้งเดียวให้ผลหายขาดประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการตรวจหาระยะก่อนเป็นมะเร็ง
          นอกจากให้ผลหายขาดสูง ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายของประเทศ เพราะในมะเร็งที่ลุกลามไปแล้วต้องให้การรักษาเสริมด้วยการฉายรังสี ยาเคมีบำบัด
          คุณหมอปริญญา บอกอีกว่า การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก ตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ เรียกว่าการตรวจคัดกรอง ในหลายๆประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจะจัดตรวจให้ประชาชนฟรี เป็นโครงการสาธารณสุขของชาติ เพื่อให้ประชาชนของเขามีสุขภาพดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคลงไป โดยรักษาตั้งแต่แรก
          ประเทศแถบยุโรปการคัดกรอง พบว่าสามารถตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น และเป็นระยะเริ่มแรกสูงขึ้น เป็นผลให้อัตราตายจากโรคนี้ลดลง สำหรับประเทศไทยได้ข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีโครงการตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในเร็ววันนี้
          การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ใช่การตรวจสุขภาพประจำปี และมักไม่รวมอยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลทั่วไป แม้ว่าจะมีหลายวิธีแต่ที่แม่นยำที่สุด คือการส่องกล้องตลอดความยาวลำไส้
          แน่นอนว่า “การส่องกล้องลำไส้ใหญ่” แพทย์อยากจะตรวจพบระยะที่เป็นติ่งเนื้อมากกว่าระยะที่เป็นมะเร็ง เรียกว่า “ก่อนเป็น” หรือ “เกือบเป็น”
          โรคร้ายที่ระยะติ่งเนื้อนี้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆให้ตรวจพบได้เลย คุณหมอปริญญา มีข้อแนะนำว่า ให้หญิง หรือชาย ที่มีอายุ 50 ปี ที่ไม่มีอาการใดๆเลยนี่แหละไปทำการตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาว
          ส่วนใครที่มีประวัติพ่อแม่ พี่น้องโดยตรงเป็น ให้เริ่มตรวจที่อายุ 40 ปี
          การปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ป้องกันโรคได้ระดับหนึ่ง ไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ การแพทย์ที่เจริญขึ้นทำให้เกิดการป้องกันโรคในระดับสองขึ้น เช่น การฉีดวัคซีน ตรวจร่างกายประจำปี ตรวจคัดกรอง
          ต้องย้ำว่า การเจาะเลือดหาค่า CEA ไม่ใช่การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ค่านี้...มักขึ้นสูงเมื่อมะเร็งเป็นมากแล้วและไม่ขึ้นสูงในมะเร็งทุกราย รวมทั้งไม่สูงในระยะที่เป็นติ่งเนื้อ แต่เป็นประโยชน์ในการติดตามผลการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่...ไม่ใช่ในการตรวจคัดกรอง
          สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ต้องกังวลใจมากนัก ผลการรักษามะเร็งชนิดนี้ค่อนข้างดีมาก ผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาไปแล้วมีชีวิตเช่นปกติจำนวนมาก หลายคนอยู่มาเกือบ 20 ปีแล้ว และอยู่มาเกิน 10 ปี แทบจะเดินชนกันตาย ทั้งๆที่บางคนลุกลามไปตับ แพทย์ได้ตัดส่วนตับที่ลุกลามออกไปอีกก็ยังอยู่มาเกินกว่า 5 ปี
          แถมยังแข็งแรงดี ทำงานได้ หลายๆคนก็ยังรับราชการอยู่
          ปัจจุบันการผ่าตัดจึงเป็นการผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาด ตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นมะเร็งออกให้ห่างจากก้อนมะเร็งด้านละ 5-10 เซนติเมตร ตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็ง ตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้ได้มากที่สุด อย่างน้อย 12 ต่อมขึ้นไป...ถ้าลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ก็ต้องให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
          พลโท รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ฝากว่า ช่วงเดือนมีนาคมทุกปีจะมีการรณรงค์เตือนภัยให้ตระหนักถึงโรคมะเร็งลำไส้ ปีนี้จะจัดงานวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2556 เวลา 12.00–16.00 น. ที่ห้อง ประชุมสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
          ผู้ที่สนใจอยากจะรู้จักโรคร้าย “มะเร็งลำไส้” ให้มากกว่านี้ เชิญร่วมงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น.

          ต้องย้ำว่าการเจาะเลือดหาค่า CEA ไม่ใช่การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ค่านี้...มักขึ้นสูงเมื่อมะเร็งเป็นมากแล้วและไม่ขึ้นสูงในมะเร็งทุกราย รวมทั้งไม่สูงในระยะที่เป็นติ่งเนื้อ แต่เป็นประโยชน์ในการติดตามผลการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่...ไม่ใช่ในการตรวจคัดกรอง

 pageview  1205712    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved