Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 05/10/2564 ]
หุ่นยนต์ เอไอ และนวัตกรรมฝีมือคนไทย กำลังเสริมภารกิจสู้ภัยโควิด-19

ท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และยากที่จะคาดเดาว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์ ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ยังรวมถึงบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์นั้น นับว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรด่านหน้า ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวชภัณฑ์และอุปกรณ์สนับสนุน เป็นที่ต้องการของนานาประเทศ ทำให้เกิดความขาดแคลน ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
          นี่จึงเป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมด้วยฝีมือของคนไทยเอง เพื่อที่จะเป็นกำลังเสริมในการต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาด บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ระดมความคิดและความเชี่ยวชาญร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาและผลิตนวัตกรรม หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ  เพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกในหลากหลายรูปแบบ ในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่เตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ แบบทรีอินวัน ที่ร่วมพัฒนากับ ปตท.สผ. ให้สามารถทำงานได้ถึง 3 หน้าที่ในเครื่องเดียว คือ สร้างแรงดันลบ กรองอนุภาค และฆ่าเชื้อโรค หลักการทำงาน คือ จะมีกล่องเครื่องกำเนิดแรงดันลบซึ่งปรับความดันอากาศที่ดูดเข้าไปภายในเตียงหรือรถเข็นซึ่งติดตั้งแคปซูล เพื่อทำให้ความดันอากาศภายในต่ำกว่าอากาศภายนอก  อากาศจึงไม่ไหลออกสู่ภายนอก จึงช่วยไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไป ตัวเครื่องติดตั้งแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA Filter) ที่สามารถกรองอนุภาค ระดับ 0.3 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ 100 เท่า ได้ถึง 99.99% พร้อมด้วยหลอดไฟ UV-C  ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค จึงทำให้เมื่อปล่อยอากาศกลับสู่ภายนอกจะมีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงเมื่อต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ
          หลักการเดียวกัน ยังได้พัฒนาเครื่องกำเนิดแรงดันลบแบบเคลื่อนที่ขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อนำไปติดตั้งร่วมกับกล่องทำหัตถการ จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เครื่องกำเนิดแรงดันลบนี้ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ และยังสามารถใช้งานด้วยระบบไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลอีกด้วย โดย ปตท.สผ. ได้มอบเตียงและกล่องทำหัตถการแรงดันลบ ให้กับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อนำไปส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วทุกภาค รวมทั้ง ได้มอบเตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบแก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย
          อีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญ คือ “ชุดอุปกรณ์พร้อมระบบตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็น” (IoT Cold Chain) ซึ่งช่วยในการเก็บรักษาวัคซีนโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ โดยได้ประยุกต์เทคโนโลยีการสำรวจปิโตรเลียม ที่เรียกว่า การเก็บข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนแบบไร้สาย (Wireless seismic survey) ซึ่งใช้ในการศึกษาลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของชั้นหิน โดยเปลี่ยนเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดคลื่นสะท้อน มาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาวัคซีน ตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็ก สำหรับนำไปติดที่ตู้เย็นซึ่งใช้เก็บรักษาวัคซีน โดยระบบจะทำการตรวจวัดอุณหภูมิว่าอยู่ในช่วงที่ต้องการหรือไม่ และส่งข้อมูลมายังจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะส่งสัญญาณเตือนไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขได้ทันเวลา รวมถึงจะแสดงผลไปยังส่วนกลางซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ทุกชิ้นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อเก็บรักษาวัคซีนที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่นในกรณีของโควิด ซึ่งอุปกรณ์ชุดนี้ เออาร์วี ได้พัฒนาและนำส่งต่อกระทรวงสาธารณสุข
          “คาร่า” (CARA) หุ่นยนต์ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการนำส่งเวชภัณฑ์และอาหารภายในโรงพยาบาล สถานพยาบาล และสถานที่กักตัวผู้ป่วย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยสามารถควบคุมบังคับจากระยะไกลกว่า 100 เมตร จึงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ป่วย รวมทั้ง เป็นช่องทางการสื่อสารในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากระยะไกลผ่านแท็บเล็ตที่ติดตั้งไว้ ตอนนี้ คาร่ากำลังทำหน้าที่ลำเลียงยา อาหาร และอื่น ๆ อยู่ที่โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ของกลุ่ม ปตท.
          มาถึงหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี ที่ชื่อว่า เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์ (Xterlizer)  ซึ่งเออาร์วีพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ด้วยแสงอัลตราไวโอเลตซี (UV-C)  ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ใน พื้นที่ขนาด 25 ตร.ม. ภายในเวลาเพียง 5 นาที รวดเร็ว สะดวกต่อการใช้งาน สามารถเคลื่อนที่และปฏิบัติงานแบบไร้สายได้โดยอัตโนมัติ  หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เอง นอกจากนี้ ยังมีเซนเซอร์อินฟราเรดจับความเคลื่อนไหว ซึ่งจะหยุดปล่อยแสง UV-C ทันทีหากพบการเคลื่อนไหว ทำให้การใช้งานมีความปลอดภัยมากขึ้น
          เหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตนวัตกรรมของบริษัทไทย ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์วิกฤต และได้ถูกนำไปใช้งานในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะกำลังเสริมที่สำคัญเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์ของโลกครั้งนี้
          บรรยายใต้ภาพ
          เตียง กล่องหัตถการ และรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ

 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved