Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 16/09/2564 ]
โควิดทำครอบครัวเครียดตกงานคิดสั้น

ชูวัคซีนใจในชุมชน-ครอบครัวพลังบวก
          การประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติประจำปี2564 "ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลสังคมไทยในวิถีชีวิตใหม่" จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดพม.กล่าวในพิธีเปิดว่าการระบาดของโควิด-19 ครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญที่ พม.ต้องดูแลและพัฒนา โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบางที่มีสมาชิกเป็นเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงรวมถึงแม่ตั้งครรภ์ พม.ต้องสนับสนุนเป็นกำลังเสริมดูแลครัวเรือนเหล่านี้ให้ได้รับผลกระทบน้อยสุดใน 5 มิติ ทั้งรายได้ที่อยู่อาศัยการศึกษาสุขภาพและการสื่อสารการเข้าถึงบริการภาครัฐโดยอาศัยความร่วมมือท้องถิ่นร่วมดูแล
          ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว กล่าวว่าคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)สำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวภายใต้สถานการณ์โควิดพบร้อยละ 86.5 ได้รับผลกระทบด้านการงานรายได้ลด ถูกพักงานเลิกจ้าง ขณะที่ความเครียดส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 5 จากคะแนนเต็ม 10 โดยร้อยละ 81.7 ไม่ทราบวิธีว่าต้องทำอย่างไร และร้อยละ 4.4 ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีความคิดฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ การระบาดโควิดต้องเฝ้ามองครอบครัวไทยอย่างใกล้ชิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมเศรษฐกิจนำไปสู่ความไม่มั่นคงของครอบครัวไทย การมียุทธศาสตร์ชาติด้านครอบครัวจะมีทิศทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการปรับตัวสู่นิวนอร์มอลที่ต้องเรียนรู้อยู่กับปัญหาต่อไปความร่วมมือทุกฝ่ายมีความสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนครอบครัวไทยสู่ความเป็นฐานสังคมที่มั่นคงให้กับประเทศ
          ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กลาวว่าความใกล้ชิดของครอบครัวยังเป็นพลังใจสำคัญ และเป็นที่มาของกระบวนการที่กรมได้ส่งเสริมเรื่องวัคซีนใจในการดูแลจิตใจ ซึ่งกันและกันและส่งต่อความช่วยเหลือสู่ผู้อื่นผ่านกลไกวัคซีนใจในชุนชน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆไปให้ได้ ขณะที่รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมกล่าวว่าศูนย์ได้ร่วมกับหลายภาคส่วน ส่งเสริมให้เกิดครอบครัวพลังบวกให้มีระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชนด้วยจิตวิทยาเชิงบวก เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยแก้และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เผชิญภาวะความเครียดสะสม.

 pageview  1205724    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved