Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 25/02/2563 ]
จัด4รพ.ใหญ่ เตรียมรับมือ ไวรัสโควิด-19

  ขึ้นบัญชีอันตรายร้ายแรง-ลำดับ14
          ไทยหวั่นซ้ำรอยเกาหลีใต้ที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบพุ่งพรวด วันเดียวกว่า 200 ราย ล่าสุด คกก. โรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ให้ “ไวรัสโคโรนา 2019” ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายโรคที่ 14 หวังเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาด ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคดำเนินการแยกกัก กักกันหรือควบคุมไว้สังเกตในสถานที่ที่กำหนด หากใครฝ่าฝืนจ่อมีโทษถึงติดคุก แต่ยังไม่ประกาศไทยเข้าการระบาดระยะ3 ด้าน “กรมการแพทย์” เตรียมไว้ก่อน กำหนด 4 รพ.ใหญ่ รับมือหากมีการระบาดวงกว้างใน กทม. ด้านธุรกิจการบินโอด ผู้โดยสารหด เตรียมรัดเข็มขัด-ขอรัฐบาลช่วย
          ทั่วโลกยังขวัญผวากับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่มีต้นตอมาจากประเทศจีน และขณะนี้เชื้อระบาดไปในอีก 28 ประเทศทั่วโลก โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (KCDC) แถลงว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 231 คน เท่ากับมีผู้ติดไวรัสในประเทศเพิ่มขึ้นรวมเป็น 833 คน ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7 คน ผู้ติดไวรัสกลุ่มใหญ่ที่สุดเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและกลุ่มนิกายชินชอนจีในเมืองแทกู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศและมีรายงานทหารประมาณ 7,700 นาย ถูกกักกันโรคหลังพบทหารติดไวรัสมรณะ 11 นาย ขณะที่สายการบินหลายแห่ง รวมทั้งโคเรียน แอร์ ประกาศระงับเที่ยวบินเข้าแทกูจนถึงวันที่ 27 มี.ค.นี้ ส่วนสายการบินแบมบู แอร์เวย์ส ของเวียดนาม ประกาศระงับทุกเที่ยวบินเข้าเกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.นี้เป็นต้นไป รวมถึงอาจพับแผนเปิดเส้นทางบินใหม่กรุงฮานอย-สนามบินอินชอน ในกรุงโซล ในเดือน มิ.ย.นี้ด้วย
          ขณะที่สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่าเกาหลีเหนือกักกันชาวต่างชาติ 380 คน เพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัสมรณะ ผู้ถูกกักกันส่วนใหญ่เป็นนักการทูตในกรุงเปียงยาง ทั้งนี้ เกาหลีเหนือ ยังไม่เคยยืนยันมีผู้ติดป่วยโควิด-19 ในประเทศ ทั้งที่มีพรมแดนติดกับจีน จนหลายฝ่ายกังวลว่าเกาหลีเหนือที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร ขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์เพื่อตรวจและรักษา จะยิ่งทำให้เกิดการระบาดของเชื้อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ส่วนในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกนั้น พบว่าอิตาลีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในยุโรป อยู่ที่ 150 คน พบผู้เสียชีวิตรายที่ 4 เป็นชายวัย 84 ปี ในภูมิภาคลอมบาร์ดี ทางตอนเหนือของประเทศ เจ้าหน้าที่สั่งปิด 11 เมืองเล็กในลอมบาร์ดีและอีกภูมิภาคคือเวเนโต เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พลเมือง 50,000 คน ต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษหากต้องการออกนอกพื้นที่ ส่งให้ธุรกิจห้างร้าน โรงเรียนและการแข่งขันกีฬาต้องระงับกิจกรรมทุกอย่างไปด้วย ขณะที่อิหร่าน พบผู้เสียชีวิตจากไวรัสมรณะอีก 4 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มเป็น 12 คน ผู้ติดไวรัสที่ยืนยันแล้วอยู่ที่ 61 คน แหล่งระบาดส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองศักดิ์สิทธิ์ “กอม” และพบแพร่ระบาดในอีก 4 เมืองใหญ่ รวมทั้งกรุงเตหะราน แต่รัฐบาลอิหร่านยังยืนยันจัดการปัญหาการระบาดของไวรัสอย่างโปร่งใส ขณะที่อัฟกานิสถานยืนยันพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นคนแรก อยู่ที่จังหวัดเฮรัต ทางตะวันตก และเพิ่งเดินทางกลับจากอิหร่าน เช่นเดียวกับคูเวต พบผู้ติดเชื้อ 3 คนแรก และบาห์เรนพบผู้ติดไวรัสคนแรก โดยผู้ติดเชื้อจากใน 2 ประเทศดังกล่าวเพิ่งเดินทางเข้าอิหร่าน
          ส่วนที่จีนคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน แถลงยอดผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต ณ วันที่ 23 ก.พ. มีจำนวน 150 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 409 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 2,592 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 77,150 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่ายอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีกว่า 1,400 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 32 คน รวมถึงในอิหร่าน 12 คนซึ่งถือว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสมรณะมากที่สุดนอกแผ่นดินจีน
          ขณะที่สถานการณ์ในไทย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันขณะนี้ไทยมีผู้ป่วย 35 ราย กลับบ้านได้แล้ว 21 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 14 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 รายที่รักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร อาการทรงตัว โดยตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-22 ก.พ.2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังสะสม 1,453 ราย คัดกรองจากสนามบิน 68 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,385 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล พร้อมยืนยันยังไม่มีการพิจารณาประกาศให้ประเทศ ไทยเข้าสู่การระบาดของไวรัสโคโรนา ในระยะที่ 3 คือมีการติดเชื้อกันเองภายในประเทศ แบบเกาหลีใต้ที่พบการแพร่เชื้อกันเองภายในประเทศ ส่วนกรณีผู้ป่วยเฝ้าระวังชายชาวจีนที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดนั้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ได้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังรักษาต่อตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติจากโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ขณะที่ทุกด่านทั้งบก เรือ อากาศ ด่านธรรมชาติยังคงเข้มงวดการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางอย่างต่อเนื่อง
          นอกจากนี้ นพ.ณรงค์กล่าวเสริมว่าขณะนี้ประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม ต้องย้ำมาตรการเฝ้าระวังโรคในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นได้แก่ 1.การคัดแยก คัดกรองผู้ป่วยระบบทางเดินหายในออกจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ2.ปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยให้เร็วและกว้างมีการฝึกซ้อม รพ.ทุกสังกัดเตรียมรับมือสถานการณ์ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทั้งนี้ได้เตรียมสถานที่ บุคลากร และเครื่องมือที่พร้อมปฏิบัติงานภายใน 48 ชั่วโมงหากพบสถานการณ์ระบาดระดับ 3 โดยมาตรการอยู่ที่ว่าจะเจอผู้ป่วยมากแค่ไหน เบื้องต้นเตรียมโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ คือ รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก), และสถาบันบำราศนราดูร เพื่อรองรับถ้ามีเคสเพิ่ม 30-40 ราย ส่วน รพ.สังกัด กทม.และโรงเรียนแพทย์จะเตรียมการในระยะต่อไป
          จากนั้นเวลา 16.40 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ประกาศให้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ลำดับที่ 14 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆนี้ โดยคนทำงานทุกคนยังใช้นโยบายการรับมือสถาน– การณ์นี้เชิงบวก 1 คือหากสถานการณ์อยู่ในระยะที่ 2 แล้วก็จะใช้มาตรการป้องกันระดับ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าเราอยู่หน้าสถานการณ์ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม ดังนั้นการประกาศให้ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ไม่ใช่ว่าเอาไม่อยู่ แต่เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคนี้เพิ่มมากขึ้น การประกาศนี้เน้นการควบคุมป้องกันโรคมากกว่าจะมุ่งเอาผิดตามกฎหมาย พร้อมแนะนำหากไม่จำเป็นอย่าเดินทางไปประเทศเสี่ยง ถ้าไปก็ขอให้ระมัดระวัง ส่วนคนในประเทศก็กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงถ้าจะมีการชุมนุมในช่วงนี้ ขอดูสถานการณ์ของโรคด้วย หากดูแล้วเข้าไปในที่แออัดและคาดว่ามีคนที่เจ็บป่วย มีอาการ ขอให้แนะนำให้เลื่อน ถ้ายังจะชุมนุมต้องดูตามสถานการณ์ อาจจะขอไม่ให้มีการชุมนุม เป็นต้น
          ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การยกระดับไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย จะมีประโยชน์ในการป้องกันโรค และควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัย
          ว่าได้เกิดโรคติดต่อ อันตรายหรือระบาดในพื้นที่ใด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นจะมีอำนาจดำเนินการเพื่อความปลอดภัย โดยการแยกกัก กักกัน หรือควบคุมไว้สังเกตในสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามมาตรา 52 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          สำหรับโรคติดต่ออันตราย 13 โรค ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง
          สำหรับการเฝ้าระวังจากหน่วยงานอื่นๆ วันเดียวกัน นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำหนังสือด่วนแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ขอความร่วมมือบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด หลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า มาเลเซีย และเวียดนาม เมื่อถึงไทยแล้วต้องไปเข้ารับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเชื้อโรคที่โรงพยาบาลทันที หากตรวจพบหรือมีภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคให้หัวหน้าหน่วยงานพิจารณาสั่งหยุดงานและเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่กลับมาถึงประเทศไทย โดยไม่ถือเป็นการขาดเรียน หรือขาดการปฏิบัติงาน และไม่นับเป็นวันลา ขณะที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เตือนคนไทยในนครแทกู และเมืองชองโด รวมทั้งคนที่มีถิ่นฐานที่อยู่ที่อื่นที่เคยเดินทางไปนครแทกูเมื่อเร็วๆนี้ ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกที่พักอาศัยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจ วินิจฉัยเบื้องต้นที่คลินิกที่รัฐบาลกำหนด หากมีกรณีเร่งด่วนที่ต้องติดต่อราชการกับสถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถติดต่อสายด่วนได้ที่เบอร์ +82 1067 4700 95 หรือทางอีเมล rteconsular@gmail.com
          ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า การระบาดของไวรัสส่งผลกระทบต่อผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนที่จีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ว่า รัฐบาลต้องเจรจาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจีนต่อไปว่าจะต้องทำอย่างไร หรือมีมาตรการอย่างไรโดยเฉพาะลอตแรกหากเสียหายจะทำอย่างไร และลอต 2 ทำอย่างไรจะให้สามารถส่งทุเรียนออกไปได้ ตนสั่งให้ทุกกระทรวงรวบรวมมาตรการแล้ว เพื่อให้มาตรการที่ออกมาตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินมากพอสมควร โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานราก
          ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีกรมศุลกากรยึดหน้ากากอนามัยที่ลักลอบส่งออกนอกประเทศ จำนวน 100,000 ชิ้น ได้ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพว่า กรมศุลฯ ได้มอบหน้ากากอนามัยทั้งหมดให้กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว
          ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการสายการบินในไทยทั้งกลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชียไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ ต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก เนื่องจากผู้โดยสารลดลงต่อเนื่องและเตรียมออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจ รวมถึงจะเข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.คมนาคม ให้ออกมาตรการช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าธรรมเนียมทางการบิน เป็นต้น

 pageview  1204990    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved