Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 15/01/2562 ]
แก้ฝุ่นควันกทม. บีที-67บินโปรยน้ำ

 กับ "ฝนหลวง" คนโวยร้านค้า โขก "หน้ากาก"
          นายกฯรับรู้แล้ว ปัญหาฝุ่น ละอองจิ๋วเกินมาตรฐานทั่วฟ้าเมืองกรุงและปริมณฑล สั่งทุก หน่วยเร่งแก้ ชี้ทุกคนมีส่วนก่อปัญหาฝุ่นต้องร่วมใจแก้ กำชับกระทรวงพาณิชย์คุมเข้มร้านฉวยโอกาสขึ้นราคา หน้ากากอนามัย ด้าน ทบ.ระดมเครื่องพ่นน้ำตามถนนหลัก ส่วน ทอ.เตรียมเครื่องบิน BT-67 โปรยน้ำหวังลดฝุ่นละออง ขณะที่อธิบดี คพ.ชี้สถานการณ์ยังไม่วิกฤติ เชื่อเอาอยู่ ได้แต่วอนประชาชนตระหนักแต่อย่าตระหนก ล่าสุดพบคนแห่ร้องผ่านสายด่วน 1569 “หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5” ขาดตลาด หนำซ้ำบางร้านค้ายังโก่งราคาขาย ส่วนฟากนักการเมืองได้ทีรุมจวกรัฐบาล-ผู้บริหาร กทม.แก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้า
          จากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองจิ๋ว หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมไปทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทางเดินหายใจของประชาชนนั้น
          “นายกฯ” สั่งแก้ปัญหาฝุ่นละออง
          ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวระหว่างมาปฏิบัติราชการที่อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย อ.เมืองเชียงใหม่ ถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจำนวนมากในเขตพื้นที่ กทม.ว่า สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และ กทม.ไปฉีดน้ำ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสวมหน้ากากอนามัย ส่วนการสำรวจต้นตอพบว่ามาจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม การจราจร การเผาไร่นา เมื่อทุกคนมีส่วนช่วยทำให้เกิดปัญหา ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาจะให้รัฐบาลทำงานคนเดียวไม่ได้ ส่วนเรื่องทำฝนหลวงได้เตรียมการไว้ แต่ต้องใช้เวลาถ้าทำไปแล้วลมไม่ไปในทิศทางที่กำหนด ฝนก็ไม่ตก และต้องดูปริมาณความชื้นในอากาศ พร้อมกันนี้ ยังสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาหน้ากากอนามัยไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาในช่วงนี้
          ทบ.นำรถน้ำไปพ่นหลายจุด
          จากนั้น พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกสนับสนุนหน่วยงานต่างๆคลี่คลายปัญหาฝุ่นละออง โดยให้กองทัพภาคที่ 1 กรมการทหารช่างและหน่วยทหารในพื้นที่ กทม.เตรียมรถบรรทุกน้ำและรถดับเพลิงจำนวน 60 คัน พร้อมเข้าปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำในห้วงกลางคืนระหว่างวันที่ 14-16 ม.ค. ตามถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่น อาทิ สีลม สาทร ถนนวิทยุ ประตูน้ำ และเวลา 18.00 น. และเวลา 05.00 น. กองทัพภาคที่ 1 จะนำรถบรรทุกน้ำ 20 คัน ออกฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่สาธารณะ อาทิ เขตลาดพร้าว จตุจักร ดุสิต เป็นต้น นอกจากนี้ในเวลา 21.00 น. จะนำรถไปฉีดพ่นละอองน้ำตามเส้นทางหลัก ได้แก่ สาทร สีลม ถนนวิทยุ ราชประสงค์ และประตูน้ำ
          ทอ.จัด BT-67 บินโปรยน้ำ
          ด้าน พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ โฆษก ทอ. กล่าวว่า พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศจัดเครื่องบิน BT-67 จำนวน 2 เครื่อง จากกองบิน 46 เตรียมพร้อมในที่ตั้งกองบิน 6 ดอนเมือง ภายในเย็นวันที่ 14 ม.ค.เพื่อบินโปรยน้ำลดฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้งนี้ เครื่องบิน BT-67 สังกัดกองบิน 46 สามารถบรรทุกน้ำได้เที่ยวละประมาณ 3,000 ลิตร
          คพ.ยันสถานการณ์ยังไม่วิกฤติ
          ต่อมานายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ.กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองดังกล่าวได้ประสานหน่วยงาน เช่น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้ช่วยเหลือทำฝนเทียมเพื่อลดฝุ่นมาตลอด คาดว่าในวันที่ 15 ม.ค. อาจมีโอกาสจะทำฝนเทียมได้ ในส่วนอื่นๆได้ประสานกองบัญชาการตำรวจจราจร ในการตรวจจับรถควันดำบนเส้นทางจราจร ร่วมกับ ขสมก.ตรวจรถโดยสาร ขสมก.ในอู่ต่างๆ พร้อมร่วมประชุมและประสาน กทม. เพื่อดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 ทั้งให้ทุกเขตกวาดล้างถนนอย่างเข้มข้นทุกวัน รวมทั้งการประสานกระทรวงสาธารณสุขเตรียมแจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
          “เชื่อว่าสถานการณ์ PM 2.5 ในปีนี้ ยังไม่ถึง ขั้นวิกฤติและเราเอาอยู่ ขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่อย่าตระหนก เพราะสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงเท่ากับปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งค่าสูงสุดเคยไปแตะที่ 120-130 มคก./ลบ.ม. ในช่วง 1-2 วัน ส่วนปีนี้ตรวจพบค่าอยู่ระหว่าง 70- 100 มคก./ลบ.ม. เศษเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมความพร้อมในการรับมือไว้แล้ว คาดว่าสถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวังในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้” นายประลองกล่าว
          เอไอทีชี้ที่มาจากรถควันดำ
          ส่วนกรณีที่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่เกิดปัญหามลพิษเป็นอันดับ 9 ของโลก อธิบดี คพ.กล่าวว่า คงเป็นข้อมูลจากภาคประชาชน และพร้อมเปิดใจรับฟังทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดของภาคประชาชนจะเน้นดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ณ ขณะตรวจวัดหรือเป็นรายชั่วโมง ทำให้พบค่าที่สูงมาก แต่ของ คพ. ยึดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่วนในพื้นที่ กทม. ค่า PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น ผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) พบว่า ร้อยละ 50-60 เกิดจากควันดำ รถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 35 เกิดจากการเผาในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในพื้นที่ กทม.มีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2.5 ล้านคัน และรถยนต์ทั่วไป 9.8 ล้านคัน ซึ่งมาตรการนั้น หากเจอรถควันดำจะจับปรับทันที ส่วนจะมีการจำกัดรถยนต์ ที่เข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นในหรือไม่ เป็นเรื่องของกรมการขนส่งทางบก และ บก.จร.จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก
          อากาศหลายพื้นที่ทั่วกรุงยังแย่
          ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลในวันที่ 14 ม.ค. ว่ายังคงตรวจพบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณเดิมๆ ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน แขวงบางนา เขตบางนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ แขวงดินแดง เขตดินแดง ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ริมถนนดินแดง เขตดินแดง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม. ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ต.ทรงคนอง ต.ตลาด อ.พระประแดง ต.ปากน้ำ อ.เมือง ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่ม-แบน ริมถนนคู่ขนาน พระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร
          เตรียมขึ้นบินทำฝนหลวง
          สำหรับการทำฝนหลวง วันเดียวกัน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมฝนหลวงฯ ตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง เตรียมความพร้อมปฏิบัติการในวันที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการทำฝนหลวง เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างไรก็ตามจากการประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ การติดตามสภาพอากาศ และศึกษาถึงความเป็นไปได้ คาดว่าในระหว่างวันที่ 15-18 ม.ค.นี้ มีแนวโน้มที่จะทำฝนหลวงได้โดยใช้เครื่องบินอเนกประสงค์ CASA จำนวน 2 ลำ
          รฟม.กำชับดูแลไซต์ก่อสร้าง
          ในส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) ที่ถูกมองจากคนในสังคมว่าเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุฝุ่นละอองปกคลุม กทม. จากปัจจุบันมี การก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึง 6 เส้นทางนั้น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ตามปกติ รฟม.มีมาตรการกำกับดูแลผู้รับเหมา เพื่อไม่ให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปล่อยมลภาวะเกินกำหนดอยู่แล้ว สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนนั้น เกิดจากการเผาไหม้หรือท่อไอเสีย ซึ่ง รฟม.กำชับให้ผู้รับเหมาดูแลเครื่องจักร เพื่อป้องกันไม่ให้ไอเสียเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ ก็มีมาตรการดูแล ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากทรายและฝุ่นละอองจากปูน โดยแจ้งให้ผู้รับเหมาทุกรายต้องฉีดน้ำตามกองเก็บวัสดุและนำผ้าใบมาปิดคลุมกองวัสดุด้วย
          “รฟม.มีมาตรการฝุ่นละอองตามกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้แจ้งผู้รับเหมาให้หมั่นล้างท่อไอเสียและท่อกรองอากาศเครื่องจักรให้มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการดูแลรถบรรทุก โดยถ้าเทียบกับปริมาณรถยนต์ เครื่องจักรที่อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าถือเป็นส่วนน้อย แต่ถ้าเราร่วมมือกันก็จะช่วยลดมลภาวะได้” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าว
          เครื่องบินขึ้นได้ไม่มีปัญหา
          ขณะเดียวกันในส่วนของการบิน แม้จะมีภาพที่แชร์ผ่านโลกออนไลน์ถึงสภาพฝุ่นละอองค่อนข้างหนาในสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ยืนยันว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ปกคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะบนทางวิ่ง (รันเวย์) ของสนามบินยังไม่มีผลกระทบต่อการขึ้นลงของเครื่องบินที่ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ เพราะจะมีระบบเครื่องช่วยเดินอากาศในการนำอากาศยานเข้าสู่รันเวย์ และทางขับ (แท็กซี่เวย์) ได้โดยอัตโนมัติ ผู้โดยสารจะได้รับความปลอดภัยแน่นอน
          ไม่กระทบจราจรทางอากาศ
          เช่นเดียวกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศ ไทย จำกัด (บวท.) ที่แจ้งว่า ภาพรวมยังไม่มีผลกระทบต่อการจัดจราจรทางอากาศ ทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ยังสามารถบริหารจัดการได้ตามปกติและตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)
          สธ.เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงป่วย
          วันเดียวกัน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการดูแลสุขภาพของประชาชนในช่วงนี้ว่า ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง โดยมอบให้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ.เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ สธ.เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนและวิธีป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 3 ส.ค.2561- 7 ม.ค.2562 ไม่พบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค ได้แก่ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ที่เฝ้าระวังสูงขึ้นผิดปกติ หรือพบเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาและไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรง
          แนะงดเดินวิ่งในพื้นที่เสี่ยง
          ขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า คนที่มีโรคประจำตัวระบบทางเดินหายใจ ได้รับผลกระทบมาก และคนที่มีโรคประจำตัวโรคหลอดเลือดและหัวใจเสี่ยงได้รับอันตราย โดยคนที่ป่วยภูมิแพ้จะแสดงอาการได้อย่างเด่นชัด และอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงลมโป่งพองไม่แพ้คนสูบบุหรี่ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้สูบบุหรี่ และยังส่งผลต่อหญิงตั้งครรภ์อาจได้รับอันตรายได้ พร้อมกันนี้ ขอเตือนคนที่ชอบออกกำลังกายตอนเช้า ขอให้งดในกลุ่มคนที่ชอบจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เดิน วิ่ง ในพื้นที่ที่กรมควบคุมมลพิษเตือนว่ามีฝุ่นละอองสูง
          โวยร้านค้าขึ้นราคาหน้ากากอนามัย
          นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่และบุคลากรของโรงพยาบาลศิริราช ว่า ร้านค้าด้านข้างโรงพยาบาลมีการขึ้นราคาหน้ากากอนามัยชนิดคาร์บอน จากที่เคยซื้อเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ในราคากล่องละ 350 บาท ซึ่งใน 1 กล่อง จะมีหน้ากากชนิดคาร์บอนจำนวน 50 แผ่น เฉลี่ยแล้ว อยู่ที่ราคาแผ่นละ 7 บาท แต่ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ กลับไม่มีการขายยกกล่อง แต่แบ่งขายปลีกในราคาแผ่นละ 15 บาท จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบด้วย
          สั่งจับตาพวกโก่งราคา–กักตุน
          ต่อมานายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 และโพสต์ตามสื่อโซเชียลว่า หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ขาดแคลนว่า ได้สั่งการ ให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ หากไม่เพียงพอจะประสานงานกับโรงงานผู้ผลิตให้เร่งกระจายหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ไปยังพื้นที่ต่างๆ พร้อมกำชับ ให้ออกตรวจสอบการขายหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หากพบกักตุนเพื่อโก่งราคาจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยโทษกักตุน จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          จวก รบ.รู้แต่ไม่แก้ปัญหา
          อย่างไรก็ดี ปัญหามลพิษทางอากาศในขณะนี้ ก็กลายเป็นเรื่องให้สมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ ต่างดาหน้า ออกมากล่าวโจมตีการทำงานของหน่วยงานรัฐและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม.ที่พบปัญหาอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และระบุการไล่ฉีดน้ำไล่ฝุ่นควันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ทั้งที่มีสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาล คสช.ก็ควรหาทางแก้ไขมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดวิกฤติเช่นนี้
          “อัศวิน” ประชุมสั่งล้อมคอก
          ที่ศาลาว่าการ กทม. บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เชิญผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก กองบังคับตำรวจจราจร (บก.จร.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐานเป็นการเร่งด่วน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม มีค่าเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในพื้นที่ 33 เขตจาก 50 เขตพื้นที่ กทม. เบื้องต้นออกมาตรการตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 14 ม.ค. ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมรถฉีดละอองน้ำเพื่อบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน กทม.จัดเตรียมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ (N95) 10,000 ชิ้น แจกจ่ายให้ประชาชน ประสานผู้บังคับการตำรวจ นครบาล และกรมการขนส่งทางบก เข้มงวดหน่วยงานตรวจจับควันดำ ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ทุกชนิดเข้าเขตเมือง ตั้งแต่เวลา 05.00-09.00 น. และ 15.00-21.00 น. อย่างเข้มข้น โดยจะไม่จับปรับทันที แต่จะขอความร่วมมือและตักเตือนให้ดำเนินการตามระเบียบและข้อบังคับจราจร
          เกาหลีใต้อากาศก็ย่ำแย่
          วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ปัญหาฝุ่นละอองพิษกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยนอกเหนือจากสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ แล้ว ในช่วงเที่ยงวันที่ 14 ม.ค. กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้มีรายงานค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ทางการเกาหลีใต้เริ่มตรวจวัดค่าพีเอ็ม 2.5 เมื่อ 3 ปีก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นผลพวงจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น กับโรงงานอุตสาหกรรมจีน
          บรรยายใต้ภาพ
          เมืองในหมอก สภาพบรรยากาศในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่ดูขมุกขมัว เพราะถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละออง ซึ่งหลายพื้นที่ก็พบฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดนายกฯ สั่งแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการฉีดน้ำ ขณะที่ ทอ.เตรียมนำเครื่องบิน BT-67 (ภาพเล็ก) บินโปรยน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองในอากาศด้วย.

 pageview  1204267    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved