Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 27/06/2561 ]
แพทย์ไทยผู้เป็นแบบอย่าง อุทิศกายใจตลอดชีวิต ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายจนประจักษ์ไปทั่วโลก

หมอไทยสร้างชื่อในเวทีโลกเมื่อองค์กรโรคเลือดออกง่าย หรือ ฮีโมฟีเลียแห่งโลก (World Federation of Hemophilia) ได้มอบรางวัล WFH International Life Time Achievement Award ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศในการอุทิศตนทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยฮีโมฟีเลียมาตลอดชีวิต ให้กับ ศ.เกียรติคุณ พญ.ภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ในงานการประชุมวิชาการ ที่หอประชุม Scottish  Event Campus สกอตแลนด์ เมื่อเร็วๆนี้ Alain Weill ประธาน WFH ได้กล่าวสดุดีว่า ศ.เกียรติคุณ พญ.ภัทรพร ซึ่งปัจจุบันอายุ 86 ปี เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่ประจักษ์ในการทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย (ฮีโมฟีเลีย) ในหลายๆด้าน และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติตั้งแต่การศึกษาวิจัยการแยก Cryoprecipitate  จากพลาสมาและนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่ประเทศสหรัฐฯอย่างได้ผลเป็นครั้งแรก ในช่วงที่คุณหมอภัทรพร ศึกษาปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมื่อ 55 ปีก่อน
          ศ.เกียรติคุณ พญ.ภัทรพร เริ่มรับราชการที่แผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี 2500 แล้วย้ายมาปฏิบัติงานที่ รพ.รามาธิบดี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยเป็นแพทย์รุ่นบุกเบิกของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และร่วมก่อตั้งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และเป็นผู้นำในการศึกษาพัฒนาการเตรียม Blood Components เพื่อการรักษาเป็นคนแรกของประเทศไทยและเอเชียนอกจากนี้ ยังเป็นผู้ค้นพบโรคเลือดออกง่ายในเด็กทารกจากการขาดวิตามินเค และได้สนับสนุนให้มีการให้วิตามินเคในเด็กแรกคลอด เพื่อป้องกันโรคนี้จนเป็นมาตรฐานทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ตั้งชื่อโรคเลือดออกง่าย จากการทำหน้าที่ผิดปกติของเกล็ดเลือดจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศคือ Acquired Platelet Dysfunction with  Eosinophilia (APDE) อีกด้วย
          นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ยับยั้งการนำเข้า factor VIII เข้มข้น ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกได้ใช้รักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลียกันแพร่หลาย เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครทราบว่า มีเชื้อเอดส์ปนเปื้อนอยู่ในยาดังกล่าว จึงทำให้ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในประเทศนั้นๆ ต่างติดเชื้อ HIV ขณะที่ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในไทยรอดพ้นจากการติดเชื้อ HIV  อีกทั้งคุณหมอและคณะได้ทำการวิจัยและเสนอให้รัฐบาลทำการตรวจ HIV-Ag (P24)ในโลหิตที่รับบริจาคก่อนประเทศใดๆในโลก เป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือด และส่วนประกอบของเลือด มิต้องติดเชื้อและเป็นโรค AIDS เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลียให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น อ.ภัทรพร ได้ดำเนินการผลักดันจนเกิด "โครงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงฮีโมฟีเลีย" ของ สปสช.ขึ้น และเนื่องจาก Factor concentrate จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศและราคาแพง อ.ภัทรพร ได้หารือกับ สปสช. และสภากาชาดไทยเพื่อให้ริเริ่ม "โครงการผลิตแฟกเตอร์เข้มข้นจากโลหิตที่ได้รับบริจาคภายในประเทศ" โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ก่อตั้ง "ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสมา" จึงเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล
          ตลอดระยะเวลา 86 ปี ในการดำเนินชีวิต ศ.เกียรติคุณ พญ.ภัทรพร ได้สร้างองค์ความรู้และสร้างผลงานที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นมากมายอาจารย์จึงไม่ใช่เป็นเพียง "แพทย์ผู้เป็นแบบอย่าง" และ "ครูผู้ประเสริฐ" ในการสั่งสอนอบรมวิชาความรู้ทางการแพทย์เท่านั้น แต่อาจารย์ยังเป็น "นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่" ผู้มีความมุ่งมั่นอุทิศกาย...ใจ...เพื่อวิจัยคิดค้นวิธีการในการผลิต blood product ต่างๆไว้ใช้รักษาผู้ป่วยเองในประเทศไทย.

 pageview  1204515    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved