Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 01/03/2555 ]
'แก้หนี้'ไม่ถึงไหน??'ช่วยเกษตรกร'ถึงเวลา'ต้องปฏิวัติ'

เกษตรกรไทย" ได้รับการเปรียบเปรยในเชิงชื่นชม ทั้งในการเขียน การพูด หรือแม้แต่การร้องเป็นเพลง ว่าเป็น "กระดูกสันหลังของชาติ" เป็นทั้งประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยที่เศรษฐกิจไทย รายได้เข้าประเทศไทย จะดีได้ก็อยู่ที่สินค้าภาคการเกษตรเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญด้วย ซึ่งบรรดานักธุรกิจที่ทำธุรกิจอิงอยู่กับภาคการเกษตรส่วนใหญ่ต่างก็ร่ำรวยอู้ฟู่ ทว่า.แปลกแต่จริง.
          เกษตรกรไทยส่วนใหญ่กลับยากจน-มีหนี้สิน!!
          มีปัญหาเดือดร้อนจนต้องประท้วงเป็นประจำ!!
          โฟกัสกันที่ประเด็น "หนี้สินของเกษตรกร" กับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐเพื่อแก้ปัญหา กับการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินให้กลับมามีชีวิตความเป็นอยู่แบบที่พอจะ 'ลืมตาอ้าปาก" ได้บ้าง แม้ว่าในประเทศไทยจะถึงขั้นมีการตรากฎหมาย มี พ.ร.บ. หรือพระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 โดย พ.ร.บ.นี้ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2542 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือวันที่ 19 พ.ค. 2542 ซึ่งก็น่าจะเกื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรอันเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เวลาเลยผ่านมากว่าสิบปีจนถึงปัจจุบันนี้ ดูเหมือนกฎหมายนี้ก็ยังถูกใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ??
          ปัญหาเกษตรกรเดือดร้อนมีหนี้สินยังรุนแรงอยู่
          จนถึงวันนี้ปัญหาใหญ่นี้ยังแก้ไขได้ไม่ถึงไหน??
          ทั้งนี้ จากสภาพเกษตรกรไทยดังที่ทราบกันดีทั่วไป กับการจะ 'แก้ปัญหาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น" หนึ่งในผู้ที่อาสาออกหน้าเป็นตัวแทนเป็นปากเสียงให้เพื่อนเกษตรกร ที่ชื่อ นิพนธ์ บุตรไฉยา ระบุว่า. มีทางเดียวคือ 'ต้องปฏิวัติโครงสร้างการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งหมด" ซึ่งก็เป็นการระบุที่น่าคิด??
          นิพนธ์ บุตรไฉยา เป็นหนึ่งในผู้มีผลงานด้านมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เป็นกรรมการของสมาคมสิ่งแวดล้อมเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นเภสัชกรแพทย์ไทยศึกษาวิจัยพันธุ์พืชสมุนไพร ขณะเดียวกันเขาก็เป็น "เกษตรกร" เต็มตัว ซึ่งกับการให้ความสนใจเรื่องหนี้สินเกษตรกรนั้น เขาเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมาแล้ว 2 สมัย และล่าสุดก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนเกษตรกรในกองทุนฯในส่วนของภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อจะร่วมผลักดันการแก้ปัญหาได้เต็มที่ยิ่งขึ้น
          ด้วยความเชื่อที่ว่า. 'เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ผู้ประสบความเดือดร้อน ผู้ประสบปัญหาที่แท้จริง ผู้ทุกข์ยากตัวจริงเสียงจริง จึงจะเข้าใจปัญหาชีวิตผู้ทุกข์ยากเช่นเดียวกับตัวเอง"
          จากว่าที่ศิลปินเขียนรูป หลังจบจากโรงเรียนช่างศิลป์ แทนที่นิพนธ์จะเดินหน้าล่าฝันเป็นศิลปินตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิม เขากลับตัดสินใจเดินตามรอยเท้าพ่อโดยรับช่วงต่อการเป็นชาวสวน ปลูกเงาะ ปลูกทุเรียน ที่บ้านหนองคล้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี แต่ด้วยกระแสธุรกิจการเกษตรอันเชี่ยวกราก ประกอบกับพิษภาวะเศรษฐกิจภาพรวม ส่งผลให้เขาต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกับเพื่อนเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก คือขาดทุนอย่างหนักจากการประกอบอาชีพเกษตร ถูกฟ้องร้องยึดที่ทำกิน โดย ไม่มีใคร หน่วยงานใด ใส่ใจจริงใจช่วยแก้ปัญหาให้
          แต่เพราะไม่อยากทิ้งสิ่งที่พ่อแก่แม่เฒ่าเคยทำมา เขาจึงพยายามดิ้นรนสู้ต่อไป โดยผันตัวเองศึกษาด้านสมุนไพร ค้นคว้านำรางจืดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ชาล้างพิษ ซึ่งทำอยู่นับสิบ ๆ ปี ทำมาตั้งแต่ก่อนกระแสอนุรักษ์รื้อฟื้นสมุนไพรไทยจะเกิดขึ้น โดยที่ ไม่ได้รับความสนใจไยดีอย่างจริงใจจากหน่วยงานใด แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้นี่เอง กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประกาศยอมรับผลิตภัณฑ์ของเขาว่ามีสรรพคุณทางยา
          อย่างไรก็ตาม กับสภาพเกษตรกรที่มีปัญหาในการทำอาชีพเกษตร การรู้ถึงปัญหาของผู้ประกอบอาชีพเกษตรด้วยกัน ก็ยังคงอยู่มาตลอด จนนำมาซึ่งความต้องการจะมีส่วนผลักดันเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งนิพนธ์ได้ตระเวนในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคกลาง เพื่อจะรับรู้ปัญหาเพิ่มเติม และขอรับการสนับสนุนในการเป็นผู้แทนเกษตรกร ซึ่งต่างจากตำแหน่งทางการเมืองที่มีภาพของเงิน อำนาจ สิทธิพิเศษ เข้ามาเกี่ยว โดยผู้แทนเกษตรกรนั้นไม่มีสิ่งเหล่านี้เหมือนนักการเมือง แต่มีภารกิจใหญ่คือ.แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
          'กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีหนทางช่วยเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน  มีหนทางช่วยเกษตรกรที่มีหนี้สินได้ ถ้าผู้ที่เข้าไปทำงานมีความจริงใจพอ" .เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ นิพนธ์ บุตรไฉยา
          ทั้งนี้ "หัวใจ" ของการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรไทยที่ในปัจจุบันการเป็นหนี้หลายแสนหรือเป็นล้านแทบจะเป็นเรื่องปกติ เอาเข้าจริงอาจมิใช่โครงการ กลไก หรือหน่วยงาน-กองทุนอะไรทั้งนั้น แต่อาจจะอยู่ที่ 'ความจริงใจที่จะช่วย ของผู้ที่มีหน้าที่ต้องช่วย" อย่างที่เกษตรกรรายนี้ระบุ
          แล้ว 'หัวใจสำคัญ" ดวงนี้ 'จะหาได้อย่างไร???"
          บางทีอาจต้อง 'ปฏิวัติโครงสร้างการแก้ปัญหา"
          เกษตรกรไทยจึงจะหาเจอ-ลืมตาอ้าปากได้!!!!!.

 pageview  1206086    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved