Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/03/2555 ]
ขยายสิทธิบัตรทอง ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ริเริ่มการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกมาตั้งแต่ปี 2544 เริ่มต้นปลูกถ่ายตับให้แก่เด็กหญิงอายุ 21 เดือนซึ่งเป็นตับแข็งระยะสุดท้าย อันมีสาเหตุจากโรคท่อน้ำดีตีบตัน ได้รับการบริจาคตับจากผู้เป็นแม่ นับเวลาขณะนี้ 10 ปีแล้ว มีผู้เข้ารับการปลูกตับทั้งสิ้น 50 ราย
          นายแพทย์สุทัศน์ ศรีพจนารถ ประธานโครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกกล่าวว่า การปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกนั้นใช้วิธีการตัดบางส่วนตับของพ่อแม่แล้วปลูกถ่ายในลูก ส่วนตับของลูกที่ทำหน้าที่ไม่ได้จะถูกตัดออก ซึ่งตับของพ่อแม่ที่ตัดออกไปจะงอกในเวลาต่อไป ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลรามาธิบดีที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกแล้ว ยังมีโรงพยาบาลเครือข่ายได้แก่รพ.จุฬาฯ ศิริราช ราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น
          "ระยะเวลา10 ปีที่ทำมาหมอมีประสบการณ์มากขึ้นจากเดิมที่ผ่าตัดได้ปีละ8-9 ราย ในปีที่ผ่านมาสามารถผ่าตัดให้ผู้ป่วยได้ 12 รายต่อปีถือว่ามากที่สุดตั้งแต่เริ่มผ่าตัดมา ในปีนี้ตั้งเป้าจะปลูกถ่ายตับให้ได้ 24 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดมี 200-300 รายต่อปี ในจำนวนนี้เด็กบางคนต้องเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินค่าผ่าตัด ซึ่งเฉลี่ยรายละ 700,000-1,000,000 บาท รวมทั้งพ่อแม่บางคนไม่รับรู้ข้อมูลว่ามีวิทยาการทางการแพทย์ปลูกถ่ายตับได้ ทำให้เสียโอกาสในการรักษา"
          ทั้งนี้การรับการผ่าตัดสามารถทำได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี ยิ่งร่างกายเด็กพร้อมในการผ่าตัด จะทำให้เด็กลดโอกาสจากการเสียชีวิตด้วยโรคท่อน้ำดีตีบตัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการตับแข็งในเวลาต่อมา อาการที่สังเกตได้เด็กจะมีอาการตาเหลืองเรื้อรัง ท้องมาน หรือมีน้ำในท้อง เลี้ยงไม่โต อาเจียนเป็นเลือด คันตามตัว ซึมสับสน ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบ่อย ๆ
          นพ.กิตติ ปรมัตผล รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและกองทุนพัฒนาระบบแพทย์แผนไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้ขยายสิทธิการเข้าถึงการรักษาครอบคลุมในผู้ป่วยเด็กผ่าตัดตับจากพ่อแม่สู่ลูกด้วยโดยเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา พบว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยเด็กเป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันตั้งแต่เกิด 60-80 คนต่อปี ความพร้อมมีแค่ 30-40 รายต่อปี สปสช.ได้จัดเด็กกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ในกลุ่มอายุ 1-18 ปี ได้รับสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ รวมถึงค่าผ่าตัดของพ่อและแม่ที่เป็นผู้ให้ตับกับลูก และครอบคลุมถึงยาค่ากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัดและค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ในระยะยาว ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้วจะสามารถมีชีวิตรอด 80-90 เปอร์เซ็นต์ มีคุณภาพชีวิตเหมือนกับเด็กปกติคนอื่น ๆ
          "สปสช. นำเอางบประมาณของรัฐมาใช้ ดังนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชนต้องใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด เราจำเป็นต้องศึกษาถึงความคุ้มค่าต่อการรักษา เมื่อเทียบกับการนำเงินภาษีไปช่วยเหลือผู้ใหญ่ เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แม้ว่าทางรัฐต้องลงทุนมากกว่าโรคอื่น ๆ ก็ตาม" นพ.กิตติ กล่าวและว่า จากการศึกษาค่าใช้จ่ายคาดว่าหลังจากนี้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณปีละ 200 ล้านบาทเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมงบประมาณที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้กับบุตรหลานข้าราชการที่ได้สิทธิเบิกได้อยู่แล้ว
          ระวิวรรณ และสัญชัย บุญจันทร์ พ่อแม่ของ ด.ญ.บุญญาภา วัยขวบเศษผู้ได้รับการปลูกถ่ายจากพ่อเมื่อปีที่แล้ว โดยผู้เป็นแม่เล่าว่า รู้ว่าลูกป่วยเป็นท่อน้ำดีตีบตันตอนอายุ 4 เดือน มีอาการตัวเหลือง อุจจาระเป็นก้อนมัน จนมาทราบข่าวจากรายการทูไนท์โชว์ ว่าที่โรงพยาบาลรามาฯมีโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากแม่สู่ลูก จึงนัดโทรฯหาคุณหมอที่ไปออกรายการทูไนท์โชว์ คุณหมอจึงนัดมาตรวจ และบอกถึงค่าผ่าตัด ซึ่งแพงมาก 7แสนในกรณีที่ไม่เกิดโรคแทรกซ้อน เราไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาเงินมากขนาดนั้นได้เพราะพ่อทำงานบริษัทแม่เป็นแม่บ้าน แล้วช่วงนั้นสิทธิสปสช.ยังไม่ประกาศออกมาช่วงก่อนน้ำท่วม จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถวายฎีกาไปยังสำนักพระราชวัง จนได้รับจดหมายตอบกลับมา ดีใจมากน้ำตาไหลเลย
          "หลังผ่าตัดน้องอาการดีขึ้น ผิวที่คล้ำก็ใสขึ้น ร่าเริงขึ้นจากแต่ก่อนที่เป็นเด็กซึมไม่แข็งแรง แต่หลังจากเปลี่ยนตับแล้วคุณหมอแนะนำในเรื่องอาหารและงดกินผักผลไม้ที่เป็นของสด เพราะกลัวเรื่องสารตกค้าง แต่น้องก็ยังต้องกินยากดภูมิอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่าย7,000-9,000 บาทแล้วแต่ยา ซึ่งยังเบิกได้จากที่ลูกเราเป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบางส่วนจากสปสช.ที่เบิกได้"
          ด.ญ.ปวริศา วราธนากร ในวัยขวบเศษเป็นคนไข้อีกรายที่ใช้สิทธิของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปลูกถ่ายตับไปเมื่อต้นปี โดยได้รับการปลูกถ่ายตับจากแม่ ปุณญารัตน์ พงสุพันธ์ อภิวุฒิ คุณพ่อเล่าว่า ก่อนที่จะรู้ว่าลูกเป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันต้องพาลูกไปรักษาในหลายโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลในมหาสารคาม โรงพยาบาลขอนแก่น จนมารู้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คุณหมอเขียนใบส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาฯจนได้รับการเปลี่ยนตับ ทำให้อาการตัวเหลือง ท้องโต หายไป น้ำหนักตัวของลูกเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ใช้สิทธิของบัตรทอง รวมทั้งค่ายากดภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ซึ่งมียาบางตัวเราต้องจ่ายเงินเองบ้าง เฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,600 บาท
          "สิทธิบัตรทองช่วยเหลือเราอย่างมาก แต่เราก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางจากมหาสารคามมากรุงเทพฯเพื่อมาพบหมอ ต้องขับรถมาเอง เพราะลูกเราไม่แข็งแรงจะนั่งรถโดยสารเกรงว่าจะติดเชื้อ"
          การขยายสิทธิบัตรทองในเด็กที่ป่วยด้วยโรคท่อน้ำดีตีบตันนอกจากช่วยต่อลมหายใจให้กับหนูน้อยผู้โชคร้ายแล้ว ยังทำให้งานการแพทย์เรื่องการปลูกถ่ายตับมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต.
 

 pageview  1205091    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved