Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 20/02/2556 ]
นวัตกรรมกำจัดยุงไม่พึ่งสารเคมี

           ประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งโรคไข้มาลาเรีย และโรคเท้าช้าง ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก "ยุง" โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ที่จะมีการแพร่ระบาดของยุงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการระบายออก ส่งผลให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
          ในระยะหลังโรคไข้เลือดออกไม่ได้แพร่ระบาดเฉพาะในช่วงฤดูฝน แต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาวเพิ่มมากขึ้น จำนวนยุงที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องหาวิธีในการกำจัดยุง โดยวิธีที่ได้รับความนิยม คือ การเลือกใช้สารเคมีที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปมาฉีดพ่น ซึ่งผู้ใช้อาจลืมตระหนักไปว่า สารเคมีดังกล่าวที่ตกค้างอยู่ในอากาศอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง
          โรงเรียนโชคมณีศึกษา อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน และต้องการหาวิธีในการป้องกันโรคไข้เลือดออกไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ทางโรงเรียนจึงมีแนวความคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพในการกำจัดยุง ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาประหยัด ที่ทุกครัวเรือนสามารถประดิษฐ์ขึ้นได้เองโดยการใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สิ่งของเหลือใช้นำมาเป็นอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ พร้อมกันนี้ทางโรงเรียนได้นำทักษะวิชาชีพของกลุ่มสตรีในชุมชนอำเภอบ้านฝาง เข้ามาบูรณาการเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการจัดการศึกษา จนเกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้ชื่อ "เครื่องดักยุง ทรี อิน วัน" (The mosquito trap 3 in 1) ขึ้น
          อ.กรวิชญ์ ขอบทอง  อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์  โรงเรียนโชคมณีศึกษา จ.ขอนแก่น อธิบายว่า ยุงถือเป็นพาหะในการนำโรคไข้เลือดออกมาสู่คนในชุมชนรวมถึงนักเรียน  "เครื่องดักยุง ทรี อิน วัน" จึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยแรกเริ่มได้ทำการศึกษาพบว่า ยุงมีทิศทางการบินในแนวตั้งฉากกับพื้นโลกและบินเข้าสู่ที่แคบ หลังจากทราบถึงวิสัยการบินของยุงแล้ว ก็หาอุปกรณ์ภายในโรงเรียนมาประยุกต์ใช้ นำปี๊บบรรจุน้ำมันที่ผ่านการใช้งานจากร้านอาหารในโรงเรียนมาล้างทำความสะอาดเจาะรูทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยเจาะทั้งสี่ด้านของปี๊บเพื่อให้เป็นช่องระบายอากาศ และยุงสามารถบินเข้าไปได้ จากนั้นตัดฟิวเจอร์บอร์ดและประกอบเป็นช่องทางเข้าของยุง พร้อมทั้งเย็บผ้าตาข่ายกับยางยืดให้มีลักษณะเป็นถุงตาข่ายเพื่อใช้ในการดักยุง และขั้นตอนสุดท้ายทำแหล่งปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อย่างง่าย จากการใช้ยีสต์และน้ำตาลทรายแดง รวมทั้งมีการใช้แสงไฟมาหลอกล่อให้ยุงที่ไม่ได้รับกลิ่นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ บินเข้ามาในปี๊บ เป็นการกำจัดยุงโดยไม่ต้องอาศัยสารเคมี และไม่ทำให้ผู้ใช้เสียสุขภาพ
          นับได้ว่าการเรียนรู้เฉพาะทฤษฎีในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่พวกเขาจะต้องทำการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสามารถและทักษะที่ได้รับจากห้องเรียน เพื่อให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์และนำไปต่อยอดในการประดิษฐ์นวัตกรรมต่าง ๆ และเพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจว่าอย่างน้อยพวกเขาก็สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้.
 

 pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved