Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 08/02/2555 ]
เผยคนไทยนักดื่มอันดับ3ของเอเชีย
          ชูไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "นโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก" เป็นครั้งแรก  13-15 ก.พ. นี้  ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระบุสุดยิ่งใหญ่มีนักวิชาการทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 800 คน ด้าน "องค์การอนามัยโลก" ชมเปาะไทยคุมแอลกอฮอล์เจ๋ง เป็นตัวอย่างที่ดีให้ประเทศอื่นนำไปประยุกต์ใช้ ขณะที่ ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ชี้คนไทยดื่มเหล้ากลั่นติด 1 ใน 10 ของโลก จัดอยู่ลำดับ 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้
          เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ  รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ. ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม "นโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก" ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกของโลก ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า เหล้า เป็น 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวการร้ายที่ทำลายสุขภาพ นอกจาก บุหรี่ อาหารขยะ และการไม่ออกกำลังกาย โดยได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศสมาชิกทั่วโลกพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละกว่า 2.5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 4.8 คน  เฉพาะในกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีรายงานเสียชีวิตปีละ 3.2 แสนคน ยังไม่รวมถึงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร การทำร้ายร่างกาย การป่วยผลกระทบต่อครอบครัวและเด็กอีกจำนวนมาก ล่าสุดที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี 2553 มีมติรับรอง ยุทธศาสตร์โลกเพื่อจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็น กรอบให้ประเทศสมาชิก 192 ประเทศ เพื่อลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต ลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มชนิดนี้
          นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย มีนโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ มียุทธศาสตร์ควบคุมและลดความรุนแรงปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และมีกฎหมายคือ พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2551 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในโลก โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบในกลุ่มประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุรา 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรวัยนี้ที่มีทั้งหมด 53.9 ล้านคน ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 5 เท่าตัว ผู้ชายเริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 19.4 ปี ผู้หญิงอายุ 24.6 ปี และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2552 พบผู้ชายมีแนวโน้มอัตราการดื่มลดลงจากร้อยละ 54.5 เป็นร้อยละ 53.4 ส่วนผู้หญิงอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.8 เป็นร้อยละ 10.9
          นายวิทยา กล่าวต่อว่า  ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ มาตรการด้านสังคม โดยขอความร่วมมือจากผู้นำทางศาสนา5 ศาสนา ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของศาสนา และร่วมกับ สสส. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความรู้ ความตระ หนักในโทษ พิษ ภัย ตลอดจนผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการด้านกฎหมาย มีร่างกฎหมายลูกเพิ่มอีก 8 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ อาทิ ห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน สถานกีฬา, ห้ามขายรอบสถานศึกษา, ห้ามขายเหล้าปั่น, ห้ามดื่มบนยานพาหนะหรือบริเวณหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, การควบคุมบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า, การขอรับการสนับสนุนเพื่อบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล
          ด้าน ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ผู้นำลงมาจัดการกับปัญหาแอล กอฮอล์ คาดหวังว่าการประชุมที่จะมีขึ้นจะสร้างความตระหนักต่อปัญหาแอลกอฮอล์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และการจัดการเรื่องแอลกอฮอล์ รวมทั้งสร้างความร่วมมือในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนในการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์
          ขณะที่ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า คนไทยดื่มเหล้ากลั่นติด 1 ใน 10 ของโลก โดยอยู่ประมาณอันดับที่ 8-9 แต่การบริโภคแอลกอ ฮอล์โดยรวมอยู่อันดับ 40-50 ของโลก แต่อยู่แถวหน้าของเอเชีย คืออยู่อันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ทั้งนี้พบว่าคนที่ติดเหล้าจะใช้เงินบำบัดรักษาประมาณ 3.5 หมื่นบาทต่อคน
 pageview  1204844    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved