Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 15/02/2555 ]
รู้เท่าทันกันไว้ดีกว่าแก้'ปัญหาหัวใจ'ถึงตาย..ถ้า'ล้มเหลว'

         บรรยากาศวันวาเลนไทน์ ช่วงเวลาที่มีคนพร่ำพูดถึงเรื่อง 'หัวใจ" กันมาก กำลังจะผ่านพ้นไป แต่กับเรื่องของหัวใจ

          จริง ๆ ที่มิใช่เพียงคำแทนความหมายเรื่องรัก เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญโดยตลอด ไม่จำเพาะเจาะจงวันใดวันหนึ่ง ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของหัวใจในมุมของการเกิด 'โรคภัย"
          'ปัญหาหัวใจ" ในมุมของโรคภัยนั้นประมาทมิได้เพราะผลร้ายที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะรุนแรงถึงชีวิต!!"มีอัตราการเกิด 1-5 ราย ต่อประชากร 1,000 ราย ต่อปี โดยประมาณ 60% ของผู้ป่วย จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังได้รับการวินิจฉัย และมีการพยากรณ์โรคนี้ว่าจะมีความรุนแรงกว่าโรคมะเร็ง รวมถึงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังจัดอันดับว่าโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาคนไข้โรคนี้ในโรงพยาบาลก็ถือเป็นภาระหนักสำหรับระบบการดูแลสุขภาพแห่งชาติ" .นี่เป็นการระบุของ ผศ.นพ.คริสโตเฟอร์ เดอ ฟิลิเป้ แผนกโรคหัวใจ มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ในการมาประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรคหัวใจ (Asian Pacific Congress of Heart Failure) ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยการกล่าวนี้บ่งชี้เฉพาะถึงภาวะ 'หัวใจล้มเหลว"ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ผศ.นพ.คริสโตเฟอร์ บอกว่า.คือการที่ประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ โครงสร้างหัวใจผิดปกติ, เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ทำให้มีอาการอ่อนล้า, อ่อนเพลีย, หายใจถี่, ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง, มีอาการไอตลอดเวลา, ไม่มีสมาธิ โดยภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก ที่ผ่านมามีผู้คนมากมายเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน
          กลุ่มผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่.6-10% ของผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี, ผู้ที่สูบบุหรี่, ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ที่เป็นเบาหวาน, ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย, ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง, ผู้ที่ความดันโลหิตสูง, ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก/อ้วน, ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และผู้ที่เป็นโรคไต
          ทั้งนี้ นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก จ.นนทบุรี ก็ระบุในงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรคหัวใจ-ภาวะหัวใจล้มเหลว โดยบอกว่า.โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยในปี 2553 คนไทยป่วยด้วยโรคภาวะหัวใจล้มเหลว เฉลี่ย 231.07 ต่อประชากร 1 แสนราย หรือจากประชากรโดยรวมมีผู้ป่วยโรคภาวะหัวใจล้มเหลว147,197 ราย แบ่งเป็นผู้ชาย 63,020 ราย ผู้หญิง 84,177 ราย หรือคิดเป็น 29% ของการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆขณะที่ในปี 2542 ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยประมาณ 10% ซึ่งถือว่าโรคนี้มีแนวโน้มการเกิดเฉลี่ยสูงขึ้นมาก
          อีกทั้งข้อมูลขององค์การอนามัยโลกก็ระบุว่า อัตราการเสียชีวิต หรือการต้องรักษาในโรงพยาบาล ของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในประเทศไทย ในปี 2547 มีถึง 27,376 ราย มากกว่าประเทศโปแลนด์ สเปน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เม็กซิโก และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนี่ก็สะท้อนว่าภาวะหัวใจล้มเหลวกำลังคุกคามคนไทยอย่างหนัก
          นพ.เกรียงไกร ระบุอีกว่า.จากการศึกษาการลงทะเบียนผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในประเทศไทย ช่วงเดือน มี.ค. 2549-พ.ย. 2550 ในศูนย์หัวใจ 18 แห่ง จากจำนวนผู้ป่วย 1,612 ราย สรุปได้ว่า ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในไทยมีอายุประมาณ 65 ปี (ในยุโรปประมาณ 67 ปี) โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุหลัก คนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 70% มีอาการที่รุนแรง ต้องรับการรักษาโดยมีค่าใช้จ่ายสูง และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5.5%
          สำหรับการวินิจฉัยโรคนี้ ปัจจุบันทำได้ด้วย 3 สิ่งคือ สารบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ, สารบ่งชี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ สารบ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ หรือ เอ็นที โปรบีเอ็นบี ซึ่งอย่างหลังนี่คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาจากหัวใจ ถ้าตรวจพบในปริมาณมากแสดงว่ากล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนัก หรืออาจมีภาวะหัวใจโต แสดงว่า 'หัวใจมีปัญหา" โดยการตรวจสารบ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจมีประโยชน์ในการดูแลรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งการคัดกรอง วินิจฉัย พยากรณ์โรค ซึ่งควรตรวจทุกปี โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงควรตรวจหลังวัยหมดประจำเดือน หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้
          "การตรวจพบ วินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มแรก และรักษาได้ทันการ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้หลาย ๆ ด้าน อาทิ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดได้ 40% ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดอัตราการแย่ลงของผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก".นพ.เกรียงไกร ระบุ พร้อมทิ้งท้ายว่า.แนวโน้มอุบัติการณ์ภาวะหัวใจล้มเหลวมีสูงขึ้น เป็นภัยใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ซึ่งการให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ และดูแลอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดี จะเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
          เรื่องหัวใจก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ คือ.ต้องรู้ให้เท่าทันกันไว้ดีกว่าแก้.จะได้ไม่แย่เพราะมีปัญหาหัวใจ!!!!!.
 pageview  1205874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved