Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 08/08/2555 ]
เงาสะท้อนภัยกระต่าย 'พิษเชื้อร้าย!!' ใหม่หรือเก่าก็ต้องกลัว

  ".ไม่ได้มีเฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดก็สามารถพบเชื้อได้เช่นกัน." .นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับกรณี 'เชื้อพิษสุนัขบ้า" กรณีที่มีข่าว 'กระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า.กัดคน!!" ซึ่งทาง "เดลินิวส์" ได้นำเสนอข่าวนี้ในเชิงลึกอย่างเกาะติด โดยที่กรณีนี้มีการกลัวกันว่าเชื้อพิษสุนัขบ้าในกระต่ายอาจจะเป็น "เชื้อใหม่กลายพันธุ์??" ที่รุนแรงกว่าเชื้อโดยทั่วไป
          แต่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อใหม่หรือเชื้อเก่า.มันก็'ร้าย"
          และกรณีนี้.ก็ถือว่าเป็นอีก'เงาสะท้อนที่น่าคิด"
          ทั้งนี้ ว่ากันถึง 'เชื้อร้าย-เชื้อโรค" ที่ติดต่อได้ในภาพรวม ทั้งที่แพร่ระบาดสู่คนได้จากสัตว์และพาหะอื่น ๆ กับการเป็น 'เชื้อเก่าเชื้อใหม่"  ก็มีคำเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้อยู่คือ 'โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ-โรคติดเชื้ออุบัติใหม่" ซึ่งวงการแพทย์ทั่วโลก-ผู้คนทั่วโลก ต่างก็กลัว "เชื้อใหม่-อุบัติใหม่" กันมาก อย่างกรณีที่กลัวกันว่าเชื้อพิษสุนัขบ้าในกระต่ายจะเป็นเชื้อใหม่กลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเชื้อพิษสุนัขบ้าเดิม ๆ นี่ก็ยืนยันถึงประเด็นนี้ได้อย่างดี
          หากจะโฟกัสกันที่ "เชื้ออุบัติใหม่-โรคอุบัติใหม่" ตามที่ทางองค์การอนามัยโลกได้เคยนิยามไว้ ก็จะหมายถึง โรคติดต่อ-โรคติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้แล้วด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ภายหลังเกิดการ "ดื้อยา" ซึ่งโดยสรุปก็มีจัดกลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่ไว้ 5 กลุ่มคือ.
          1. โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้สมองอักเสบนิปาห์ไวรัส 2. โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ โรคที่ไปจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง หรือข้ามทวีป เช่น โรคเวสต์ไนล์ไวรัส  3. โรคติดต่ออุบัติซ้ำ โรคที่เคยระบาดในอดีตและสงบไปนานแล้ว แต่กลับมาระบาดอีก เช่น ไข้ชิคุนกุนยา 4. โรคที่เชื้อดื้อยา เช่น วัณโรคดื้อยา  5. โรคจากอาวุธชีวภาพ การใช้เชื้อโรคเป็นอาวุธ เช่น แอนแทรกซ์ ไข้ทรพิษ
          ประเทศไทยก็สุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับเชื้อโรคอุบัติใหม่
          สุ่มเสี่ยงโดยครอบคลุม 3 ปัจจัยที่ไม่อาจละเลย
          แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ในไทย มี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ. 1. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่พบในประเทศ อาทิ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนก ลีเจียนเนลโลซิส มือ-เท้า-ปาก 2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น ไข้สมองอักเสบนิปาห์ ไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ สมองฝ่อแบบใหม่ที่เกิดจากโรคสมองฝ่อในวัวหรือโรควัวบ้า ไข้เลือดออกอีโบลา ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก ฝีดาษลิง แอนแทรกซ์ไข้ทรพิษ กาฬโรค 3. โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่พบในประเทศ เช่น กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะเข้ามากับแรงงานต่างด้าว ตาแดงจากเชื้อไวรัส
          เชื้ออุบัติใหม่-โรคอุบัติใหม่ ส่วนใหญ่จะมีธรรมชาติที่ซับซ้อน "ยากต่อการจัดการ" หากขาดระบบและขาดเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะ "ก่อเกิดความสูญเสียรุนแรง"ต่อชีวิตและสุขภาพประชาชน จะสร้างภาระมากมาย สร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคม และเศรษฐกิจ อย่างมหาศาล
          เพื่อป้องกันความสูญเสียรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ต้องมีความพร้อมใน 6 มาตรการคือ 1. การพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ 2. การจัดทำมาตรฐานแนวทางป้องกันและควบคุม 3. การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการควบคุมป้องกัน 4. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข  5. การสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วทุกระดับทั่วประเทศ และ 6. การถ่ายทอดความรู้และข้อมูลข่าวสารโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
          มาตรการป้องกันนี้ก็มีส่วนที่มุ่งเน้นที่ประชาชน
          ประชาชนเป็นได้ทั้งต้นเหตุ-เหยื่อ-กลไกป้องกัน
          ทั้งนี้ การเกิดเชื้อโรคใหม่ โรคติดต่อจากสัตว์ที่ไม่เคยพบมาก่อน มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรคเอง, การใช้ยาไม่ถูกต้องจนเกิดการดื้อยา, การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและพฤติกรรมมนุษย์, การพัฒนาอุตสาหกรรม, การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของสัตว์นำโรค และสิ่งแวดล้อม
          ธรรมชาติของโรคติดต่ออุบัติใหม่คือ มักไม่สามารถคาดการณ์ขนาดปัญหาและช่วงเวลาเกิดโรคได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเตรียมความพร้อมและประสิทธิภาพในการรับมือ .นี่คือประเด็นสำคัญที่น่ากลัว!! อย่างไรก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าต้องกลัวเฉพาะเชื้อโรคชนิดใหม่ เชื้อใหม่กลายพันธุ์ โรคอุบัติใหม่ กับ เชื้อเดิม ๆ โรคเก่า ๆ ก็จำเป็นต้องกลัว!! ซึ่งในที่นี้ก็ รวมถึงกรณี'พิษสุนัขบ้า"ที่ก็'รุนแรงถึงตายได้" ไม่ว่าจะโดยพาหะที่เป็นสุนัข แมว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใด ๆ รวมถึงโดยพาหะที่เป็น'กระต่าย"ที่น่ารัก!!
          กระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า.นี่คืออีกเงาสะท้อน
          สะท้อนเตือนคนไทย.ว่าจะต้องระวังเชื้อร้าย.
          จะเชื้อใหม่-เชื้อเก่า-พาหะอะไร.ก็ต้องกลัว!!!.
 

 pageview  1205841    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved